×

คุ้มแล้ว! ‘Tokyo 2020’ โอลิมปิกที่ไม่ทำเงิน แต่เพิ่มอิทธิพล ‘Soft Power’ ให้ญี่ปุ่นกระหึ่มโลก

06.08.2021
  • LOADING...
Tokyo 2020

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • แม้จะสูญเสียรายได้เพราะการระบาดใหญ่ของโควิด แต่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียว อาจมีส่วนช่วยเพิ่มอิทธิพลระดับนานาชาติของญี่ปุ่นได้
  • เพลงประกอบอนิเมะที่ใช้ในพิธีเปิดโอลิมปิก ถูกนำมาเล่นต่อเนื่องระหว่างการแข่งขันกีฬาหลายรายการ เพลงจาก Attack on Titan และ Demon Slayer ดังกระหึ่มระหว่างการแข่งขันยิงธนู ขณะที่เพลงของ Slam Dunk และ Haikyuu!! ถูกเปิดระหว่างการแข่งขันบาสเกตบอลหญิงและวอลเลย์บอลชาย แม้แต่นักกีฬาก็ยังทำท่ารวมพลังเหมือนตัวเอกใน One Piece ทำเอาหลายคนเกาะติดว่าจะมีสีสันจากอนิเมะเรื่องไหนที่งานนี้อีก
  • ภาวะนี้แปลว่าอนิเมะและมังงะกลายเป็นไฮไลต์เด่นใน Tokyo 2020 ที่เรียกความสนใจจากชาวโลกได้เพิ่มขึ้นอีก อัดฉีดเป็นพลังให้ Soft Power ของญี่ปุ่นเข้มข้นขึ้นกว่าทุกช่วงเวลาในประวัติศาสตร์

นับตั้งแต่เพลงประกอบอนิเมะชื่อดัง ZOIDS ส่งเสียงกระหึ่มในวันแรกของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 แฟนอนิเมะจำนวนไม่น้อยใช้โอกาสนี้เล่นเกมบอกชื่อเพลงธีมอนิเมะแต่ละเพลงที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปีนี้

 

Tokyo 2020

 

อย่างเช่นเพลง Guren no Yumiya จาก Attack on Titan และเพลง Gurenge จาก Demon Slayer ถูกนำมาใช้ในการแข่งขันยิงธนูหลายนัด ในขณะที่เพลงของ Slam Dunk และ Haikyuu!! กลายเป็นเพลงเรียกความมันส์ในการแข่งขันบาสเกตบอลหญิงและวอลเลย์บอลชาย นอกจากนั้นยังมีเพลง Kugutsuuta ura mite chiru จากอนิเมะเรื่อง Ghost in the Shell 2 ที่เปิดในการแข่งขันกีฬายูโดหญิงแบบดังๆ

 

ล่าสุดคือนักกีฬากระโดดไกลชาวกรีซ มิลเทียดิส เทนโทกลู ตัดสินใจโชว์ท่าเร่งความเร็ว ‘Second Gear’ หรือที่คนไทยเรียกว่าท่าเกียร์ 2 ของหนุ่มลูฟี่แห่ง One Piece ก่อนเข้าแข่งขันรอบสุดท้ายเมื่อวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม และสามารถคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันกระโดดไกลได้ในที่สุด

 

anime with olympic athletes anime with olympic athletes

 

ไม่ใช่แค่นักกีฬากรีซ ยังมี เพย์ตัน ออตเตอร์ดาห์ล นักกีฬาหุ่นล่ำจากสหรัฐอเมริกาที่หยิบเอาท่าทางจากตัวละครใน One Piece มาโชว์ นั่นคือท่า SUPER ของหุ่นยนต์ฝั่งพระเอกอย่าง แฟรงกี้ แถมยังตะโกนว่าซูเปอร์ดังลั่น

 

กระแสเหล่านี้เป็นตัวเร่งชั้นยอด เติมเชื้อไฟให้วัฒนธรรมโอตาคุและกระแสอนิเมะ-มังงะที่ร้อนแรงอยู่แล้วยิ่งน่าสนใจขึ้นอีก เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะญี่ปุ่นนั้นวางแผนไว้แล้วล่วงหน้า เห็นได้ชัดจากการกำหนด 9 ตัวการ์ตูนยอดฮิตให้มาเป็นแอมบาสเดอร์ของงาน

 

Tokyo 2020

ป้ายชื่อของประเทศไทยที่มาในรูปแบบของการ์ตูนมังงะ นำหน้าทัพนักกีฬาไทยที่เข้าร่วมพิธีเปิด Tokyo 2020 Olympic Games ในวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา / ภาพ – Patrick Smith/Getty Images

 

แผ่นดินแม่ของอนิเมะและมังงะ

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ทำให้ญี่ปุ่นเชิดหน้าชูตาในฐานะแผ่นดินแม่ของอนิเมะและมังงะชื่อดัง เจ้าหนูอะตอม, ชินจัง, เซเลอร์มูน, ลูฟี่, นารุโตะ, โกคู และอีกหลายตัวเอกที่ปรากฏโฉมต่อหน้าแฟนกีฬานั้นยิ่งตอกย้ำว่าญี่ปุ่นมีกลไกสร้าง Soft Power ที่แข็งแกร่ง

 

ซึ่งแม้ว่าการ์ตูนเหล่านี้จะมีผู้ติดตามเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่อุตสาหกรรมอนิเมะและมังงะก็ยังหวังอยู่ตลอดเวลาว่าจะบุกตลาดสหรัฐอเมริกาและพื้นที่อื่นทั่วโลกได้มากขึ้น

 

จากสถิติพบว่า รายการการ์ตูนมังงะที่มียอดจำหน่ายเกิน 100 ล้านก๊อบปี้ขึ้นไปนั้นมีมากกว่า 19 เรื่อง แชมป์ตลอดกาลคือ One Piece ที่มียอดขายกว่า 490 ล้านก๊อปปี้ ขณะที่ Dragon Ball มียอดขายเกิน 260 ล้านก๊อปปี้ มากกว่า Naruto ที่ทำยอดขาย 250 ล้านก๊อปปี้ ยังไม่นับนิตยสารการ์ตูนที่ขายดีที่สุดอย่าง Weekly Shōnen Jump ซึ่งมียอดขายมากกว่า 7,500 ล้านเล่ม

 

Tokyo 2020

 

หนึ่งในเหตุผลของยอดขายถล่มทลายคือพัฒนาการของมังงะที่ฝังแน่นในสังคมญี่ปุ่นมานาน จากรากฐานในศตวรรษที่ 12 ที่พระสงฆ์เริ่มวาดภาพลงบนม้วนกระดาษยาวต่อเนื่อง พรรณนาถึงเหล่าสัตว์ที่มีพฤติกรรมเหมือนมนุษย์ (ตามที่มาของชื่อ Man หรือมนุษย์ บวกกับคำว่า ga คำภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึงภาพ)

 

หลายสิบปีที่ผ่านมา มังงะถูกพัฒนาเป็นหลายประเภทเพื่อดึงดูดผู้คนทุกวัยและทุกภูมิหลัง มีการยกย่องอาจารย์ ‘โอซามุ เท็ตสึกะ’ ผู้สร้าง Astro Boy ซึ่งเสียชีวิตในปี 1989 เมื่ออายุ 60 ปีว่าเป็น ‘บิดาแห่งมังงะ’ และถูกเปรียบเป็นเหมือน Walt Disney นักแอนิเมชันชื่อดังชาวอเมริกันในเวอร์ชันญี่ปุ่น ซึ่งหลังจาก Astro Boy ออกฉายทางโทรทัศน์ในปี 1963 อนิเมะเรื่องอื่นและเพลงฮิตก็ถูกจุดประกายตามมา ทั้ง Doraemon และ Gundam

 

จากมังงะที่เป็นหนังสือการ์ตูนขาวดำอ่านจากขวาไปซ้าย สตูดิโอญี่ปุ่นสามารถโกยเม็ดเงินมหาศาลจากการสร้างศิลปะเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างอนิเมะ หนึ่งในสถิติที่ยืนยันกระแสนิยมอนิเมะได้คือรายได้ของสตูดิโอ WIT Studio ผู้สร้าง Attack on Titan ซีซัน 1-3 ก่อนจะเปลี่ยนมือมาเป็น MAPPA ที่รับหน้าที่สร้างซีซัน 4

 

ปรากฏว่าความสำเร็จของ Attack on Titan ทำให้ WIT Studio มีกำไรที่เพิ่มขึ้น 60% ในปี 2018 ทำให้ IG Port บริษัทแม่ รายงานยอดขายรวม 8.426 พันล้านเยน (ประมาณ 2,500 ล้านบาท) และกำไรสุทธิ 201 ล้านเยน (ประมาณ 61 ล้านบาท)

 

ในภาพรวมสถิติล่าสุดพบว่า อุตสาหกรรมอนิเมะของญี่ปุ่นทำรายได้ 17,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.9 แสนล้านบาท ในปี 2017 ขณะเดียวกัน ญี่ปุ่นยังเป็นผู้ส่งออกวิดีโอเกมสูงสุดอันดับ 2 ช่วงก่อนเกิดการระบาด แต่ก็มีสัดส่วนเพียง 10% ของยอดขายทั่วโลกในปี 2019 คาดว่า Pokémon เกมเดียวสามารถสร้างรายได้ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 5 ปีแรกที่เปิดตลาด

 

 

ตัวเลขนี้เกิดขึ้นก่อนยุคทองของบริการสตรีมมิงและโควิด ทั้ง 2 ส่วนนี้ถูกมองว่าเป็นปัจจัยเสริมล่าสุดที่ทำให้อนิเมะได้รับความนิยมไปทั่วโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่นกรณีของ Demon Slayer: Mugen Train ซึ่งตอนแรกนักวิจารณ์พากันตั้งข้อสงสัยว่าการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายนอาจไม่คึกคักเหมือนกับความสำเร็จที่ทำได้ในตลาดบ้านเกิด

 

แม้ภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้จะมีฉากวิถีชีวิตในญี่ปุ่นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ผู้ชมชาติอื่นอาจไม่เข้าใจ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำรายได้ทะลุ 19.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่เปิดตัว ทำลายสถิติบ็อกซ์ออฟฟิศของสหรัฐอเมริกาสำหรับกลุ่มภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ

 

และแม้จะยังเป็นคำถามที่รอคำตอบอยู่ว่าความนิยมของการ์ตูนญี่ปุ่นจะคงอยู่ตลอดไปหรือไม่? แต่อย่างน้อยโอลิมปิกเกมส์ก็กำลังดันโอกาสทองมาให้ญี่ปุ่น ซึ่งนอกจากผลดีเรื่องเม็ดเงิน ยังมีนักวิเคราะห์มองเห็นความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของ Soft Power ในมือญี่ปุ่นจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์

 

Soft Power ล้นเหลือ

โจเซฟ ไน เจ้าของแนวคิด Soft Power บอกว่าอำนาจมีอยู่ 2 ประเภท คือ Soft Power และ Hard Power อำนาจทั้งคู่หมายถึงการมีอิทธิพลเหนือกว่า เพื่อควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของใครก็ได้

 

แต่อำนาจที่เป็น Hard Power นั้นหมายถึงการใช้กำลังบังคับหรือจูงใจด้วยเงิน และ Soft Power คือการใช้ไม้อ่อนที่นุ่มนวลกว่าแต่ได้ผล เช่น วัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบายต่างประเทศ

 

ประเด็นนี้ กีฬามักเป็นแหล่งพลัง Soft Power ของหลายอค์กร การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์เองก็ถูกมองเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับ Soft Power ของหลายประเทศ 

 

ตัวอย่างเช่น การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงเบอร์ลินในปี 1936 ที่มอบภาพลักษณ์ดีเยี่ยมให้เยอรมนีช่วงก่อนที่นาซีจะขึ้นสู่อำนาจ กลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านกลุ่มฝ่ายค้านที่ได้ผลดี

 

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่ปักกิ่งปี 2008 ก็ถูกมองเป็นชัยชนะเรื่อง Soft Power ให้จีน ซึ่งนำไปสู่มุมมองใหม่ที่พลิกความขัดแย้งกับทิเบตให้เป็นเรื่องสีเทาไม่ขาวไม่ดำ รวมถึงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่รีโอเดจาเนโรในปี 2016 ก็มีพลังดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่า 1.17 ล้านคน ให้มาสนุกกับการแข่งขันที่ชายหาดที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งที่ชาวบราซิลพากันประท้วงต่อต้านการทุจริตสุดอื้อฉาวอยู่

 

สำหรับญี่ปุ่น ประเทศลูกพระอาทิตย์นี้เคยตั้ง Hello Kitty เป็นทูตการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในตลาดจีนและฮ่องกง เพื่อใช้ความนิยมของตัวการ์ตูนหวานแหวว ทำให้ชาวเมืองลืมความเดือดร้อนจากการรุกรานของญี่ปุ่นเมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

 

ดังนั้นการที่ Tokyo 2021 ถูกโควิดเล่นงานจนต้องจัดโดยที่ไม่มีผู้ชมริมสนามและไม่มีการเปิดรับแฟนกีฬาต่างชาติ อาจมีผลให้เม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านเยน (1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หายวับไปกับตาก็จริง 

 

 

Pictogram กลายเป็นจอมขโมยซีนแห่งพิธีเปิดโอลิมปิกเกมส์ หลังการแสดงของนักแสดงละครใบ้ Masa และ Hitoshi ที่แสดงท่าทีของกีฬาทั้ง 50 ชนิด ใน Tokyo 2020 ได้อย่างสนุก ตื่นเต้น น่าทึ่ง และที่สำคัญคือความฮาที่มาแบบไม่มียั้งจนได้ใจผู้ชมทั่วโลก

 

แต่นักวิเคราะห์ก็ยังเชื่อว่าโอลิมปิกเกมส์รอบนี้จะเสริมกับแคมเปญ ‘Cool Japan’ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มต้นไว้ตั้งแต่ปี 2010 เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมของตัวเองไปทั่วโลกได้อย่างเต็มที่

 

Cool Japan เป็นแคมเปญอัดฉีดแหล่งพลัง Soft Power หลักที่ญี่ปุ่นมี นั่นคือวัฒนธรรมมังงะ อนิเมะ และเกม แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จจนนำผลกำไรหลายพันล้านเยนเข้าสู่แผ่นดินญี่ปุ่น ทำให้รายได้จากการขายและค่าลิขสิทธิ์ของผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นเป็น 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2002 เพิ่มขึ้น 300% จากปี 1992

 

สำหรับกรณีที่ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ทำให้ทั้งโลกประหลาดใจในงานพิธีเปิด ด้วยการโผล่ออกมาจากท่อระบายน้ำสีเขียว พร้อมกับแต่งตัวเป็น ‘Super Mario’ จนเกิดเป็นไวรัลร้อนแรงบน Twitter แบบไม่ต้องซื้อโฆษณา นักวิเคราะห์เชื่อว่าอาจจะโดนใจคนที่ไม่สนใจอนิเมะหรือเกมญี่ปุ่นมาหลายปี ให้หันกลับมามองญี่ปุ่นอีกครั้งหลังจากกระแสติ่งเกาหลีมาแรงแซงโค้ง

 

 

วงบอยแบนด์เกาหลี BTS วันนี้ติดอันดับ Top 10 ของตาราง Billboard 200 ในปี 2017 ด้วยคะแนนเสียง 300 ล้านโหวตทั่วโลก สร้างการมีส่วนร่วมบน Twitter มากกว่าศิลปินอย่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์, บียอนเซ่ และ จัสติน บีเบอร์ 

 

ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ BLACKPINK รวมถึงภาพยนตร์เกาหลีเรื่อง Parasite ที่ได้รับรางวัลมากกว่า 300 รางวัลทั่วโลก ทั้งหมดนี้ทำให้วัฒนธรรมเกาหลีทรงอิทธิพลจนเป็นความท้าทายที่ญี่ปุ่นต้องจับตาดูให้ดี และจะต้องใช้อิมแพ็กจาก ‘โตเกียวโอลิมปิก’ เป็นกลไกเพิ่มพลัง Soft Power ให้ญี่ปุ่นสู้กับคู่แข่งได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X