×

พลิกปูม ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ มรสุมเศรษฐกิจลูกใหญ่ที่เกิดจากเป้าหมายอันใหญ่ยิ่ง เราลืมบทเรียนนี้ไปหรือยัง

02.07.2021
  • LOADING...
วิกฤตต้มยำกุ้ง

HIGHLIGHTS

8 Mins Read
  • วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 นับเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับภาคเศรษฐกิจไทย ซึ่งถือเป็นมหาวิกฤตที่ร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์ จุดเริ่มต้นเริ่มจากเป้าหมายที่ไทยต้องการก้าวเป็นศูนย์กลางทางการเงินในภูมิภาค แต่ขาดความพร้อมและความรอบคอบในการปฏิบัติการ
  • ไทยเปิดเสรีการเงินโดยที่ยังตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่เดิม และใช้นโยบายดอกเบี้ยดูแลเศรษฐกิจ ขัดหลักการ Impossible Trinity ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนไม่มีเสถียรภาพ กลายเป็นเป้าถูกโจมตี
  • การเปิดเสรีการเงินท่ามกลางดอกเบี้ยต่างประเทศที่ถูกกว่าในประเทศ ทั้งยังเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น จึงเกิดการกู้ยืมเงินต่างประเทศจำนวนมากมาลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์ ฟองสบู่จึงค่อยๆ ก่อตัวขึ้น
  • ภาพเศรษฐกิจที่โตแบบลวงตาทำให้สถาบันการเงินหย่อนยานการให้สินเชื่อ หลายโครงการไม่มีศักยภาพ แต่ได้รับเงินกู้ อีกทั้งยังมีปัญหาการทุจริตภายใน ทำให้สถาบันการเงินเริ่มเกิดปัญหา
  • เมื่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจถูกเปิดเผยออกมา เงินทุนที่เคยไหลเข้าเริ่มไหลออก ในขณะที่ไทยยังใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ จึงตกเป็นเป้าโจมตีค่าเงิน จนสุดท้ายต้องประกาศลอยตัวเงินบาท ทำให้ภาคธุรกิจที่กู้หนี้ต่างประเทศมีภาระหนี้เพิ่มแบบเท่าตัว นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรง

กริ๊งงง!!

 

เสียงโทรศัพท์ตามบ้านของบรรดา ‘นายแบงก์’ ที่เป็นผู้บริหารระดับสูงดังขึ้นในเวลาราวตี 5 ของวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 แน่นอนว่าคงไม่ใช่เรื่องปกตินักที่จะมีใครโทรเข้ามา ‘ปลุก’ ให้ตื่นจากภวังค์ในช่วงเวลาเช้ามืดแบบนี้ 

 

ต้นสายที่โทรมาคือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย ยิ่งตอกย้ำว่า เรื่องที่จะหารือต้องไม่ใช่เรื่องธรรมดาทั่วไปอย่างแน่นอน 

 

ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ผู้บริหารระดับสูงของสถาบันการเงินต่างมารวมกันที่ ‘เรือนแพ’ อาคารไม้ที่ยื่นออกไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านในสุดของแบงก์ชาติ 

 

เช้าวันนั้นผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทยบอกกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า หลังจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบ ‘ลอยตัวค่าเงิน’ 

 

ทันทีที่ผู้บริหารแบงก์ชาติพูดจบ ทุกคนต่างงงงวยว่าคืออะไร ซึ่งความจริงแล้วก่อนที่จะถูกเรียกมาประชุมอย่างเร่งด่วน หลายคนคาดการณ์ไว้บ้างแล้วว่า ไม่ช้าก็เร็ว ธปท. จะต้องประกาศ ‘ลดค่าเงินบาท’ อย่างแน่นอน แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเป็นการลอยตัวค่าเงินแทน

 

คำประกาศของ ธปท. ในวันนั้นไม่ต่างจากการ ‘ชักธงขาว’ ยอมแพ้ในศึกโจมตีค่าเงินบาทที่กินเวลาต่อเนื่องมานานหลายเดือน และยังนับเป็นวันที่ประเทศไทย ‘เริ่มต้น’ เข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ซึ่งผู้คนทั่วโลกต่างรู้จักกันดีในนาม ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เป็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงสุดในภูมิภาคเอเชียที่มีจุดเริ่มต้นจากประเทศไทย โดยน้ำมือของมนุษย์ 

 

THE STANDARD WEALTH พาย้อนไปดู ‘จุดเริ่มต้น’ ของมหาวิกฤตในครั้งนั้น ซึ่งถือเป็น ‘บทเรียน’ สำคัญของประเทศไทยมาจนถึงทุกวันนี้ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ระบุไว้ว่า วิกฤตคราวนั้นนับเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต หรือเป็นวิกฤตที่เกิดจากทั้งปัญหาด้านอัตราแลกเปลี่ยนและปัญหาระบบสถาบันการเงินในเวลาเดียวกัน สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงราว 49% ของ GDP

 

‘เป้าหมายอันยิ่งใหญ่’ จุดเริ่มต้นการสะสมความเสี่ยงสู่วิกฤต

จุดเริ่มต้นของวิกฤตครั้งนั้นเกิดจาก ‘เป้าหมายอันยิ่งใหญ่’ ซึ่งเราต้องการขึ้นเป็น ‘ศูนย์กลางทางการเงิน’ ในภูมิภาคอินโดจีน แต่ขาดความพร้อมและความรอบคอบในเชิงปฏิบัติ โดยในวันที่ 21 พฤษภาคม 2533 เป็นวันแรกที่ประเทศไทย ‘เปิดเสรีการเงิน’ ด้วยการผ่อนคลายการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน โดยยอมรับพันธะข้อ 8 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเท่ากับเป็นการประกาศว่า ไทยจะเปิดให้มีการชำระค่าสินค้าบริการระหว่างประเทศได้อย่างเสรี 

 

หลังจากนั้นอีก 3 ปี คือในเดือนมีนาคม 2536 ธปท. ได้อนุญาตให้สถาบันการเงินดำเนินกิจการวิเทศธนกิจ (BIBF) ซึ่งเป็นบริการที่เปิดให้สถาบันการเงินสามารถรับฝากเงินหรือกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ แล้วนำมาปล่อยสินเชื่อในประเทศไทยได้ 

 

ช่วงเวลานั้นเศรษฐกิจไทยยังเติบโตดีมาก ทำให้ดอกเบี้ยในประเทศสูง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยต่างประเทศค่อนข้างต่ำ จึงเกิดการเคลื่อนย้ายของเงินทุนล็อตใหญ่ ทั้งจากผู้ประกอบการที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ และนักลงทุนต่างชาติที่นำเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย

 

ไม่มีใครรู้ว่าเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีในช่วงเวลานั้นเป็นเพียงตัวเลขการเติบโตที่ฉาบฉวย แต่ไส้ในเต็มไปด้วยความเปราะบาง เพราะเมื่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทำได้ง่ายดายขึ้นจากการกู้ยืมในต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าในประเทศค่อนข้างมาก จึงทำให้ตัวเลขการกู้ยืมเงินพุ่งสูงขึ้น โดยในปี 2538 เป็นปีที่เงินทุนไหลเข้าประเทศไทยสูงถึง 2.08 หมื่นล้านดอลลาร์ หากเทียบแบบให้เห็นภาพ คือสูงกว่าตอนปี 2535 ถึง 2 เท่าตัว

 

ในขณะเดียวกัน ฝั่งสถาบันการเงินซึ่งทำหน้าที่ในการปล่อยสินเชื่อ ก็ไม่ได้ดูแลความเข้มงวดของการให้สินเชื่ออย่างเพียงพอ เงินที่กู้ยืมไปส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ในโครงการลงทุนที่ไม่มีศักยภาพ ไม่สามารถสร้างรีเทิร์นให้กลับมาได้ในอนาคต 

 

โดยเงินส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้กับการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ จนทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เข้าสู่ภาวะ ‘ฟองสบู่’ อย่างเต็มตัว ที่สำคัญการกู้ยืมเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังเป็นการใช้แหล่งเงินกู้ ‘ระยะสั้น’ แต่นำมาลงทุนในโครงการ ‘ระยะยาว’ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิกฤตในคราวนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

การกู้ยืมเงินจากต่างประเทศในระยะสั้นโดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงที่จะตามมาในระยะข้างหน้า ทำให้ในปี 2537 หนี้ระยะสั้นของไทยที่อยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศเริ่มสูงกว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และที่สำคัญผู้ที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะช่วงเวลานั้นประเทศไทยยังใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบ ‘คงที่’ นักลงทุนส่วนใหญ่จึงมองข้ามค่าเสี่ยงของค่าเงินไปโดยปริยาย

 

วิกฤตต้มยำกุ้ง

 

Impossible Trinity หลักนโยบายการเงินที่ไทยมองข้ามความเสี่ยง

ความจริงแล้วการเปิดเสรีการเงิน โดยปล่อยให้เงินไหลเข้าออกประเทศได้อย่างเสรี ควรต้องยอมให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ไม่ควรใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ เพราะขัดกับหลักการ Impossible Trinity หรือ ทฤษฎีสามเหลี่ยมที่เป็นไปไม่ได้ 

 

อธิบายง่ายๆ คือ นโยบายการเงินไม่สามารถที่จะทำ ‘3 ด้าน’ พร้อมกันได้ ประกอบด้วย

 

  1. การเปิดเสรีการเงิน โดยปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าออกประเทศได้อย่างเสรี

 

  1. การใช้ดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อหรือความร้อนแรงของเศรษฐกิจในประเทศ

 

  1. การใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (ยึดติดกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ)

 

สาเหตุที่ไม่สามารถทำเช่นที่ว่านี้ได้ เพราะเมื่อนักลงทุนเห็นว่าดอกเบี้ยในประเทศไทยสูงและรู้ว่า ธปท. จะตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้ที่เดิม โดยไม่ปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหว ‘แข็งค่า’ หรือ ‘อ่อนค่า’ ตามกลไกตลาด นักลงทุนก็จะกู้เงินต่างประเทศที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าเข้ามา ‘กินส่วนต่าง’ ดอกเบี้ยที่สูงกว่าในประเทศ เท่ากับว่าจะได้กำไรจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยโดยที่ไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเลย

 

ต้องบอกว่าประเทศไทยในช่วงเวลานั้นทำนโยบายการเงินทั้ง 3 ด้านพร้อมกัน ซึ่งก็มีคำเตือนจาก IMF ขอให้ระมัดระวังในเรื่องนี้ แต่ดูเหมือนว่าผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ในช่วงเวลานั้นไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ ทำให้ไทยตกเป็นเป้าการ ‘โจมตีค่าเงิน’ ในเวลาต่อมา

 

สาเหตุที่ทางการไทยละเลยที่จะดูแลในเรื่องนี้ ส่วนหนึ่งเพราะกังวลว่าหากปล่อยให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากขึ้น จะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ เพราะเวลานั้นมีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศจำนวนมาก ไม่เป็นผลดีต่อภาคการส่งออกไทยซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลานั้น

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้นต้องบอกว่า ธปท. พอจะเล็งเห็นถึงปัญหาที่อาจตามมาในระยะข้างหน้าอยู่บ้าง จึงได้ออกมาตรการดูแลกิจการ BIBF ด้วยการกำหนดวงเงินขั้นต่ำสำหรับการกู้ยืมจากกิจการ BIBF ในอัตราสูงสุด 5 แสนดอลลาร์ต่อครั้ง และคงไว้ซึ่งภาระภาษีหัก ณ ที่จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศที่กู้โดยคนไทย 

 

แต่กฎเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถหยุดยั้งความนิยมที่มีต่อบริการของ BIBF ได้ ทำให้ ธปท. ต้องนำมาตรการอื่นๆ มาใช้ควบคู่กัน แต่ก็ยังเป็นมาตรการที่อ่อนและการแอ็กชันถือว่าช้าเกินไปเมื่อเทียบกับปัญหาต่างๆ ที่กำลังก่อตัวขึ้น

 

กระทั่งในปี 2539 ปัญหาการลงทุนที่ไร้ประสิทธิภาพเริ่มแสดงตัวให้เห็นเด่นชัดขึ้น เพียงแต่ยังไม่เป็นที่ประจักษ์มากนัก เพราะถูกกลบด้วยตัวเลขการเติบโตของ GDP ซึ่งอย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า การเติบโตของ GDP เป็นการเติบโตที่ฉาบฉวย เกิดจากการนำเงินกู้เข้ามาลงทุนในโครงการที่มีประสิทธิภาพต่ำ ‘ฟองสบู่’ จึงค่อยๆ ก่อตัวใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ 

 

วิกฤตต้มยำกุ้ง

อาคารสาธร ยูนีค ตึกระฟ้าสูง 185 เมตร ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตสาธร ถือเป็นหนึ่งในร่องรอยความเสียหายที่เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540 ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นตึกร้างตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางกรุง จนกลายเป็นอนุสรณ์สถานของวิกฤตเศรษฐกิจในคราวนั้น

รูปโดย: ฐานิส สุดโต

 

วิกฤตเริ่มฉายภาพให้เห็น เมื่อตอผุดหลังน้ำลด

ในที่สุดเศรษฐกิจที่เติบโตแบบเปราะบางเริ่มเดินมาถึงจุดสิ้นสุด ปัญหาที่เคยถูกซ่อนไว้ค่อยๆ แสดงออกมาให้เห็น โดยเฉพาะปัญหาในระบบสถาบันการเงิน ซึ่งเวลานั้น ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ หรือ BBC เป็นหนึ่งในปัญหาที่กวนใจ ธปท. อย่างมาก 

 

ด้วยความที่ผู้บริหาร BBC ปล่อยสินเชื่อหละหลวม ทั้งยังพบการทุจริตกันภายใน ทำให้ ธปท. ต้องเข้าไปดูแลด้วยการสั่งเพิ่มทุนหลายครั้ง ขณะเดียวกันยังสั่งให้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) ใส่เงินเข้าไปช่วยเหลือ เพื่อเติมสภาพคล่องให้กับ BBC โดยหวังจะให้ธนาคารพาณิชย์แห่งนี้อยู่รอดต่อไปได้

 

แม้ว่า ธปท. จะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อ BBC ไม่ได้ดีขึ้นเลย ผู้คนเริ่มพากันมาไถ่ถอนเงิน เกิดภาวะ Bank Run ส่งผลให้ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 กระทรวงการคลังต้องสั่งควบคุมการดำเนินงานของ BBC 

 

ความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินที่ลดลง เริ่มลามไปยังสถาบันการเงินอื่นๆ โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มบริษัทเงินทุน (บง.) ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2539 กองทุนฟื้นฟูฯ เริ่มเข้าไปช่วย บง. เป็นครั้งแรก ได้แก่ บง.ไทยฟูจิ ซึ่งก็เป็นบริษัทในเครือของ BBC และหลังจากนั้น ก็มี บง. อื่นๆ อีกจำนวนมากมาขอรับการช่วยเหลือจากกองทุนฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 


ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเวลานั้นจากที่เคยเฟื่องฟูสุดขีดเริ่มตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ความเปราะบางทางเศรษฐกิจค่อยๆ แสดงออกมาให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น ทำให้ ‘มูดี้ส์’ บริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้งชื่อดังของโลกต้องปรับลดเรตติ้งที่มีต่อตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยลงในวันที่ 3 กันยายน 2539 นำไปสู่ความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่างชาติที่ลดลงตามไปด้วย เงินทุนต่างชาติในเวลานั้นเริ่มไหลออกอย่างชัดเจน

 

