วันนี้ (18 มกราคม) นักวิทยาศาสตร์เผย เหตุภูเขาไฟใต้ทะเลในตองกาปะทุ อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกนานหลายปี หลังจากศึกษาและคาดการณ์จากภาพถ่ายทางดาวเทียมและฐานข้อมูลในอดีต
พบว่า ‘ฝนกรด’ จะเป็นหนึ่งในปัญหาที่ส่งผลต่อระบบนิเวศ โดยนับตั้งแต่ที่เกิดการปะทุขึ้น ภูเขาไฟมีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ เมื่อก๊าซสองตัวนี้ทำปฏิกิริยากับน้ำและออกซิเจนในชั้นบรรยากาศ จะเกิดเป็นฝนกรด ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายให้แก่ผลผลิตทางการเกษตร อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิจิและประเทศอื่นๆ โดยรอบอีกด้วย
นอกจากนี้สิ่งมีชีวิตในทะเลรวมถึงแนวปะการังก็ยังได้รับผลกระทบจากแรงระเบิดดังกล่าว ประกอบกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภาวะปะการังฟอกขาว ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกที่พึ่งพารายได้จากภาคส่วนนี้เป็นหลัก โดยเฉพาะในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด
ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาจะเป็นไปในลักษณะกระทบกันเป็นห่วงโซ่ จากแรงระเบิดที่ทำให้แนวปะการังถูกทำลาย ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการจัดการกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและพายุลูกใหญ่ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ปราการทางธรรมชาติที่ถูกทำลายส่งผลให้เกิดภาวะการกัดเซาะชายฝั่งในอัตราเร่งที่เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งในขณะนี้ จากปัญหาวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศก็มีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลของตองกาเพิ่มสูงขึ้นราวปีละ 6 มิลลิเมตร ซึ่งคิดเป็น 2 เท่าของระดับค่าเฉลี่ยโลก
ล่าสุด นานาชาติเร่งส่งความช่วยเหลือแก่ตองกา หลังประเทศถูกตัดขาดด้านการสื่อสารจากโลกภายนอก ทีมช่วยเหลือทำงานได้ล่าช้าลง เนื่องจากเขม่าควันที่ฟุ้งกระจายเป็นวงกว้าง
ภาพ: New Zealand Defence Force via Getty Images
อ้างอิง: