×

Together Festival รายการท่องเที่ยวของเบลกับกันต์ และเรื่องที่เรียนรู้กันระหว่างเดินทาง

14.01.2019
  • LOADING...

แม้ว่าทุกวันนี้รายการท่องเที่ยวออนไลน์จะมีให้คลิกดูแทบทุกวัน แต่ เบล-สุพล พัวศิริรักษ์ และ กันต์ ชุณหวัตร เชื่อว่ายังมีพื้นที่ใหม่ๆ ให้พวกเขาได้ลองทำ ทั้งสองคนจึงลงมือลงแรงด้วยตัวเอง ผลิตรายการท่องเที่ยว Together Festival รายการที่จะพาผู้ชมไปเที่ยวตามเทศกาลต่างๆ ทั่วโลก

 

แน่นอนว่าทุกการเดินทางย่อมมีก้าวแรก และเทศกาลดอกไม้ไฟริมแม่น้ำสุมิดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ได้กลายเป็นทริปเริ่มต้นซึ่งมาพร้อมคำถามมากมายระหว่างเดินทางว่าพวกเขาควรจะปะติดปะต่อการเดินทางครั้งนี้อย่างไรให้ผู้ชมรู้สึกอินและสนุกเหมือนอย่างที่พวกเขารู้สึกอยู่ในเวลานั้น

 

ทำไมคุณสองคนถึงยังเชื่อว่า ‘การเดินทางจะให้ความหมายกับชีวิต’ อยู่

เบล​: จริงๆ เป็นคนชอบเดินทางท่องเที่ยวอยู่แล้วครับ คิดว่าหลายคนก็คงเป็นเหมือนกัน แต่ด้วยความที่เราเองอยากไปทริปแบบนี้ อยากไปเทศกาลแบบนี้ และเที่ยวกันสไตล์นี้อยู่แล้ว ก็เลยรู้สึกว่าทำเป็นรายการไปด้วยเลย บวกกับที่เราสองคนเคยทำรายการ Hangover Thailand ด้วยกันมา ใจเราคิดถึงการทำรายการท่องเที่ยวแบบนี้อยู่ตลอด เพราะพอเราเห็นผลลัพธ์ที่มันออกมาก็รู้สึกว่าการที่เราไปเที่ยวอย่างที่เป็นเราจริงๆ และมีอะไรมาบันทึกไว้ เราก็รู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ สด ใหม่ และคาดเดาอะไรไม่ได้ มันคือความเรียลที่มีเสน่ห์ เราประทับใจสิ่งนี้และเก็บไว้อยู่ในใจตลอด จนคิดว่าวันหนึ่งถ้าจังหวะเวลาชีวิตลงตัว เราอยากทำสิ่งนี้ จนวันนี้ทุกอย่างลงตัว เลยชวนกันต์กลับมาทำด้วยกันอีกครั้ง

 

กันต์: เกือบ 10 ปีที่ผมเริ่มสนใจการเดินทางอย่างจริงจังตั้งแต่ทริปแรกใน Hangover Thailand แต่ถึงวันนี้ผมยังตื่นเต้นทุกครั้ง แม้จะเป็นที่ที่เราเคยไป แต่เพราะบรรยากาศรอบตัวที่มันไม่เหมือนเดิม มันไม่รู้เลยว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเข้ามาอีก มันน่าสนุกไปหมด และที่สำคัญพอกลับมาจากการเดินทาง มันพิสูจน์แล้วว่าเรามีอะไรติดตัวกลับมาเสมอ วิธีคิด มุมมองต่างๆ หรือการเจอคนใหม่ๆ มันทำให้โลกเราค่อยๆ กว้างขึ้น เราเห็นตัวเอง เข้าใจคนอื่น แล้วยิ่งเข้าใจโลกนี้มากขึ้นทุกครั้งที่เราเดินทางกลับมา เราเลยอยากนำเสนอสิ่งนี้ให้ทุกคนได้เห็น

 

บางคนอาจรู้สึกว่าอยากเก็บเงินก่อนแล้วค่อยเดินทาง แต่ผมอยากให้แบ่งส่วนหนึ่งไว้สำหรับการเดินทาง มันไม่เสียหายนะ เพราะสิ่งที่คุณได้กลับมามันคุ้มมากกับการที่คุณเอามาสานต่องาน ได้พักผ่อน และได้เห็นอะไรใหม่ๆ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มันเลยทำให้ผมเชื่อว่าอะไรๆ มันดีขึ้นทุกครั้งที่เรากลับมาจากการเดินทาง

 

เหตุการณ์หรือประสบการณ์ครั้งไหนทำให้คุณเชื่อว่าการเดินทางสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเราได้จริงๆ

กันต์: จริงๆ แทบทุกครั้ง หลังกลับจากการเดินทางแล้วมันมีอะไรเข้ามาในตัว แต่ถ้าจะให้เห็นภาพชัดๆ มันมีครั้งหนึ่งที่ผมรู้สึกหลงทางมาก ผมเจอปัญหาหลายอย่าง ทั้งเรียนจบใหม่ๆ แล้วต้องทำงานร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีแล้วชีวิตการเรียนที่เราจะเอามาอ้าง เราต้องเจอชีวิตจริงที่ต้องรับผิดชอบค่าน้ำค่าไฟเอง ประกันก็ต้องจ่าย เป็นอีกสเตปที่จะมาอ้างว่าเป็นเด็กก็ไม่ได้แล้ว มันรู้สึกสับสนแบบหนักข้อมาก ทำอะไรไม่ถูก

 

กระทั่งวันหนึ่งมีคนมาบอกว่า ‘มึงไปพักก่อนดีกว่า’ เราก็เลยตัดสินใจออกเดินทางคนเดียว แล้วพอเรากลับมา ทุกอย่างที่รู้สึกว่าหนักหนามากมันก็ค่อยๆ เบาลง มันไม่ได้เบาเพราะปัญหาถูกแก้นะครับ แต่มันเบาเพราะเราออกไปมองเห็น

 

การอยู่ที่เดียวแล้วตื่นมาทำงานซ้ำๆ เป็นลูป ตอนนั้นรู้สึกว่าปัญหาของกูนี่แหละคือที่สุดแล้ว แต่พอเราได้ออกไปข้างนอก คนอื่นเขามีปัญหามากมายแบบทุกซอกทุกมุม คนเก็บตั๋วรถไฟ หรือคนทำสวนทำนาเขาก็มีปัญหาของเขา ปัญหาของเราไม่ได้ใหญ่โตอะไรหรอก แค่เราอยู่กับตัวเอง เรามองแต่ปัญหาว่ามันคือปัญหา เราเลยไม่เห็นวิธีแก้ปัญหา การเดินทางมันทำให้เราได้มอง ได้เห็น ได้ทบทวน ได้เข้าใจ แล้วพอเรากลับมาก็ค่อยๆ แก้ปัญหาทีละอย่างจนค่อยๆ ดีขึ้น

 

เบล​: เราเองไม่เคยเครียดถึงขนาดจะต้องออกไปเดินทาง เพราะทุกครั้งที่มีปัญหา เราพยายามจะแก้ไขให้ดีที่สุดก่อน เพราะเป็นคนที่ถ้าหอบปัญหาไปเที่ยว มันจะพาเราจมไปมากกว่าเดิม ที่ผ่านมาเราเลยออกเดินทางเพราะอยากเจอสิ่งใหม่ๆ ไปในที่ที่เราไม่เคยไป ได้อยู่ในที่สวยๆ บางครั้งเราหาข้อมูล เห็นภาพแล้วเราอยากไปสัมผัสความรู้สึกนั้นด้วยตัวเอง

 

แต่ถ้าให้นึกสักทริปที่รู้สึกเติมเต็มหรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราจะนึกถึงสองทริป ก่อนหน้านั้นเราไปขับรถรอบไอซ์แลนด์ ซึ่งใช้เวลาขับรถเยอะมาก และช่วงเวลาที่อยู่นิ่งๆ กับแลนด์สเคปที่เกิดมาแล้วไม่เคยเห็น มันทำให้เราประทับใจแบบ ‘…นี่คือโลกหรือเปล่าวะ’ เรารู้สึกว่าโลกมันมหัศจรรย์มากเลย อยากพาตัวเองออกไปสัมผัสธรรมชาติที่มันพิเศษแบบนี้ มันไม่เหมือนที่ไหนในโลก โลกนี้มันยิ่งใหญ่ และเราตัวเล็กมากจริงๆ ข้างในตัวเรามันตกตะกอนอะไรบางอย่าง ครั้งนั้นมันเลยรู้สึกว่าเราเองควรออกห่างจากอะไรที่พาให้เราออกไปจากเหตุการณ์ตรงหน้าอย่างโซเชียลหรืออะไรพวกนี้

 

อีกทริปคือไปดำน้ำกับพวกพี่ย้ง (ทรงยศ สุขมากอนันต์) ทริปนั้นกันต์ก็ไป ตอนนั้นดำน้ำอยู่บนเรือกัน 5 วัน ไม่ได้เข้าฝั่งเลย ตอนแรกก็กังวลว่าจะเบื่อหรือเปล่า เพราะแน่นอนว่ามันไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ แต่พอวันแรกผ่านไป เราเริ่มรู้สึกถึงความสุขที่บอกไม่ถูก มันคือความสุขที่เราไม่ต้องมากังวลว่ากูจะโพสต์อะไรดีวะ พอไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ มันทำให้เราลืมไปเลยว่าใครจะไปไหนหรือทำอะไร มีคนตามงานหรือเปล่า เหมือนเราทิ้งโลกไว้ข้างหลังแป๊บหนึ่งแล้วได้พักผ่อนจริงๆ ครั้งนั้นมันทำให้รู้สึกว่าการเดินทางไปในที่ที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มันก็ดีเหมือนกัน

 

ด้วยสถานการณ์ตอนนั้นมันทำให้เรารักการดำน้ำมากขึ้น ซึ่งจริงๆ ก็รักมันอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าพอประกอบกับการที่อยู่บนเรือแล้วได้หากิจกรรมทำกันตอนไม่มีสัญญาณ เล่นบอร์ดเกมกัน บางคนก็นอนฟังเพลง หรือหาเรื่องมาคุยกัน ทุกคนมีเวลาได้อยู่กับตัวเอง

 

 

ทำไมถึงเลือกทำรายการท่องเที่ยวออนไลน์ ทั้งที่ก็รู้ว่ามันคือสมรภูมิที่มีผู้เล่นมากมายในตอนนี้

กันต์: เริ่มจากพี่เบลชวนครับ แล้วเขาก็เล่าธีมที่เขาคิดคือ Together Festival ซึ่งเป็นการเที่ยวตามเทศกาล ช่วงนั้นเราก็เบรกจากการทำรายการมาสักพัก ประกอบกับเราก็ชอบเดินทางอยู่แล้ว เลยอยากลองทำดู แต่สิ่งที่กังวลก็คือรายการท่องเที่ยวมันคือที่ที่ทุกคนอยากกระโดดลงมาในสนามรบแห่งนี้ ทุกคนอยากเที่ยวและอยากได้เงินครับ มันเลยเป็นสมรภูมิที่โหดมาก เราสองคนเลยมานั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไร

 

จริงอยู่ที่ธีม Together Festival ของพี่เบลมีความแข็งแรงด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว แต่เราคิดว่ามันยังไม่พอ มันต้องมีอย่างอื่นอีก เพราะรายการท่องเที่ยวที่มันมีอยู่ตอนนี้มันฮิตมาก ที่เป็น Vlog ก็เยอะ แถมคนก็ดูเยอะ

 

พอมานั่งวิเคราะห์กันแล้วก็ได้คำตอบว่าเพราะมันอาจจะดูง่าย เร็ว กระชับ เราเลยปรับจากรายการทีวีให้มันกระชับลง แล้วเหมือนได้พาคนดูไปด้วย แทบจะไม่มีจัมป์คัตกระโดดเลย พอสรุปทั้งหมดได้แล้วเราก็คิดว่าต้องลองดูว่ะ เราเลยออกไปถ่ายเลยโดยที่ไม่ได้คิดด้วยซ้ำว่าจะต้องขายอะไรอย่างไร

 

เบล: เรื่องของเรื่องเราเคยทำรายการรสชาติประมาณนี้ แล้วรู้สึกว่าเสน่ห์ของการทำรายการกึ่งเรียลิตี้แบบนี้ทำให้คนดูได้ร่วมเดินทางกับเราไปด้วย เราอยากเล่าด้วยจังหวะในแบบของเรา ซึ่งมันเป็นตัวเรามากกว่า

 

การเดินทางในรายการของเรามันคือการซึมซับบรรยากาศบางอย่างและได้ร่วมเดินทางไปพร้อมกันจริงๆ เราไม่อยากทำรายการท่องเที่ยวที่เป็นรายการทีวี อันนี้ต้องให้เครดิตพี่ย้งตอนที่ได้ทำ Hangover Thailand แล้วเรารู้สึกว่าเราชอบวิธีการแบบนี้ มันอาจจะเหนื่อย ถ่ายมาแล้วฟุตเทจเยอะไปหมด แถมยังต้องมาโพสต์โปรดักชัน แต่เรารู้สึกว่ามันคือวิธีที่เราชอบ แล้วอยากเอาวิธีการเหล่านี้กลับมาใช้อีกครั้งใน Together Festival

 

 

แล้วทำไมถึงต้องเป็น Together Festival

เบล: ทีแรกเราไม่ได้คิดว่าจะต้องต่างจากคนอื่น แต่พอย้อนกลับมาที่ตัวเอง เราอยากไปเฟสติวัล ตอนแรกเราอยากไปมิวสิกเฟสติวัลล้วนๆ แต่คิดไปคิดมาแล้วต้องน่าเบื่อแน่เลย เลยถอยกลับมาดูว่าในโลกนี้มันมีเทศกาลอีกตั้งมากมายที่เราอยากไป เราเลยเอาอันนี้แหละ เพราะถ้ารายการมันเป็นเรียลิตี้ มันก็ควรจะเป็นทริปที่ออกมาจากความรู้สึกเรา เราอยากไปจริงๆ เหมือนไปเที่ยวกันเอง แต่ทำทริปให้มันกระชับขึ้น แล้วก็มีกล้องตามถ่าย ทุกที่คือที่ที่อยากไป อยากเห็น

 

กันต์: เหมือนเราไปเที่ยวกับเพื่อนเลยครับ แค่แพลนเยอะขึ้น ขยันขึ้น แต่ทั้งหมดมันเริ่มจากความอยากไป

 

เบล: ถึงรายการท่องเที่ยวมันจะมีเยอะ แต่ผมว่าต่อให้ไปในสถานที่เดียวกันก็จะเล่าออกมาคนละแบบ และประสบการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นตอนเดินทางมันมีเสน่ห์มาก ไม่ว่ามันจะดีหรือไม่ดี แม้แต่ใน Together Festival ทริปแรก มันก็มีเหตุการณ์ระหว่างถ่ายทำที่เรารู้สึกว่ามันเป็นปัญหายิ่งใหญ่ระดับฉิบหายมากมาย แต่พอสุดท้ายเราบันทึกมันไว้แล้วถ่ายทอดออกมาในรูปแบบรายการ เราเลยรู้สึกว่า เฮ้ย นี่แหละมันคือชีวิต มันคือการเดินทางที่เราจะต้องไปเจอกับอะไรไม่รู้

 

บางทีเราไปถ่ายรายการ เราแพลนมาแล้วล่ะว่า 1-10 ต้องทำอะไรบ้าง เพราะอยากให้มันราบรื่น แต่พอเกิดอุปสรรคขึ้นมา ตอนแรกก็ช็อก แต่สุดท้ายเราก็เรียนรู้ว่ามันคือเสน่ห์ของทุกๆ อย่าง เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าเดี๋ยวเราจะเจออะไร

 

กันต์: ยิ่งเป็นรายการเรียลิตี้มันยิ่งเอื้อ เพราะการเดินทางทริปหนึ่ง ขั้นต่ำเราจะเจอความฉิบหาย 2-3 อย่างอยู่แล้ว

 

เบล: อีพีแรกนี่ก็มาเลยครับ ข่าวจาก THE STANDARD นี่แหละบอกว่าตอนนั้นญี่ปุ่นร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งก็คือวันแรกที่เราถึงญี่ปุ่น เลยเลือกที่จะไปทะเล เพราะรู้สึกว่าไหนๆ กูร้อนแล้วก็ไม่อยากมาร้อนกลางชิบูย่า อากาศร้อนมากครับ แต่น้ำเย็น ถอดเสื้อผ้าปุ๊บ เดินลงไปจนถึงประมาณเอว ปรากฏว่าได้ยินเสียงเป่านกหวีดปรี๊ด ปิดหาดตอน 4 โมงเย็น! แดดยังเปรี้ยงอยู่เลย แต่ที่พีกสุดคือวันเทศกาลดอกไม้ไฟที่เราตั้งใจไปมีไต้ฝุ่นเข้า ซึ่งก่อนหน้านั้นฝนตกหนักมาตลอด เราก็ลุ้นว่าถึงเวลามันคงหยุด จนเราไปถึงงานก็ไม่เจอคนสักคน ปรากฏว่าเขาประกาศเลื่อน แต่มันคือไต้ฝุ่นไง ไม่ใช่ฝนตก ทั้งลมทั้งฝนโหดมาก ไม่มีทรงที่จะหยุดพรุ่งนี้

 

กันต์: ความเลวร้ายคือมันมีแค่สองทาง คือเลื่อนจากวันนี้ไปจุดวันพรุ่งนี้ กับอีกทางหนึ่งคือไม่จุดเลย

 

เบล: แล้วกูถ่ายรายการมา 8 วันแล้ว (หัวเราะ)

 

กันต์: ช่วงนั้นคือสนิทกับเครื่องกดเบียร์กระป๋องเลย เครียดมาก

 

เบล: ตอนนั้นแพลนว่าจะจบรายการแบบเศร้าๆ ไปเลยด้วยการไปซื้อพลุที่ร้านดองกี้แล้วมาจุดริมน้ำ

 

กันต์: ตอนนั้นคือดูพยากรณ์อากาศทุกครึ่งชั่วโมงว่ามันจะเปลี่ยนตอนไหน มันเป็นการดูที่ลุ้นที่สุด แล้วก็เข้าไปดูในเว็บไซต์รัวๆ ว่าจะจุดหรือเปล่า แต่โชคดีที่วันรุ่งขึ้นตื่นมาแล้ว เฮ้ย ไต้ฝุ่นมันหายไปไหนวะ มันร้อนเลย

 

 

ทำไมพวกคุณถึงเชื่อในการไปด้วยกัน

เบล: ที่ผมชวนกันต์เพราะตั้งแต่ทำ Hangover Thailand มันมีเคมีของความเข้ากันได้และความต่างบางอย่าง รายการมันต้องการสิ่งเหล่านี้ เราโตกว่า มันอายุน้อยกว่า มันเลยมีมุมมองสองแบบอยู่ในรายการ ซึ่งก็เป็นเรื่องดี แต่หลักๆ แล้วเราเลือกคนที่อยู่ด้วยกันได้ และทำรายการด้วยกันแล้วออกมาสนุก

 

กันต์: ส่วนผมเองไม่ค่อยชอบเที่ยวเป็นกลุ่มใหญ่ๆ อยู่แล้ว ผมชอบเที่ยวไม่เกิน 4 คน เพราะจะไม่ค่อยมีปัญหา พอเป็นกลุ่มใหญ่แล้วมันไม่คล่องตัว แต่ถ้าหลายคนแล้วเคมีตรงกันมันก็คงเป็นเรื่องสนุก แต่บังเอิญมันไม่ได้หากันง่ายขนาดนั้น

 

ตอนทำ Hangover Thailand ทั้งสองคนทำหน้าที่เป็นคนนำเที่ยว แต่สำหรับ Together Festival ที่คุณลงมือทำเองแทบทุกอย่าง ความรู้สึกมันต่างกันอย่างไร

เบล: มันมีหลายเรื่องที่เราไม่รู้แล้วเราเรียนรู้ก่อนไปทำ ได้เรียนรู้ระหว่างทำ ได้เรียนรู้หลังทำ มันมีขั้นตอนที่เรานึกไม่ถึงเยอะมาก ทำไมมันเหนื่อยอย่างนี้วะ แต่สุดท้ายเราก็รู้สึกว่าโชคดีที่ตัดสินใจทำ มันมีหลายครั้งเหมือนกันที่เหนื่อยแล้วถามตัวเองว่า ‘หาเรื่องหรือเปล่าวะ’ หรือว่าเราทำมันไม่ได้เพราะรายละเอียดมันเยอะมากแบบถ้าไม่มาทำเองจะไม่มีวันรู้เลย

 

กันต์: เราดูทุกอย่างเลยตั้งแต่แพลนทริป หาทีมงาน คือทุกอย่างจริงๆ เอาง่ายๆ ว่าไม่มีคนช่วยเลย ทำกันสองคนร้อยเปอร์เซ็นต์

 

เบล: ไปถึงปุ๊บก็วางแผนการถ่าย สวัสดิการ เงินกอง แจกน้ำ แจกข้าว หาคนตัดต่อ คุมตัดต่อ หาคนออกแบบโลโก้ ทำสกอร์ใหม่ ทำเพจ ติดต่อยูทูบ ซึ่งในแต่ละขั้นตอนก็ยุบยิบมาก ยังไม่รวมเปิดบัญชีบริษัท จดทะเบียนบริษัท โพสต์เฟซบุ๊ก เขียนแคปชันเอง เลือกรูป ทำภาพเปิด ขายโฆษณา พบลูกค้า แบกคอมพิวเตอร์ไปพรีเซนต์ คิดแพ็กเกจเอง

 

กันต์: เอาคอมฯ ไปพรีเซนต์ขึ้นจอแม่งต้องเสียบรูไหนวะ

 

เบล: ไม่คิดว่าเราจะมาถึงจุดที่ต้องหอบรายการไปขายเอเจนซี ขายลูกค้ากันเอง บวกกับสิ่งที่เราต้องรับผิดชอบพาร์ตอื่นๆ ของชีวิต กันต์ยังต้องทำสำนักพิมพ์ เรายังมีงานร้องเพลง แล้วยิ่งเราเป็นคนจัดการอะไรได้ไม่ดีมาก แต่สุดท้ายมันคือการฝึกว่าวันๆ หนึ่งเราทำเป็น 10 อย่างก็ได้เว้ย เพราะยังไงมันก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรอยู่แล้ว สมมติความเหนื่อยแลกกับการอยู่เฉยๆ เราเลือกที่จะลองเหนื่อยดูก่อน มันอาจจะทำให้ตัวเราเปลี่ยนแปลงก็ได้

 

เท่ากับว่ารายละเอียดต่างๆ ระหว่างการทำรายการยังสอนอะไรพวกคุณอีกหลายอย่าง

กันต์: มันไม่เชิงสอนหรอกครับ แต่มันกลับมาให้เราคิดทบทวนหลายอย่างว่าอะไรก็ตามถ้าเริ่มจากจุดเริ่มต้น มันไม่มีอะไรง่าย หลายคนที่เขาทำๆ กันมา ไม่มีหรอกที่เขาจะฟลุก เขาคิดกันมาแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะทำรายการออนไลน์หรือขายข้าวแกง เขาคิดมาดีแล้วแล้วค่อยปล่อยออกไป ผมว่ามันแทบไม่มีพื้นที่ให้คนที่รอดวงหรือรอความฟลุก มันคือคนที่ตั้งใจ เงื้อมาจากบ้าน คิดมาแล้ว แล้วลงมือทำเท่านั้น

 

เบล: บางทีเราเห็นแต่ภาพความสำเร็จหรือในวันที่ผลงานเขาสำเร็จออกมาแล้ว เราไม่มีทางรู้หรอกว่าตั้งแต่วันแรกจนถึงวันที่เราเห็นงานเขา เขาต้องทำอะไรมาบ้างจนมาถึงตรงนี้ มันทำให้เราเรียนรู้ว่า อ๋อ โอเค มันไม่มีอะไรง่าย แต่ก็ไม่มีอะไรยากเกินกว่า ถ้าเราจะทำขึ้นมาเองมันก็ทำได้ เพียงแต่ไม่ได้ง่ายอย่างที่เราคิดตอนแรกเท่านั้นเอง มันต้องทุ่มเทกว่าที่จะได้มันมา ถ้าพร้อมที่จะทุ่มเทให้มันได้จริงๆ ก็ทำมันเลย

 

 

คุณพูดในรายการอยู่เสมอว่าจุดหมายปลายทางไม่สำคัญเท่าเรื่องระหว่างทาง มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ใช่ไหม

เบล: มันคือสิ่งที่เราเรียนรู้จากการทำรายการท่องเที่ยวกับการใช้ชีวิตนั่นแหละว่าปลายทางชีวิตมันก็คือความตาย อยากรีบไปไหมล่ะ ก็ไม่ ฉะนั้นชีวิตเราคือระหว่างทางทั้งหมด แล้วถ้าเปรียบเทียบกับการเดินทาง เรื่องราวที่เกิดขึ้นล้วนเกิดขึ้นระหว่างทาง เราไม่ได้โฟกัสว่าเราจะขึ้นไปบนยอดเขาแล้วตะโกนว่า เฮ่! แล้วรีบกลับบ้าน ไม่มีหรอก เพราะในความเป็นจริงเราโฟกัสที่เรื่องระหว่างทาง แล้วชีวิตมันก็เป็นอย่างนั้น ทำทุกเรื่องและทุกโมเมนต์ให้มันมีความสุข หรือหาความสวยงามของทุกๆ วันให้เจอ ถึงแม้มันจะเป็นเรื่องที่แย่ แค่เราอยู่ให้ได้กับทุกๆ วัน

 

กันต์: ผมว่าระหว่างทางสำคัญไม่แพ้กับปลายทางเลย ในการเดินทาง ถ้าเราตั้งเป้าว่าจะไปที่หนึ่งแล้วเราก็วาร์ปไปถึงปลายทางเลย มันก็คงรู้สึกแปลกๆ ที่ไม่มีเรื่องระหว่างทาง มันคงไม่สนุก ผมว่าระหว่างทางนี่แหละคือความสนุกที่ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตหรือเป็นการเดินทาง ระหว่างเราอาจจะเจอที่แห่งใหม่ๆ ที่เราชอบมาก เราอาจจะเจอเรื่องราวระหว่างทางเยอะมาก ทุกครั้งที่ไม่ว่าผมจะไปทำงานหรือถ่ายรายการ ผมจะเจอเรื่องระหว่างทางที่มาเซอร์ไพรส์เราว่า ‘เชี่ย อันนี้ดี’ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่ปลายทาง ระหว่างทางมันคือรายละเอียดปลีกย่อยที่ยิ่งทำให้ปลายทางมีความหมาย ถ้าไม่มีระหว่างทาง ปลายทางอาจไม่มีความหมายมากมายก็ได้

 

แล้วชีวิตระหว่างทางของคุณตอนนี้มีความสุขไหม

กันต์: ก็สนุกดีครับ เหมือนเรากำลังพยายามในสิ่งที่เราอยากทำ สนุกและชอบ เราก็ทำไปอย่างเต็มที่ก่อน

เบล: ระหว่างทางตอนนี้มีความสุขมากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ ก่อนหน้านี้เรายังรู้สึกกังวลกับหลายเรื่อง แต่ตอนนี้มันคลี่คลายขึ้นเยอะ อะไรไกลๆ ที่เราเคยกลัวหรือกังวล เคยคิดว่าต้องวางแผน สุดท้ายมันกลับกลายเป็นว่าเราเอาตรงนี้ให้ราบรื่นและมีความสุขก่อน ตอนนี้เลยไม่มีอะไรรีบร้อนเท่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราแค่ทำทุกอย่างให้มันดี พอใจ รักและมีความสุขกับมันจริงๆ แทนที่จะต้องรีบหรือเร่งมัน

 

ภาพ: วรรษมน ไตรยศักดา, รายการ Together Festival

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X