สงครามค่าเงินครั้งประวัติศาสตร์

เมื่อความเปราะบางทางเศรษฐกิจแสดงตัวให้เห็นเด่นชัดมากขึ้น เงินทุนที่เคยไหลเข้าจำนวนมาก ก็เริ่มไหลออกมากขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับช่วงเวลานั้น ไทยมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงมาก แต่ค่าเงินบาทยังย่ำอยู่กับที่เพราะ ธปท. ตรึงไว้ไม่ให้ขยับไปไหน ทั้งที่เงินบาทในเวลานั้นควรต้องอ่อนค่าลง ประเด็นนี้จึงทำให้ไทยตกเป็น ‘เป้าหมาย’ ของบรรดาเฮดจ์ฟันด์ที่จ้องหาโอกาสการทำกำไรจากส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยน 

 

ในเวลานั้นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ยักษ์ใหญ่ที่บริหารโดย ‘จอร์จ โซรอส’ เริ่มมองเห็นโอกาสว่า หากเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ หนีไม่พ้นที่ไทยจะต้อง ‘ลดค่าเงิน’ ดังนั้นโซรอสจึงเริ่มเข้ามา ‘ชอร์ตเงินบาท’ เพราะเชื่อว่า ไม่ช้าก็เร็ว ธปท. ต้องปรับค่าเงินให้อ่อนลง ซึ่งจะสร้างกำไรให้กับเฮดจ์ฟันด์ของเขาได้อย่างมหาศาล การโจมตีค่าเงินบาทระลอกแรกจึงเริ่มขึ้น 

 

(* ชอร์ตเงินบาท คือการกู้ยืมเงินบาทออกมาขายในตลาด เพื่อหวังว่าในอนาคตหากเงินบาทอ่อนค่าลง ผู้ขายชอร์ตเงินบาทจะใช้เงินดอลลาร์ที่น้อยลงในการซื้อเงินบาทกลับไปคืนผู้ให้กู้ ซึ่งก็จะทำให้ได้ส่วนต่างจากค่าเงินไปโดยปริยาย)

 

ศึกค่าเงินบาทในปลายปี 2539 ยังเป็นเพียงศึกย่อมๆ ไม่รุนแรงนัก โดยสัญญาณของการโจมตีที่ชัดเจนเริ่มมีให้เห็นตั้งแต่เดือนมกราคม 2540 และหลังจากนั้นเป็นต้นมา ไทยก็ถูกโจมตีค่าเงินเป็นระยะ 

 

โดยศึกที่หนักหน่วงรุนแรงสุดเกิดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2540 ศึกครั้งนั้นมองผิวเผินเหมือน ธปท. เป็นฝ่ายชนะ เพราะทำให้บรรดาเฮดจ์ฟันด์ล่าถอยออกไป แต่ท้ายที่สุด ธปท. ก็ไม่สามารถปกป้องค่าเงินเอาไว้ได้อยู่ดี เพราะถึงแม้จะชนะศึก แต่กระสุนที่ต้องใช้ในการทำสงครามครั้งถัดไปแทบไม่เหลือเลย โดยกระสุนที่ว่านี้คือ ‘เงินดอลลาร์’ ที่อยู่ในรูปเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่ง ณ เวลานั้นเรียกว่าแทบจะหมดหน้าตักแล้ว

 

ธปท. ยกธงขาวประกาศลอยตัวค่าเงินบาท

หลังจบศึกใหญ่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2540 สถานการณ์ค่าเงินบาทเหมือนจะดูดีขึ้น เพราะเหล่าเฮดจ์ฟันด์เริ่มล่าถอยไป แต่แล้วสถานการณ์ทุกอย่างก็เริ่มกลับมาแย่ลงอีกครั้งในช่วงกลางเดือนมิถุนายน โดยเฉพาะหลังจากที่ ‘อำนวย วีรวรรณ’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนดำดิ่งลง 

 

ช่วงเวลานั้นเงินที่ไหลออกไม่ได้เกิดจากการโจมตีค่าเงิน แต่เกิดจากการที่คนในประเทศขาดความเชื่อมั่นที่มีต่อเงินบาท พากันไปแลกเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ ธปท. ซึ่งแทบไม่เหลือกระสุนในการดูแลค่าเงินจำใจต้องยอมปรับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนใหม่ 

 

ด้วยเหตุนี้ทำให้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 หรือวันนี้เมื่อ 24 ปีที่แล้ว ธปท. ต้องตัดสินใจ ‘ลอยตัวค่าเงิน’ แทนที่จะเป็นการ ‘ลดค่าเงิน’ เพราะต่อให้ใช้วิธีการลดค่าเงิน ธปท. ก็ไม่เหลือกระสุนเพียงพอที่จะปกป้องให้ค่าเงินบาทอยู่ในกรอบที่กำหนดเอาไว้ได้ เนื่องจากในวันนั้น ธปท. เหลือเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงแค่ 2.8 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น

 

หลังการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในครั้งนั้น ทำให้เงินบาททยอยอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จากระดับ 25 บาทต่อดอลลาร์ ไปทำสถิติอ่อนค่าสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 56.50 บาทต่อดอลลาร์ ณ วันที่ 12 มกราคม 2541

 

แน่นอนว่าการอ่อนค่าของเงินบาทแบบ ‘เท่าตัว’ ย่อมทำให้ผู้ที่กู้ยืมเงินจากต่างประเทศมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นแบบเท่าตัวตามไปด้วย จุดนี้เองที่ทำให้หลายกิจการในเวลานั้นต้องล้มละลาย ปิดตัวลง แม้จะมีพื้นฐานทางธุรกิจที่ดีก็ตาม แต่เพราะไม่มีใครคาดคิดว่า ‘อัตราแลกเปลี่ยน’ จะกลายเป็นความเสี่ยงใหญ่ในเวลาต่อมา จึงไม่มีใครทำประกันความเสี่ยงเอาไว้

 

วิกฤตต้มยำกุ้ง

ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย แถลงข่าวการเข้าโปรแกรมการกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)​ รวมกว่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2540

อ้างอิง: หอจดหมายเหตุธนาคารแห่งประเทศไทย

 

หลังการลอยตัวค่าเงินบาท ได้นำไปสู่การปิดกิจการของสถาบันการเงินราว 56 แห่ง และทำให้ประเทศไทยต้องเข้าโปรแกรมกู้ยืมเงินจาก IMF กว่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ 

 

บทเรียนในคราวนั้นฝังใจคน ธปท. จนถึงทุกวันนี้ จะเห็นว่าช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมา ธปท. ให้ความสำคัญกับคำว่า ‘เสถียรภาพระบบการเงิน’ ค่อนข้างมาก สิ่งหนึ่งที่สะท้อนได้อย่างดีคือการกำกับดูแลสถาบันการเงินที่เข้มงวด ดูได้จากระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ที่สูงเกินเกณฑ์ขั้นต่ำอย่างมาก 

 

รวมไปถึงระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งในวันนี้ไทยถือเป็น 1 ใน 12 ประเทศที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงสุดของโลก สูงจนกระทั่งนักเศรษฐศาสตร์หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าเป็นระดับที่สูงเกินความจำเป็นหรือไม่ แต่ ธปท. ยังคงสะสมเงินทุนฯ ส่วนนี้เพื่อไว้ดูแลเสถียรภาพของระบบอัตราแลกเปลี่ยน 

 

หลังวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมา แม้เสถียรภาพระบบการเงินของไทยจะดีขึ้นต่อเนื่อง แต่เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายไม่ควรประมาท เพราะหลายครั้ง ‘วิกฤต’ มักมาในรูปแบบที่เราไม่ทันคาดคิด เช่น วิกฤตที่เกิดจากโรคระบาดที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพระบบการเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อเป็นเกราะป้องกันภัยจากวิกฤตที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะมาในรูปแบบใด

 

อ้างอิง:

  • รายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) 
  • หนังสือ 72 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • หนังสือ การเดินทางแห่งชีวิต 30 ปี ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • หนังสือ 15 ปี วิกฤตเศรษฐกิจ 2540: ประเทศไทยอยู่ตรงไหน
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X