×

ญี่ปุ่นเดินหน้าผลิตเหรียญรางวัลโอลิมปิก 2020 จากการรีไซเคิลมือถือ

18.03.2018
  • LOADING...

ทอง 0.048 กรัม เงิน 0.26 กรัม และทองแดง 12 กรัม คือส่วนผสมโลหะที่พบได้ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทางกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2020 เตรียมนำมาใช้รีไซเคิลและเปลี่ยนเป็นเหรียญรางวัลถึง 5,000 เหรียญ สำหรับมหกรรมโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปี 2020 โดยทางฝ่ายจัดการแข่งขันได้ตั้งชื่อโครงการนี้ว่า Tokyo 2020 Medal Project: Towards an Innovative Future for All

 

โดยที่ผ่านมา ทางรัฐบาลโตเกียว หรือ TMG ได้รับบริจาคโทรศัพท์มือถือใช้แล้วกว่า 80,000 เครื่อง รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อีกหลายชนิด ด้วยความหวังให้ประชาชนทั้งประเทศได้รู้สึกมีส่วนร่วมในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวจะจัดเป็นครั้งที่ 2 ต่อจากการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกในปี 1964 ซึ่งนับเป็นการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกในเอเชียด้วย


“เพื่อเป้าหมายสู่การเป็นสังคมที่สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยการสร้างเหรียญรางวัลจากความหวังและความฝันของพวกเรา” ส่วนหนึ่งของเป้าหมายโครงการภายในคลิปของฝ่ายผู้จัดการแข่งขัน

 

“เราคิดว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้รับเหรียญรางวัลที่เต็มไปด้วยความหวังและความฝันของผู้คนจากทั่วประเทศญี่ปุ่น เราจะทำเต็มที่ในส่วนของเราในการแข่งขันโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว” เอริ โทซากะ นักกีฬามวยปล้ำหญิงทีมชาติญี่ปุ่น รุ่นน้ำหนัก 48 กิโลกรัม เจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก ปี 2016 พูดถึงความสำคัญของโครงการนี้

 

ทาง TMG ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ โดยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกลง 30% ให้ได้ภายในปี 2030 ซึ่งในระหว่างการแข่งขัน ทาง TMG ต้องการเปลี่ยนหมู่บ้านนักกีฬาให้เป็นพื้นที่ที่มีการปล่อยค่าคาร์บอนต่ำ ส่วนพื้นที่อื่นๆ ในเมืองจะมีการนำระบบขนส่งและรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานไฮโดรเจนมาใช้ภายในปี 2030

 

ในการเป็นเจ้าภาพครั้งแรกของกรุงโตเกียวในปี 1964 นับว่าเป็นโอลิมปิกครั้งหนึ่งที่มีการนำนวัตกรรมทั้งด้านเทคโนโลยีและศิลปะเข้ามาผสมผสานอย่างลงตัว โดยโอลิมปิกที่กรุงโตเกียวนับเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านระบบดาวเทียมข้ามทวีปไปยังต่างประเทศ หลังจากโอลิมปิกที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ในปี 1936 ได้ทดลองถ่ายทอดการแข่งขันเป็นครั้งแรกภายในตัวเมืองที่จัดการแข่งขัน และโอลิมปิกที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี ในปี 1960 เริ่มถ่ายทอดสดการแข่งขันไปยังประเทศต่างๆ ในยุโรป

 

นอกจากนี้ยังได้มีการใช้รถไฟความเร็วสูง หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ชินคันเซน ซึ่งสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 1964 เพียง 9 วันก่อนพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก ระหว่างสถานี Tokyo ถึงสถานี Shin-Osaka ที่สามารถเดินทางด้วยความเร็ว 515 กิโลเมตรในเวลา 4 ชั่วโมงมาใช้เป็นครั้งแรก รวมถึงการสร้างทางหลวงและเส้นทางรถไฟต่างๆ ภายในเมือง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาศักยภาพของกรุงโตเกียว และเป็นมรดกแห่งความสำเร็จจากการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกเป็นเมืองแรกในประเทศเอเชีย

 

ซึ่งในปี 2020 ที่กำลังจะถึงนี้ กรุงโตเกียว ซึ่งมีชื่อเสียงในการนำนวัตกรรมที่นอกจากจะช่วยส่งเสริมประสบการณ์ระหว่างการแข่งขันสำหรับนักกีฬาและแฟนกีฬา ยังช่วยส่งเสริมศักยภาพของการใช้ชีวิตของผู้คนภายในเมือง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถนำมาเป็นกรณีศึกษาสำหรับประเทศที่ต้องการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันมหกรรมกีฬาในอนาคต ทำอย่างไรจึงจะสามารถเสริมสร้างโอกาสและต่อยอดสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนได้จากการใช้การวางแผนและใช้เทคโนโลยีนำพาความสำเร็จทั้งกีฬาภายในสนามและความเจริญรุ่งเรืองของเมืองเจ้าภาพ  

 

Photo: shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising