ประเทศญี่ปุ่นใช้ศัพท์เรียก ‘คนไร้บ้าน’ ตามภาษาอังกฤษว่า Homeless (ホームレス)หรือบางครั้งคนไทยก็มักจะเรียกคนไร้บ้านของญี่ปุ่นว่า ‘มนุษย์กล่อง’
‘มนุษย์กล่อง’ เป็นการคำเรียกที่เกิดจากการพบเห็นสภาพที่อยู่อาศัยของคนไร้บ้านในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากที่พักอาศัยมักจะใช้ ‘ลัง’ หรือ ‘กล่องกระดาษ’ มาประกอบเป็นบ้านหลังเล็กๆ ที่พอจะเบียดตัวเข้าไปนอนได้
โฮมเลสในประเทศญี่ปุ่นมีความแตกต่างจากโฮมเลสในหลายๆประเทศ เช่น ไม่ค่อยมีคนติดยาหรือเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เนื่องจากยาเสพติดหาซื้อยาก จึงแทบไม่มีโอกาสตกถึงมือโฮมเลส
และที่น่าแปลกใจคือเราไม่ค่อยเห็นโฮมเลสญี่ปุ่นเป็นขอทานอาชีพ เพราะโฮมเลสญี่ปุ่นหลายคนมีรายได้จากการเก็บกระป๋องอะลูมิเนียม เก็บหนังสือ-นิตยสารเก่านำไปขายต่อ หรือการรับจ้างเข้าคิว (แต่ปัจจุบันนี้มีเสียงจากนักท่องเที่ยวกล่าวถึงอยู่บ้างว่าเคยเจอโฮมเลสมาขอเงินระหว่างท่องเที่ยวในประเทศด้วย) และโอกาสที่จะเดินเจอกับโฮมเลสญี่ปุ่นนั้นมีน้อยกว่าประเทศอื่นที่มักจะเดินปะปนอยู่กับประชาชนทั่วไป
โฮมเลสญี่ปุ่นอาศัยอยู่ที่ไหน
ส่วนมากโฮมเลสอาศัยอยู่ที่สวนสาธารณะ ริมแม่น้ำ หรือสถานีรถไฟ
จากการสำรวจเมื่อปี 2016 มีจำนวนโฮมเลสกางเต็นท์อาศัยอยู่ริมแม่น้ำมากที่สุด ตามมาด้วยสวนสาธารณะ เพราะอาศัยใช้ห้องน้ำสาธารณะเป็นหลัก
ปัจจุบันนี้ที่สวนสาธารณะมีจำนวนของคนไร้บ้านลดน้อยลง เนื่องจากมีการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ เช่น สวนสาธารณะที่อยู่ใกล้โรงเรียน และสถานที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งบริเวณนี้มีผลด้านความปลอดภัย ทำให้ต้องปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่ หรือการเพิ่มสายรถไฟและสถานีรถไฟใหม่ ทำให้มีการเวนคืนที่ดินสำหรับก่อสร้าง คนไร้บ้านที่อาศัยตามสถานที่เหล่านี้จึงต้องย้ายไปอยู่ตามริมแม่น้ำแทน
โฮมเลสใช้ชีวิตอย่างไร มีรายได้จากที่ไหน
แบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ คือ
1. กลุ่มคนทำงานอิสระ รับเงินว่าจ้างรายวัน เก็บกระป๋องอะลูมิเนียมหรือหนังสือ-นิตยสารเก่าแล้วนำไปขาย กลุ่มนี้จะมีรายได้เฉลี่ยอย่างมากเดือนละ 10,000-30,000 เยน
2. ได้รับอาหารจากมูลนิธิช่วยเหลือตามเขตต่างๆ หรืออาหารเหลือจากร้านอาหาร การเก็บเศษเหรียญตกหล่นตามตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ คนกลุ่มนี้ใช้ชีวิตค่อนข้างยากลำบาก
โฮมเลสเหล่านี้ ตอนกลางวันอาจจะอยู่ไม่เป็นที่ ออกไปทำงานบ้าง หรือออกไปรับอาหารตามจุดต่างๆ พอถึงช่วงกลางคืนก็จะกลับมาบริเวณที่อยู่อาศัยโดยใช้ลังหรือกล่องกระดาษมาประกอบเป็นบ้านหรือที่นอนให้พออาศัยอยู่ได้
แต่ถ้าอยากมีชีวิตรอดในฤดูหนาว โฮมเลสต้องเปลี่ยนมาตื่นกลางคืนและนอนกลางวันแทน เพราะมีโฮมเลสจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตเนื่องจากทนอากาศหนาวไม่ไหว
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโฮมเลสในประเทศญี่ปุ่น
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น จากการสอบถามคนญี่ปุ่นและประสบการณ์ตรงที่เคยแนะนำงานให้โฮมเลสมาช่วยงานในบริษัท คนแรกชื่อ ยามากุจิ เพศชาย อายุราวๆ 40 ปี บ้านเกิดอยู่ที่โอซาก้า ยามากุจิเคยเล่าให้ฟังสั้นๆ ว่า
