×
SCB Omnibus Fund 2024

สรท. แนะผู้ส่งออกฉวยจังหวะบาทอ่อนเร่งทำยอดขาย ขณะที่ ส.อ.ท. ห่วงต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบพุ่ง-ซ้ำเติมเงินเฟ้อ

11.07.2022
  • LOADING...
สรท.

สรท. แนะผู้ส่งออกฉวยจังหวะบาทอ่อนเร่งทำยอดขายโดยปรับเครดิตเทอมให้สั้นลงเพื่อลดความเสี่ยงค่าเงินผันผวน ขณะที่ ส.อ.ท. ห่วงต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบพุ่งกระทบกลุ่มผู้ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศ-ซ้ำเติมเงินเฟ้อ

 

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ประเมินว่า การอ่อนค่าของเงินบาทที่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 6 ปี จะส่งผลบวกต่อภาคส่งออกของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการส่งออกหมวดสินค้าเกษตรที่ล่าสุดขยายตัวได้ถึง 26% คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมก็จะได้อานิสงส์จากความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่ดีขึ้นไปด้วยเช่นกัน

 

“ถ้าเปรียบเทียบเงินบาทกับสกุลเงินของประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย เวียดนาม จะเห็นว่าบาทอ่อนมากกว่า ซึ่งตรงนี้ถือเป็นโบนัสของการส่งออก ผมจึงอยากให้ผู้ประกอบการฉกฉวยจังหวะนี้เร่งขายให้เร็ว แต่ก็ต้องระวังเรื่องการชำระเงินด้วย เครดิตเทอมที่เคยให้ตกลงกันไว้กับผู้ซื้ออาจต้องสั้นลงเพื่อลดความเสี่ยงด้านความผันผวนของค่าเงิน” ชัยชาญกล่าว

 

ชัยชาญยอมรับว่า แม้เงินบาทที่อ่อนค่าจะเป็นผลบวกต่อภาคการส่งออก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็จะสร้างแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นต่อปัญหาเงินเฟ้อและต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบของภาคการผลิตเช่นกัน เห็นได้จากการขาดดุลการค้าในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา จึงมองว่าระดับของเงินบาทที่เหมาะสมในเวลานี้คือ 35 บาทต่อดอลลาร์

 

สำหรับประเด็นข้อเรียกร้องของแรงงานที่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างให้สอดคล้องกับภาวะเงินเฟ้อ ชัยชาญระบุว่า โดยส่วนตัวยังอยากให้ชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อน เพราะหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างในภาวะปัจจุบันจะยิ่งซ้ำเติมต้นทุนของผู้ประกอบการเข้าไปอีก แต่หากจำเป็นต้องขึ้นจริงๆ ก็อยากให้อยู่ในระดับเดียวกับเงินเฟ้อไปก่อน

 

ด้าน เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้สถานการณ์ค่าเงินบาทในเวลานี้จะเอื้อต่อภาคส่งออกและท่องเที่ยวของไทย แต่ต้องไม่ลืมว่าเงินเฟ้อไทยในเดือนล่าสุดออกมาที่ 7.66% ซึ่งถือว่าสูงมาก โดยปัจจุบันไทยมีการนำเข้าน้ำมันสูงถึงเดือนละ 9 แสนบาร์เรล และนำเข้าก๊าซธรรมชาติอีก 30% ของปริมาณการใช้ ดังนั้นยิ่งเงินบาทอ่อนค่า ต้นทุนการนำเข้าพลังงานก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อยิ่งเร่งตัว

 

ขณะเดียวกัน เงินบาทที่อ่อนยังส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบของทุกอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะมีอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากและน้อยต่างกันไป โดยในกรณีของผู้ประกอบการที่นำเข้ามาผลิตเพื่อส่งออกผลกระทบจะไม่รุนแรงเพราะส่งผ่านต้นทุนได้ แต่ในกรณีของผู้ประกอบการที่นำเข้ามาผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ผลกระทบจะรุนแรง

 

“ตัวอย่างที่เราเห็นชัดๆ ตอนนี้คือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ต้นทุนวัตถุดิบอย่างข้าวสาลีเพิ่มสูงขึ้นไปมากแล้ว แต่ยังไม่สามารถปรับราคาขายได้” ประธาน ส.อ.ท. กล่าว

 

เกรียงไกรกล่าวอีกว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านอัตราแลกเปลี่ยนจำเป็นต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการดูแลความผันผวนในช่วงนี้ หาสูตรหรือสมการเพื่อหาจุดสมดุลไม่ให้อ่อนค่ามากจนเกินไป

 

“ประมาณ 2 ปีที่แล้ว เรามีปัญหาเงินบาทแข็งค่าสุดในภูมิภาค ตอนนั้นผู้ส่งออกเรียกร้องว่าระดับเงินบาทที่เหมาะสมและช่วยให้เขาแข่งขันกับคู่แข่งได้คือ 33 บาทต่อดอลลาร์ แต่ตอนนี้บาทอยู่ที่ 36 และถ้าปล่อยไหลต่อไปก็อาจแตะ 37 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่กลับข้างกัน การดูแลเงินบาทให้มีความเหมาะสมในตอนนี้ไม่ใช่โจทย์ที่ง่าย แต่ก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ” เกรียงไกรกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising