×

สรท. หั่นเป้าส่งออกไทยปีนี้เป็นติดลบ 10% หวั่นเศรษฐกิจโลกทรุด-บาทแข็งกดดัน

โดย efinanceThai
08.07.2020
  • LOADING...

สรท. หั่นเป้าส่งออกไทยปีนี้เป็นติดลบ 10% เหตุโควิด-19 กระทบอุปสงค์จากต่างประเทศชะลอ หวั่นบาทแข็งค่า-ค่าระวางและน้ำมันพุ่งกระทบส่งออก แนะรัฐเร่งยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท

  

กัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยในการแถลงข่าวตัวเลขการส่งออกเดือนพฤษภาคม 2563 ว่าการส่งออกเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมามีมูลค่า 16,278 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 22.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

   

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 13,583 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 34.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 2,694 ล้านดอลลาร์ ด้าน 5 เดือนแรกของปีพบส่งออกไทยติดลบ 3.71% และนำเข้าติดลบ 11.64% ส่งผลให้ดุลการค้า 5 เดือนเกินดุล 9,090 ล้านดอลลาร์

   

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ สรท. ปรับประมาณการส่งออกของไทยปีนี้ติดลบ 10% บนสมมติฐานค่าเงินบาทที่ 31 บาทต่อดอลลาร์

   

สำหรับปัจจัยบวกที่มีต่อการส่งออกคือการส่งออกในกลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูปและอาหาร และสินค้ากลุ่มเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป และอาหารกระป๋องแปรรูป เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้าอาหารเพื่อดำรงชีพช่วงกักตัว

   

ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นอุปสรรคสำคัญคือ  

  1. Global Economic Slowdown ซึ่งการหดตัวของอุปสงค์จากคู่ค้าต่างประเทศและอุปทานการผลิตภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบและอาจถึงขั้นต้องปิดกิจการ

    ทั้งนี้ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกซึ่งมีโอกาสกลับมาระบาดรอบสองได้ และการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ของประเทศคู่ค้า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจและการค้าทั่วโลกอีกครั้ง

   

  1. ปัญหา International Logistics เช่น อัตราค่าระวางปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเส้นทางสหรัฐฯ จากอุปสงค์การส่งออกไปยังเส้นทางทรานส์แปซิฟิกที่เพิ่มขึ้น สายเรือของไทยได้ Space Allocation ลดลง เนื่องจากมีการให้สเปซไปยังจีนมากกว่า เพราะสามารถทำราคาได้สูงกว่า รวมถึงยังมีความเสี่ยงจากการจัดการโลจิสติกส์ในประเทศปลายทางจากมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลต่อค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

 

  1. ความเสี่ยงการได้รับชำระเงินค่าสินค้าระหว่างประเทศของผู้ประกอบการส่งออกจากการชำระเงินล่าช้าหรือไม่ชำระเงินของคู่ค้าเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 บางประเทศออกกฎเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศของตน ส่งผลกระทบซ้ำเติมในการดำเนินธุรกิจ

   

  1. ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนสุทธิในตลาดพันธบัตรและตลาดทุน ประกอบกับการอ่อนค่าของดอลลาร์จากแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจ

   

  1. ค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันในตลาดโลกต่ำกว่าปี 2562 จากการชะลอตัวของอุปสงค์ใช้น้ำมันทั่วโลก ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 แม้ว่าจะมีการลดกำลังการผลิตน้ำมัน 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

   

  1. ปัญหาภัยแล้งภายในประเทศส่งผลกระทบอย่างมากต่อปริมาณอุปทานในสินค้าเกษตรที่ออกสู่ตลาดน้อยลงและคุณภาพของสินค้าลดลง เนื่องจากความเสียหายจากภัยแล้ง

   

ด้านข้อเสนอแนะของ สรท. ประกอบด้วยการสนับสนุนยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและการจัดการโลจิสติกส์ ผลักดันข้อตกลงทางการค้าต่างๆ ทั้งความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (TFA) รวมถึงการเจรจาการค้าเสรี (FTA)

   

รวมถึงการดำเนินมาตรการช่วยเหลือด้านประกันสังคมทั้งนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ลดและยกเว้นอากรขาเข้าเพื่อส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับการผลิต และลดภาระค่าขนส่งโลจิสติกส์ทั้งภายในและระหว่างประเทศ

   

นอกจากนี้ยังเสนอให้พิจารณาการลงทุนเฉพาะโครงการที่มีผลตอบแทนคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ กำหนดนโยบายการเก็บภาษีตามขั้นบันไดสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทให้อยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์ รวมถึงการเร่งหามาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ที่เหมาะสม

   

กัณญภัคกล่าวว่าภาครัฐจะต้องเร่งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน การพิจารณาการเปิดเสรีการขนส่งและโลจิสติกส์ และบังคับใช้ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกันการเอาเปรียบจากผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศต่อผู้นำเข้า-ส่งออก รวมถึงการผลักดันการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการค้าในอนุภูมิภาคและภูมิภาค เป็นต้น

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

รายงาน: ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์ 

เรียบเรียง: สุรเมธี มณีสุโข 

ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่: www.efinancethai.com  

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising