×

3 เหรียญทองของ พงศกร แปยอ และแชมป์ 3 สมัยติดของทีมบอคเซีย บทสรุปทัพพาราลิมปิกไทยในกรุงโตเกียว

05.09.2021
  • LOADING...
พงศกร แปยอ

วันนี้ (5 กันยายน) คือวันสุดท้ายของการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2021 โดยครั้งนี้มีทัพนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 74 คน จาก 14 ชนิดกีฬา ซึ่งนับว่าเป็นพาราลิมปิกเกมส์ที่มีนักกีฬาทีมชาติไทยผ่านเข้ารอบมามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน 

 

ตลอดการแข่งขัน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทัพนักกีฬาทีมชาติไทยสร้างความประทับใจได้ทั้งจากผลงานในสนาม และแรงบันดาลใจในการต่อสู้อย่างสุดความสามารถในสนามแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ 

 

THE STANDARD จึงได้รวบรวมที่สุดของทัพนักกีฬาทีมชาติไทยที่ลงแข่งขันในครั้งนี้ มาให้คุณผู้อ่านทุกท่าน

พงศกร แปยอ นักกีฬาไทยคนแรกที่คว้าเหรียญทอง 3 เหรียญในพาราลิมปิกเกมส์หนเดียว 

 

เริ่มต้นจากผลงานของนักกีฬาที่ร้อนแรงที่สุดในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้คงหนีไม่พ้น พงศกร แปยอ เจ้าของ 3 เหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ จากวีลแชร์เรซซิง คลาส T53 ทั้ง 3 ประเภท และสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักกีฬาคนไทยคนแรกที่คว้า 3 เหรียญทองจากพาราลิมปิกเกมส์หนเดียว 

 

พงศกร หรือกร วัย 24 ปี เป็นคนจังหวัดขอนแก่น เคยคว้า 2 เหรียญทองมาแล้วที่รีโอเดจาเนโร บราซิลเมื่อปี 2016 จากกรีฑาวีลแชร์เรซซิง 400 เมตรชาย คลาส T53 และ 800 เมตรชาย คลาส T53 บวกกับผลงานแชมป์โลก 400 เมตรชาย คลาส T53 เมื่อปี 2019 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 

 

มาในการแข่งขันครั้งนี้ ไม่เพียงแค่การเข้าเส้นชัยเป็นลำดับที่ 1 ถึง 3 ครั้งในรอบชิงชนะเลิศ แต่ 2 ใน 3 ครั้งนั้นเป็นการทำลายสถิติถึง 4 ครั้ง 

 

ประกอบไปด้วยการทำลายสถิติโลก และสถิติพาราลิมปิกในการแข่งขันประเภท 400 เมตรชาย T53 รอบชิงชนะเลิศ ด้วยเวลา 46.61 วินาที 

 

ทำลายสถิติพาราลิมปิกในการแข่งขัน 100 เมตรชาย T53 ด้วยเวลา 14.20 วินาที 

 

และทำลายสถิติพาราลิมปิกในการแข่งขัน 800 เมตรชาย T53 ด้วยเวลา 1 นา 36.07 วินาที 

 

เรียกได้ว่าจากการแข่งขันครั้งนี้ ทำให้พงศกรเป็นมนุษย์ที่เร็วที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ไปแล้ว 

อาจารย์สุพรต เพ็งพุ่ม เบื้องหลังความสำเร็จของทีมวีลแชร์เรซซิง จากรุ่นสู่รุ่น 

 

หลังจากวินาทีประวัติศาสตร์ที่ พงศกร แปยอ เข้าเส้นชัยและคว้าเหรียญทองที่ 3 ในประเภท 800 เมตรชาย T53 มีภาพจากผู้สื่อข่าวและทีมงานช่างภาพที่กรุงโตเกียวปรากฏขึ้น คือ ภาพของ พงศกร แปยอ ถ่ายรูปคู่กับ อาจารย์สุพรต เพ็งพุ่ม ผู้ฝึกสอนทีมวีลแชร์เรซซิง และเบื้องหลังความสำเร็จของทัพวีลแชร์ไทยตลอดมา 

 

หลังจบการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียวครั้งนี้ นักกีฬาไทยที่ยังคงตำแหน่งที่คว้าเหรียญรางวัลมากที่สุด ก็ยังคงเป็น ประวัติ วะโฮรัมย์ ที่ได้รับการยกย่องในฐานะสุดยอดนักกีฬาวีลแชร์เรซซิง ที่ไม่เพียงแต่เก่งที่สุดของประเทศไทย แต่ยังเป็นหนึ่งในนักกีฬาเก่งที่สุดของโลกด้วย 

 

ด้วยผลงานที่ผ่านการแข่งขันรายการนี้มาตั้งแต่ปี 2000 ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จนถึงการแข่งขันปีนี้ก็นับเป็นปี ที่ 21 ในพาราลิมปิกเกมส์ และเป็นการลงแข่งขันเป็นสมัยที่ 6 พร้อมกับเหรียญรางวัลทั้งหมด 7 เหรียญทอง 8 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้เขาคว้าเหรียญเงินได้ในประเภท 1,500 เมตรชาย รุ่น T53/54

 

ในขณะที่อันดับที่ 2 ของนักกีฬาที่คว้าเหรียญรางวัลมากที่สุดก็เป็น พงศกร แปยอ ที่ 5 เหรียญทอง และ 2 เหรียญเงิน อันดับที่ 3 เป็น ศุภชัย โกยทรัพย์ นักกีฬาวีลแชร์เรซซิงที่ลงแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ระหว่างปี 2000-2012 และคว้าไปทั้งหมด 4 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญทองแดง 

 

จุดเชื่อมโยงสำคัญที่สุดของความสำเร็จจากรุ่นสู่รุ่น แน่นอนคือแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของนักกีฬารุ่นพี่ในสนามที่ส่งต่อไปยังรุ่นน้อง แต่ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการเชื่อมโยงคือ อาจารย์สุพรต เพ็งพุ่ม โค้ชที่ปลุกปั้นจนประสบความสำเร็จของนักกีฬาวีลแชร์ทีมชาติไทยมาตั้งแต่ประวัติ วะโฮรัมย์ จนถึงพงศกร แปยอ ในวันนี้ 

 

ประวัติเคยให้สัมภาษณ์ถึงอาจารย์สุพรตไว้ว่า ถ้าไม่มีอาจารย์สุพรตในวันนั้น ก็จะไม่มีประวัติในวันนี้ 

 

เช่นเดียวกับพงศกรที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า ทุกครั้งในการฝึกซ้อม หากเขาอยู่ในลำดับสุดท้ายระหว่างการลงสนาม อาจารย์สุพรตก็จะเรียกชื่อเขาเพื่อเป็นการกระตุ้น และผลักดันตัวเขาให้ดีกว่าเดิมเสมอ 

 

จนสุดท้ายเขาได้ฝึกฝนและพัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ สู่ความสำเร็จในพาราลิมปิกเกมส์ปี 2016 ด้วยผลงาน 2 เหรียญทอง ต่อด้วยการเป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่คว้า 3 เหรียญทองที่โตเกียวครั้งนี้ 

 

ด้านอาจารย์สุพรตเคยกล่าวถึงการเข้ามาร่วมงานกับวีลแชร์เรซซิงทีมชาติไทยในช่วงแรกไว้ว่า “กว่าจะลงตัวต้องใช้เวลา กว่าจะเชื่อมกันได้ เพราะเราคนใหม่ เราไม่ได้มาทางด้านนี้โดยตรง ไม่ได้เก่ง เราต้องค่อยๆ มาคุยกับเขา มาชี้แนะเขา 

 

“เราต้องสร้างตัวของเราเองขึ้นมาก่อนให้ได้ ให้คนรู้จัก ใช้เวลาค่อนข้างนาน 

 

“เมื่อก่อนนี้เราไม่เคยชนะเขาเลย แต่เราก็ซ้อมๆๆ จนเราชนะเขา แต่เมื่อเราชนะเขาแล้ว เราก็ต้องรักษาชัยชนะของเราเอาไว้ให้ได้ ให้ได้นานที่สุด ให้ได้มากที่สุด” 

 

ซึ่งทางประวัติได้ยกย่องให้อาจารย์สุพรตเป็นโค้ช ครู และพ่อ ในการสร้างความสำเร็จของเขาขึ้นมา  

 

“ครูสุพรตนะครับสำหรับผม ผมกับอาจารย์เปรียบเหมือนพ่อลูกกัน ที่การดูแลตั้งแต่ผมเข้าวงการ ครูจะดูแลนักกีฬาทุกคน แกจะรักเหมือนลูก 

 

“อาจารย์แกจะเหมือนปิดทองหลังพระครับ เวลามีคนถามว่ามาจากใคร ทำไมถึงประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ ต้องเป็นนักกีฬาคอยบอกมากกว่า หลักๆ เขาไม่รู้กันเลยว่าอาจารย์ผู้ฝึกสอนคือใครที่ทำให้เราประสบความาสำเร็จได้ขนาดนี้

 

“ขอบคุณอาจารย์ที่สร้างผมกับพวกผมหลายๆ คนสู่ความสำเร็จ จากที่ผมมาจากไม่มีอะไร มีทุกวันนี้ได้ อยู่สุขสบายขึ้นไปถึงครอบครัว ก็เพราะอาจารย์ที่มอบแนวทาง เหมือนแกสร้างเราให้ประสบความสำเร็จได้

 

“ถ้าไม่มีอาจารย์สุพรต วันนี้ก็ไม่มีประวัติ วะโฮรัมย์ ครับ” 

 

สำหรับผลงานของทัพกรีฑาไทยในพาราลิมปิก 2020 ทั้งประเภทลู่และลาน คว้าเหรียญรางวัลรวมกันทั้งหมด 9 เหรียญ แบ่งเป็น 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน และ 3 เหรียญทองแดง 

บอคเซียไทยกับการรักษาแชมป์พาราลิมปิกเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน 

 

1 วันก่อนพิธีปิดการแข่งขัน ทัพนักกีฬาไทยคว้าเหรียญทองพาราลิมปิกไทยได้เหรียญทองที่ 5 เพิ่มจากการแข่งขันบอคเซียประเภททีม BC1-2 จากทีมที่ประกอบไปด้วย วิษณุ ฮวดประดิษฐ์, สุบิน ทิพย์มะณี, วัชรพล วงษา และ วรวุฒิ แสงอำภา 

 

ชัยชนะเมื่อวันที่ 4 กันยายน นับเป็นการพลิกสถานการณ์ระหว่างเกมกลับมาเอาชนะได้อย่างน่าประทับใจ เมื่อ 2 เอนด์แรกพวกเขาตามหลังทีมจีน คู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศอยู่ 0-2 คะแนน แต่ในหลังจากนั้น 4 เอนด์ที่เหลือ พวกเขาพลิกสถานการณ์ด้วยการเก็บ 8 คะแนนรวด เอาชนะไปได้ 8-2 

 

ชัยชนะในเกมนี้ส่งผลให้ธงชาติไทยขึ้นสู่ยอดเสาตรงกลางในฐานะเจ้าของเหรียญทอง บอคเซียประเภททีม BC1-2 เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน นับตั้งแต่พาราลิมปิกเกมส์ที่ลอนดอนในปี 2012 ที่รีโอเดจาเนโร บราซิลปี 2016 และที่กรุงโตเกียวปี 2021 เท่ากับว่าตลอดช่วงเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา พวกเขาคือทีมเบอร์ 1 ของโลกในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 

 

นอกจากนี้ ทีมบอคเซียไทยยังได้อีก 2 เหรียญเงินจาก ​​พรโชค ลาภเย็น ในประเภท บุคคล BC 2 และ วัชรพล วงษา ประเภทบุคคล BC 4 

แบดมินตันไทยกับเหรียญพาราลิมปิกเกมส์ครั้งแรกจาก สุจิรัตน์ ปุกคำ 

 

การแข่งขันแบดมินตัน 1 ใน 2 ชนิดกีฬาใหม่ที่ได้รับการบรรจุเข้าสู่การแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์เป็นครั้งแรกที่กรุงโตเกียว 

 

โดยในช่วงโค้งสุดท้ายของทีมชาติไทยระหว่างวันที่ 4 และ 5 กันยายน ไทยมีลุ้นทั้งเหรียญทองและเหรียญทองแดงจากหลายประเภท 

 

แต่ไฮไลต์สำคัญคงหนีไม่พ้นการต่อสู้กับอย่างสูสีระหว่าง สุจิรัตน์ ปุกคำ มือวางอันดับ 2 กับ ซารินะ ซาโตมิ มือ 1 ของรายการจากญี่ปุ่น ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศแบดมินตัน ประเภทหญิงเดี่ยว คลาส WH1 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 

 

โดยสุจิรัตน์เป็นฝ่ายชนะไปก่อนในเกมแรก แต่โมเมนตัมของเกมเปลี่ยนในเกมที่ 2 เมื่อนักกีฬาเจ้าภาพฮึดสู้ขึ้นมาจนเก็บชัยชนะได้ในเกมนี้ และสุจิรัตน์เริ่มมีอาการบาดเจ็บที่แขนขวาจนต้องฉีดสเปรย์ ประคองอาการในเกมสุดท้าย 

 

ซึ่งแม้ว่าสุจิรัตน์ทำคะแนนไล่ขึ้นมาได้ถึง 8 แต้มรวดในช่วงท้ายเกม แต่ก็ต้านทานความแข็งแกร่งของซาโตมิไม่ไหว พ่ายไป 1-2 เกม 

 

แต่ชัยชนะในเกมนี้ได้นำพาเธอไปสู่เหรียญเงิน ซึ่งนับเป็นจุดสูงสุดของทัพนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทยในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ 

 

นอกจากนี้ ในวันนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการแข่งขัน สุจิรัตน์ ปุกคำ ยังได้จับคู่กับ อำนวย เวชวิฐาน เอาชนะ ซินเธีย มาเตซ์ และ การิน ซูเตอร์ เอราธ คู่มือ 6 ของโลกจากสวิตเซอร์แลนด์ไป 2 เกมรวด และคว้าเหรียญทองแดงในแบดมินตันประเภทหญิงคู่ WH1 มาครอง 

ขวัญสุดา พวงกิจจา เหรียญทองแดงพาราลิมปิกเกมส์เทควันโดคนแรกของไทย  

 

เทควันโดคืออีกหนึ่งชนิดกีฬาใหม่ในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ มี ขวัญสุดา พวงกิจจา เป็นตัวแทนทัพนักกีฬาทีมชาติไทยเดินทางไปแข่งขัน 

 

นอกเหนือจากดีกรีเจ้าของแชมป์โลกปี 2019 ที่เธอพกไปแข่งขันในครั้งนี้ เรื่องราวของเธอยังได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับใครหลายๆ คน 

 

เมื่อจุดเริ่มต้นเธอเติบโตขึ้นมาภายใต้ครอบครัวที่ยากจนในอำเภอหนึ่งของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในครอบครัวที่คุณแม่ประสบอุบัติเหตุทำให้เป็นอัมพาตและไม่สามารถทำงานได้ ส่วนคุณพ่อทำงานอย่างหนักเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว 

 

ชีวิตในวัยเด็กของเธอยังประสบอุบัติเหตุจากไฟไหม้จากเหตุการณ์น้ำมันตะเกียงหกใส่ที่นอน ส่งผลให้เธอต้องสูญเสียข้อมือซ้ายไป ก่อนจะพบเจอกับข่าวร้ายเมื่อพี่สาวของเธอถูกฆาตกรรม 

 

แต่ด้วยจิตใจที่ไม่ยอมแพ้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขวัญสุดาก็พบเจอกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมื่อเธอพบกับ ยองกุนชิน โค้ชเทควันโดคนพิการทีมชาติไทย ที่เคยร่วมทีมกับโค้ช ชเวยองซอก 

 

ในวัย 19 ปี ขวัญสุดาเริ่มต้นฝึกซ้อมเทควันโด จน 1 ปีต่อมาเธอก็ก้าวขึ้นไปถึงแชมป์โลกเทควันโดคนพิการคนแรกของไทยเมื่อปี 2019 ก่อนที่จะสร้างประวัติศาสตร์ต่อเนื่องด้วยการมาลงแข่งขันเทควันโดพาราลิมปิกเกมส์เป็นคนแรก และยังคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้สำเร็จในเทควันโด คลาส K44 น้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม ที่กรุงโตเกียว 

