กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเตือนเรื่อง พายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบตั้งแต่วันที่ 21-22 มีนาคม 2564) ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 20 มีนาคม 2564
โดยประเทศไทยจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงฟ้าผ่า โดยจะมีผลกระทบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคใต้ตอนบน ตามลำดับ
กรมอุตุนิยมวิทยาจึงขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณาและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรง สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
โดยจะมีผลกระทบดังนี้ วันที่ 21 มีนาคม 2564
- ภาคเหนือ: จังหวัดน่าน, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก, พิจิตร และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย, หนองคาย, บึงกาฬ, หนองบัวลำภู, อุดรธานี, สกลนคร, นครพนม, มุกดาหาร, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด, ยโสธร, อำนาจเจริญ, อุบลราชธานี, ศรีสะเกษ, สุรินทร์, บุรีรัมย์, นครราชสีมา, ชัยภูมิ, ขอนแก่น และมหาสารคาม
- ภาคกลาง: จังหวัดลพบุรี และสระบุรี
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด
วันที่ 22 มีนาคม 2564
- ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่, เชียงราย, ลำพูน, ลำปาง, พะเยา, แพร่, น่าน, อุตรดิตถ์, ตาก, สุโขทัย, พิษณุโลก, พิจิตร, กำแพงเชร และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย, ชัยภูมิ, นครราชสีมา และบุรีรัมย์
- ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, ลพบุรี, สระบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, สุพรรณบุรี, กาญจนบุรี, ราชบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร
ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงระลอกใหม่จากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล