ความก้าวหน้าของโลกเทคโนโลยีดำเนินไปอย่างรวดเร็วจนทุกคนสัมผัสได้ นอกจาก AI ที่ถูกพัฒนาจนเป็นผู้ช่วยมนุษย์แล้ว สินทรัพย์บนโลกใบนี้ก็กำลังเปลี่ยนผ่านตัวเองไปอยู่ในรูปของสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Tokenization
แต่เชื่อหรือไม่ Tokenization กำลังเป็น ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ ให้โลกของเรา ทั้งในเชิงธุรกิจและการดำรงชีวิต
บล็อกเชนเปลี่ยนโลก Supply Chain
บล็อกเชนคือระบบที่เราส่งข้อมูลที่ไม่มีตัวกลาง การรับรู้การเปลี่ยนหรือส่งต่อข้อมูลพร้อมกัน และแก้ไขหรือแฮ็กระบบได้ยาก
สุทธิรัตน์ หาญพานิชย์ Head of Business Development, Token X
ระบบบล็อกเชนยังช่วยให้ระบบองค์กรรับรู้ข้อมูลได้ตรงกันและรับรู้ในเวลาแบบเรียลไทม์ ระบบ Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและส่งไปถึงผู้บริโภค จะเป็นการส่งต่อข้อมูลและประสานงานแบบจาก Party ที่ต่างกัน เกิดเป็นปัญหาในการดำเนินธุรกิจ
- ความซับซ้อนในการส่งผลิตภัณฑ์ไปถึงมือผู้บริโภค
- การส่งข้อมูลระหว่าง Party ทำให้เกิดความล่าช้าในการส่งต่อ
- ข้อมูลซับซ้อนในแต่ละ Party ทำให้ส่งต่อได้ยากลำบาก
- การแก้ปัญหาใน Supply Chain ล่าช้า เพราะต้องใช้เวลาตรวจย้อนกลับ
ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ไขได้โดยการนำข้อมูลมาทำธุรกรรมบนบล็อกเชน ทำให้เกิดประโยชน์ได้ คือ
- การเชื่อมต่อข้อมูลทรัพยากรองค์กรที่สามารถเปิดให้รู้พร้อมกัน แต่สามารถกรองข้อมูลอ่อนไหวออกไปได้
- เข้าถึงข้อมูลใน Supply Chain ได้ง่าย และ Flow การทำงานลื่นไหล
- ได้รับรายงานและการแจ้งเตือนแบบอัตโนมัติ
- ลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
จากการสำรวจของ Settlement พบว่า 86% เชื่อว่า หากมีบล็อกเชนช่วยในระบบ Supply Chain จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
จากตัวอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง IBM ที่ใช้บล็อกเชนมาแก้ปัญหาการขนส่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซับซ้อน และใบตราสินค้าอาจเกิดการฉ้อโกงได้ ซึ่งเมื่อนำบล็อกเชนมาปรับใช้ให้มีเครือข่ายร่วมกันและรับรู้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ ทำให้ดำเนินการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มความโปร่งใส
Tokenization ตัวเปลี่ยนเกมสภาพอากาศโลก
ภาวะโลกเดือดที่ไม่สามารถหวนกลับไปสภาพเดิมได้แล้ว ทำให้กฎเกณฑ์และนโยบายนานาชาติเปลี่ยนไป โดยเฉพาะสหภาพยุโรปที่เริ่มตั้งกฎเกณฑ์ ‘มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป’ หรือ CBAM ซึ่งผลกระทบไปยังผู้ผลิตพลังงาน ต้นน้ำถึงปลายน้ำธุรกิจต่าง ๆ ที่ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยมลพิษ
สิทธิพัฒน์ ศุขเนตร Associate Investment Banking and Tokenization, Token X (ซ้าย)
ทุนฤทธิ์ เอี่ยมพินิจกุล Manager Investment Banking and Tokenization, Token X (กลาง)
สหรัฐ ลีลาเลิศวรภัทร Senior Associate Investment Banking and Tokenization, Token X (ขวา)
ปัจจุบันมีกลไกคือ ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน หรือ RECs โดยซื้อ RECs เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการชดเชยและแก้ปัญหา ทำให้มีหลายบริษัทด้านบล็อกเชนออกมา ‘Tokenization’ หรือการเปลี่ยนสิ่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นการลดการปล่อยคาร์บอน
อย่าง KlimaDAO ได้สร้างสกุลเงินดิจิทัลที่มีค่าการชดเชยคาร์บอนเป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน กลไกทางการเงินจะดึงอุปทานของค่าการชดเชยคาร์บอนออกจากตลาด ทำให้ราคาสูงขึ้น พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้คนถือโทเคนด้วยผลตอบแทนสูง ชี้นำราคาของค่าการชดเชยคาร์บอน และกระตุ้นให้เกิดการลดการปล่อยคาร์บอนลง
หรือจะเป็น MCO2 ที่แปลงพื้นที่ของป่าแอมะซอนเป็นโทเคน ส่งเสริมการดูแลรักษาป่า และ IMPT ซึ่งเป็นโทเคนที่เมื่อเราช้อปปิ้งแล้วจะได้คาร์บอนเครดิตเป็น Reward
Real-World Asset ในครึ่งหลังของปี 2024
Real-World Asset (RWA) เป็นการนำสินทรัพย์ในโลกจริงมาอยู่บนบล็อกเชน ไม่ว่าจะเป็น Stablecoin ที่มีเงินเฟียตหนุนหลัง โทเคนที่อิงกับสินค้าโภคภัณฑ์ ตราสารหนี้ดิจิทัล หรือแม้แต่สินทรัพย์หรูหราอย่างไวน์และงานศิลปะ
RWA ช่วยเพิ่มสภาพคล่องและการเข้าถึงการลงทุนในสินทรัพย์ที่เคยมีข้อจำกัด ทำให้นักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันสามารถกระจายการลงทุนได้ง่ายขึ้น
สำหรับสถานการณ์ RWA ต่อไปนี้ คาดการณ์ว่าการนำสินทรัพย์มาทำเป็นโทเคนจะมีมูลค่าถึง 10% ของ GDP โลกภายในปี 2030 และอาจสูงถึง 16 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
RWA มูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2022 ที่ 166.2 ล้านดอลลาร์ เป็น 5.71 พันล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคม ปี 2024 เพิ่มขึ้นกว่า 3,300% ผลเกิดจากการที่หลายองค์กรให้การยอมรับและปรับใช้ ไม่ว่าเป็นองค์การเงินตราแห่งประเทศสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore: MAS), Onyx (by JPMorgan) หรือ BlackRock
RWA กำลังปฏิวัติวงการการเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) ด้วยการมี Tokenization กับหนี้สาธารณะและกองทุน โดยช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความเร็วในการดำเนินการ นอกจากนี้การปล่อยกู้ที่มี RWA เป็นหลักประกัน และ Stablecoin ที่มี RWA หนุนหลัง ยังช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่องและเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับผู้ใช้งานด้วย
นวัตกรรมในด้าน RWA ยังรวมถึงการทำ Tokenization หนี้ภาคเอกชน ซึ่งช่วยเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยและ SMEs รวมทั้งการพัฒนาแพลตฟอร์ม AI-FI ที่ใช้ประโยชน์จากพลังการประมวลผลของ GPU สำหรับงานด้าน AI และอื่นๆ โครงการอย่าง StakeUp ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการสร้าง Stablecoin ที่มีหลักประกันเป็นสินทรัพย์ในโลกแห่งความเป็นจริง และสามารถทำงานร่วมกับระบบ DeFi อื่นๆ ได้อย่างไร้รอยต่อ การพัฒนาเหล่านี้กำลังสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงบริการทางการเงินในยุคดิจิทัล
จิรัฏฐ์ บุญสูง Senior Venture Associate, Varys Capital (ซ้าย) และ ชยธร เต็มนิธิกุล Senior Associate, ICO Initiatives & Capital Markets, Investment Banking and Tokenization, Token X (ขวา)
ในส่วนของประเทศไทยกำลังพัฒนากฎระเบียบและนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโตของ RWA
- ยกเลิกข้อจำกัดการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยในโครงการ ICO ที่มีอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐานเป็นสินทรัพย์อ้างอิง
- การอนุญาตให้กองทุน ESG ลงทุนในโทเคนที่อิงกับโครงการสีเขียว
- พิจารณาและกำกับดูแลโทเคนการลงทุนภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แทน พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล ในปัจจุบัน
- การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับโทเคนการลงทุนและการซื้อ-ขายคริปโตเคอร์เรนซี
*บทความนี้เป็นบทความสรุปเนื้อหาเพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้ชวนลงทุน
**สินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดทำความเข้าใจและศึกษาลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน และลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้