ความสำเร็จของพาราลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียว 

 

สำหรับการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ไทยยังได้เหรียญทองแดงอีก 3 เหรียญจาก รุ่งโรจน์ ไทยนิยม นักกีฬาเทเบิลเทนนิสจากประเภทชายเดี่ยว คลาส 6 และ อนุรักษ์ ลาววงษ์, ยุทธจักร กลิ่นบานชื่น, ถิรายุ เชื้อวงษ์ ที่คว้าเหรียญทองแดงในประเภท เทเบิลเทนนิสทีมชายไทย คลาส 3 และเหรียญรางวัลแรกในการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้จาก สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาวีลแชร์ฟันดาบ ที่คว้าเหรียญทองแดงประเภทดาบเอเป้ บุคคลหญิง คลาส B เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พร้อมกับการยืนยันว่าเตรียม ลงแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์เป็นสมัยที่ 6 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2024  

 

โดยภาพรวมของการแข่งขันจากเหรียญรางวัลทั้งหมด 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน และ 8 เหรียญทองแดง จากการแข่งขันตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่กรุงโตเกียว คือสิ่งที่สะท้อนความสำเร็จในสนาม 

 

แต่สิ่งที่พวกเขาได้มอบไว้ให้มากกว่าชัยชนะ คือ ความพยายามต่อสู้และแข่งขันในนามทีมชาติไทย ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้คนทั่วประเทศ

 

ในการแข่งขันครั้งนี้ เรายังได้เห็นนักกีฬารุ่นพี่อย่าง สายสุนีย์  จ๊ะนะ และ ประวัติ วะโฮรัมย์ รวมถึงนักกีฬาที่แสดงศักยภาพในฐานะนักกีฬาชั้นนำของโลกทั้ง พงศกร แปยอ หรือทีมบอคเซียที่ก้าวขึ้นมายืนบนตำแหน่งสูงสุดของโพเดียมพาราลิมปิกเกมส์เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน 

 

พร้อมกันนี้ยังได้เห็นนักกีฬาดาวรุ่งอย่าง อธิวัฒน์ แพงเหนือ นักกีฬาวัย 18 ปี ที่ก้าวขึ้นมาคว้าเหรียญทองได้ในประเภทวีลแชร์เรซซิง 100 เมตรชาย ประเภท T54 สานต่อจากพงศกรที่เคยเป็นดาวรุ่งในปี 2016 และคว้ามา 2 เหรียญทองในครั้งนั้นในวัยเพียง 19 ปี ทำให้อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของทีมพาราลิมปิกเกมส์ไทยอยู่ในจุดที่ลงตัวด้วยความสำเร็จที่กรุงโตเกียวในครั้งนี้ 

 

นอกจากนี้ THE STANDARD ยังอยากที่จะขอบคุณนักกีฬาทุกชีวิตที่เข้าร่วมแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ในฐานะตัวแทนทีมชาติไทย เราเชื่อมั่นว่าประสบการณ์ที่ทุกคนได้รับจากการแข่งขันบนเวทีสูงสุดจะช่วยให้ทุกคนแข็งแกร่งขึ้นสำหรับการแข่งขันในอนาคต และไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาเป็นอย่างไร เราทุกคนภูมิใจที่ได้เห็นพวกคุณลงสนามในฐานะตัวแทนทีมชาติไทยที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 

 

สิ่งสุดท้ายที่เราหวังจะให้ประสบความสำเร็จในครั้งนี้ คือ ความตั้งใจของกรุงโตเกียว ในฐานะเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ที่ต้องการผลักดันมุมมองของนักกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ที่ในอดีตนักกีฬาพาราลิมปิกเกมส์เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นซูเปอร์ฮีโร่ยอดมนุษย์ 

 

แต่ในปีนี้ ทางกรุงโตเกียวและคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลต้องการให้ทุกคนมองนักกีฬาพาราลิมปิกและคนพิการให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และช่วยผลักดันองค์ประกอบต่างๆ ให้ทุกคนในสังคมได้มีโอกาสเข้าถึงการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน ผ่านแรงบันดาลใจที่ทุกคนได้รับจากการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 16 ที่ผ่านมา  

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X