โปสเตอร์การแข่งขันโอลิมปิกคือหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการสื่อสารกับแฟนกีฬาทั่วโลก ถึงสิ่งที่เจ้าภาพการแข่งขันต้องการที่จะนำเสนอในแต่ละปีของการแข่งขัน
โดยปีนี้หลังจากที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้รับโอกาสจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนเป็นครั้งที่ 2 พวกเขาได้ออกแบบโปสเตอร์ที่หลากหลาย ทั้งจากภาพถ่าย ภาพวาด และภาพการ์ตูน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ Pop Culture ญี่ปุ่น มานำเสนอเรื่องราวของการแข่งขันทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้
สำหรับ 20 โปสเตอร์ของโตเกียวโอลิมปิก 2020 ได้รับการออกแบบโดยศิลปินชื่อดังในด้านต่างๆ ของญี่ปุ่น THE STANDARD ได้คัดเลือก 13 ภาพที่มีความหมายและออกแบบน่าสนใจมาให้ทุกคนได้รับชมใน Art of Olympic นี้
ภาพที่ 1: Wild Things โดย โทโมโกะ โคโนอิเกะ
โทโมโกะ โคโนอิเกะ ศิลปินร่วมสมัยชาวญี่ปุ่น ได้อธิบายถึงภาพโปสเตอร์ที่เป็นรูปของกึ่งมนุษย์กึ่งสัตว์ป่าแบบ Close-Up นี้ไว้ว่า “เหมือนกับสัตว์ มนุษย์ทุกคนมีมุมมองต่อโลกไม่เหมือนกัน เรามองโลกผ่านสิ่งแวดล้อมของเราเอง ซึ่งมีความแตกต่างกัน ไม่มีคำไหนที่เหมือนกัน ไม่มีแสงใดที่คล้ายกัน”
ภาพที่ 2: Tokyo 2020 โดย อาซาโอะ โทโคโละ
อาซาโอะ โทโคโละ ได้รับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบโปสเตอร์ทางการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปีนี้ ซึ่งประกอบไปด้วยโอลิมปิกที่เป็นสัญลักษณ์ของวงกลม และพาราลิมปิกที่มีรูปร่างคล้ายวงแหวน
การออกแบบของเขาเป็นการสื่อสารไปถึงการออกแบบโปสเตอร์โอลิมปิกที่กรุงโตเกียวเมื่อปี 1964 ขณะที่รูปเลขาคณิตต่างๆ ที่ล้อมรอบวงแหวน คือการสื่อถึงชาติต่างๆ ที่เข้าร่วมการแข่งขัน
แต่แทนที่จะนำเอาโปสเตอร์การแข่งขันครั้งที่แล้วซึ่งเป็นวงกลมสีแดงบนพื้นสีขาวเหมือนธงชาติญี่ปุ่น เขาเลือกใช้สี ai (สีน้ำเงิน Indigo ตามแบบฉบับของญี่ปุ่น) มาเป็นสีหลักของโปสเตอร์ เพราะ “การปริ้นสีน้ำเงิน Indigo ของญี่ปุ่น เป็นหมึกสีที่ทนทานต่อความเปลี่ยนแปลงของกาลเวลาและมีความสวยงาม”
ภาพที่ 3: Flow Line โดย ไดจิโระ โอฮาระ
Flow Line เป็นการเล่นกับเส้นที่เชื่อมโยงกันทั้งหมด โปสเตอร์นี้ไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของคบเพลิงโอลิมปิกแบบดั้งเดิม แต่เป็นการสื่อถึงเส้นทางที่คบเพลิงจะเดินทางไปทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น โดยมีลักษณะของแผนที่ประเทศอยู่ตรงกลาง
ภาพที่ 4: The Sky Above the Great Wave Off the Coast of Kanagawa โดย ฮิโรฮิโกะ อารากิ
โปสเตอร์จากศิลปินมังงะชาวญี่ปุ่นนี้เป็นภาพความเคลื่อนไหวของการแข่งขันพาราลิมปิกที่ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพ ‘The Great Wave’ ของ คัตสึชิกะ โฮคุไซ ศิลปินระดับตำนานของญี่ปุ่น
โดย ฮิโรฮิโกะ อารากิ เล่าถึงโปสเตอร์นี้ว่า “ลองจินตนาการว่าพระเจ้าของกีฬาเดินทางมารวมตัวกันบนท้องฟ้าของประเทศญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยเมฆที่กำลังเคลื่อนตัวในลักษณะของคลื่นลม”
ภาพที่ 5: Now It’s Your Turn! โดย นาโอกิ อุราซาวะ
โปสเตอร์จาก นาโอกิ อุราซาวะ ศิลปินมังงะชื่อดังชาวญี่ปุ่น เป็นโปสเตอร์ที่เหมือนกับภาพจากหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นในสีขาวดำ ที่เป็นการนำเสนอความรู้สึกสนุกและตื่นเต้นกับการแข่งขันที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น
ภาพที่ 6: Higher Than the Rainbow โดย มิกะ นินางาวะ
มิกะ นินางาวะ ช่างภาพและผู้กำกับ ได้เล่าถึงภาพโปสเตอร์นี้ไว้ว่า
“ในพื้นที่ที่มีเพียงฉัน กล้องของฉัน และ เรนชิ โชไค (นักกีฬาพาราลิมปิกญี่ปุ่น) ฉันเพียงแค่กดปุ่มชัตเตอร์
“นักกีฬาพาราลิมปิกเท่มาก ข้อความที่อยู่ในภาพนี้คือพื้นที่ว่างเปล่าเป็นพื้นที่กำเนิดของงานที่สร้างสรรค์และสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างคาดเดาไม่ได้ บ่อยครั้งคือสิ่งที่ดีเยี่ยมมากกว่าธรรมดา”
ภาพที่ 7: Olympic Cloud โดย ทาคุ ซาโต้
ทาคุ ซาโต้ กราฟิกดีไซเนอร์ผู้นี้ ได้เล่าถึงโปสเตอร์นี้ว่า
“การออกแบบโปสเตอร์นี้คือการแสดงออกถึงอนาคตที่นักกีฬาแต่ละคนไม่ว่าจะมาจากที่ไหนในโลก การแข่งขันคือพื้นที่ของการแสดงออกทางด้านทักษะของพวกเขา
“ภาพนี้แทนที่จะเป็นภาพเคลื่อนไหว แต่สิ่งที่เราต้องการจะสื่อคือการออกแบบที่กระตุ้นความรู้สึกของความเคลื่อนไหวในจินตนาการของผู้รับชม
“ในโลกที่เราถูกขับเคลื่อนด้วยนามธรรมและข้อมูลจากเทคโนโลยี ภาพทั้งหมดนี้ถูกวาดขึ้นด้วยมือ เพราะโอลิมปิกคือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันโดยการผลักดันขีดจำกัดของความสามารถทางร่างกายและจิตใจของแต่ละคน”
ภาพที่ 8: Fly High! โดย โชโกะ คานาซาวะ
โชโกะ คานาซาวะ นักเขียนพู่กันจากญี่ปุ่น ได้เล่าถึงตัวอักษรญี่ปุ่น ‘Fly High’ นี้ว่าเป็นงานที่เกิดขึ้นด้วยความหวังที่จะได้เห็นโอลิมปิกเกมส์ที่เกิดขึ้นจากความทุ่มเทของนักกีฬาและทุกฝ่ายที่สนับสนุน ให้พลังแห่งความหวังนี้บินอยู่เหนือกรุงโตเกียว และส่งต่อไปยังผู้คนทั่วโลก
“การวาดพู่กันนี้มีแสงสว่างที่ส่องไปยังภาพ ซึ่งแสงนี้เป็นตัวแทนของพละกำลังของนักกีฬา บนพื้นผิวสีทองที่เป็นสัญลักษณ์ของฝีมือช่างญี่ปุ่น”
ภาพที่ 9: Horseback Archery โดย อากิระ ยามากูจิ
อากิระ ยามากูจิ ศิลปินผู้ออกแบบภาพโปสเตอร์ ได้กล่าวถึง Horseback Archery นี้ว่า เป็นภาพของนักธนูหญิงที่กำลังยิงธนูบนหลังม้าที่ยังไม่ใช่กีฬาโอลิมปิกหรือพาราลิมปิก นักธนูหญิงที่ไม่มีแขนนี้คนนี้สวมใส่ชุดตามวัฒนธรรมของญี่ปุ่น และกำลังแข่งขันในกีฬาสมัยใหม่
“การที่เธอเอาชนะอาการบาดเจ็บที่กระดูก และม้าของเธอวิ่งด้วยเครื่องยนต์เหมือนกับมอเตอร์ไซค์ ส่วนพื้นที่ด้านหลังคือตัวเมืองของกรุงโตเกียว พร้อมกับภาพของฟุกุชิมะด้านหลังเมฆ”
ภาพที่ 10: Paralympian โดย GOO CHOKI PAR
GOO CHOKI PAR กราฟิกดีไซเนอร์ผู้ออกแบบภาพ ‘Paralympian’ ได้อธิบายถึงโปสเตอร์นี้ไว้ว่า “ผมอยากที่จะบันทึกทุกอย่างแบบเท่าเทียมกันในรูปแบบที่สวยงามและแตกต่างอย่างมีเอกลักษณ์ โดยรูปร่างตรงกลางคือตัวแทนของคนคนหนึ่งที่กำลังก้าวไปข้างหน้า แขนที่แกว่งออกไปอย่างกล้าหาญ ขาที่กระแทกลงที่พื้นด้วยพละกำลังอย่างเต็มที่ นี่เป็นสัญลักษณ์ดิบของการเคลื่อนไหวที่เป็นตัวแทนของนักกีฬาพาราลิมปิกที่มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่อนาคตที่มั่นคง”