“ผมหนีออกจากบ้านมาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น เพราะครอบครัวมีปัญหาและเรียนไม่จบมัธยมปลาย ผมคิดว่ามาโตเกียวน่าจะดีกว่าอยู่โอซาก้า เพราะเป็นเมืองใหญ่ แต่ผมหางานทำไม่ได้ ไม่มีที่อยู่ เลยอาศัยนอนที่สวนแถวสถานีคินชิโจ รับจ้างเข้าคิวได้ค่าแรงครั้งละ 5,000-10,000 เยน”
ตอนนี้เราไม่ทราบแน่ชัดว่ายามากุจิยังคงเป็นโฮมเลสหรือสามารถพึ่งพาตัวเองได้แล้ว เพราะยามากุจิไม่ได้อาศัยอยู่ในสวนสาธารณะที่เดิมแล้ว
ส่วนคนอื่นๆ ที่ต้องกลายมาเป็นโฮมเลส เกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
1. บริษัทเลิกจ้างงาน จากเดิมที่เคยทำงานอยู่บริษัทชั้นนำ หลังจากนั้นหางานใหม่ไม่ได้ ช่วงแรกๆ จะอาศัยพักพิงตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ แต่พอเงินหมดก็ต้องออกมาเป็นคนไร้บ้านอย่างทุกวันนี้
2. เคยทำงานที่ร้านอาหารเป็นเวลานานกว่า 10 ปี และคิดว่าจะทำงานนี้ไปเรื่อยๆ แต่เศรษฐกิจไม่ดี ร้านปิดกิจการ ทำให้ตกงาน ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน
3. ทำงานเกี่ยวกับก่อสร้าง แต่เกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานจนต้องลาออกจากงานนั้น และไม่สามารถหางานใหม่ได้อีก
สาเหตุหลักของการเป็นโฮมเลสของคนญี่ปุ่นคือการสูญเสียงานแล้วไม่สามารถหางานใหม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคงในชีวิตของคนญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป เริ่มจากมีการเลิกจ้างงาน ต่างกับอดีตที่มีการจ้างงานไปตลอดชีวิต โครงสร้างของบริษัทที่เปลี่ยนจากการจ้างพนักงานประจำเป็นจ้างพนักงานชั่วคราว ทำให้คนญี่ปุ่นมีรายได้ไม่แน่นอน ส่งผลไปถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เกินกำลัง เช่น ค่าเช่าบ้าน หรือค่าประกันสังคม
เรามักจะพบเห็นโฮมเลสในญี่ปุ่นตามเมืองใหญ่ๆ โดย 3 เมืองใหญ่ที่มีจำนวนโฮมเลสมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ปี 2017 คือโตเกียว 1,397 ราย โอซาก้า 1,303 ราย และคานากาวะ 1,061ราย ตามลำดับ (จากจำนวนรวมของโฮมเลสทั่วประเทศญี่ปุ่น 5,534 ราย)
ถ้าย้อนหลังดูจากตัวเลขที่เก็บสถิติตลอดมา จำนวนโฮมเลสลดลงมากจากจำนวนหลักหมื่นในปี 2011 และโอซาก้าเคยเป็นอันดับหนึ่งของเมืองที่มีจำนวนโฮมเลสมากที่สุดในประเทศญี่ปุ่นจนถึงปี 2016
การช่วยเหลือจากหน่วยงานท้องถิ่นและองค์กรไม่แสวงหากำไรทำให้จำนวนของโฮมเลสลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากการให้ความช่วยเหลือเรื่องการแจกจ่ายอาหารแล้ว ยังมีการให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน แนะนำการหางาน ให้ที่พักชั่วคราว และให้บริการตรวจสุขภาพ
ส่วนคนไร้บ้านที่พอมีรายได้จากการทำงาน มีการให้ความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย อาหารการกิน และเสื้อผ้า การให้ยืมที่อยู่เพื่อใช้สมัครงาน ให้คำปรึกษาเรื่องการหาอาชีพทำงาน และสามารถเปลี่ยนสถานะให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านได้ สามารถสอบใบขับขี่ หรือใบประกอบอาชีพต่างๆ ได้
เพราะคนญี่ปุ่นเชื่อว่าคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของกลุ่มคนเหล่านี้จะสามารถลดจำนวนของโฮมเลสได้ และเป้าหมายคือการลดจำนวนโฮมเลสให้กลายเป็น ‘ศูนย์’
Photo: AFP