×

รวมไม่ใช่ควบรวม TMB ลงนามกับธนชาต เตรียมเปลี่ยนชื่อใหม่ ขึ้นแท่นอันดับ 6 ธนาคารพาณิชย์

27.02.2019
  • LOADING...

ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 26 ก.พ. ธนาคารได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายร่วมกับธนาคารธนชาต ING Groep N.V. (ING) บมจ. ทุนธนชาต และ The Bank of Nova Scotia (BNS) เพื่อกำหนดกรอบความเข้าใจและหลักการสำหรับการเจรจาร่วมกันเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการรวมกิจการระหว่างธนาคารเพื่อร่วมดำเนินธุรกิจธนาคารด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้น


จากรายละเอียดข้างต้น หลังจากการรวมกิจการแล้ว ธนาคารจะมีสินทรัพย์รวมที่ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยด้วยฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจต่างประเมินว่าธนาคารทหารไทยหรือ TMB มีจุดแข็งด้านเงินฝาก ขณะที่ธนาคารธนชาตโดดเด่นเรื่องสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ เมื่อรวมกิจการแล้วจึงจะช่วยระดมเงินฝากจากฐานลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และมีโครงสร้างสินเชื่อที่ดีขึ้น

 

สำหรับช่วงก่อนการรวมกิจการ ธนาคารธนชาตจะปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยจะโอนบริษัทในเครือและบริษัทที่เกี่ยวข้องบางส่วนทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ถือหุ้นปัจจุบัน นั่นคือฝั่งธนาคารธนชาต เมื่อการปรับโครงสร้างดังกล่าวแล้วเสร็จ คาดว่าจะรวมกิจการด้วยวิธีการโอนกิจการทั้งหมดเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติบุคคลเดียวตามกฎสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ (Single Presence Rule) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  

 

เมื่อการรวมกิจการเสร็จสมบูรณ์ กลุ่ม ING จะเป็นผู้ถือหุ้นหลักเช่นเดียวกันกับธนชาต โดยที่แต่ละรายจะมีสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า 20% คาดว่ากระทรวงการคลังจะคงสถานะผู้ถือหุ้น และมูลค่าตลาดรวมของหลักทรัพย์ (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีสภาพคล่อง

 

ขั้นตอนต่อไปจากนี้คือการตรวจสอบสถานะการเงิน (Due Diligence) และเตรียมการเจรจาตกลงเกี่ยวกับสัญญาหลัก ซึ่งเงื่อนไขหลักที่เกี่ยวข้องจะรวมถึงการได้รับอนุญาตจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง การได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้น การได้รับความยินยอมจากบุคคลที่สาม การปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยคาดว่าการรวมกิจการจะแล้วเสร็จภายในปี 2562 นี้ และจะเปลี่ยนชื่อธนาคารเป็นชื่อใหม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะใช้ชื่ออะไร

 

 

ทั้งนี้ ก่อนการรวมกิจการได้มีการพิจารณาว่า เมื่อมีการลงนามในสัญญาหลัก (Definitive Agreement) TBANK จะดำเนินการปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยจะเสนอขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยและเงินลงทุนอื่น ทั้งในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมิได้เป็นบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้มีความเหมาะสมกับจุดประสงค์ของการรวมกิจการ โดยคาดว่า บริษัท หลักทรัพย์ธนชาต จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนชาตประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัทบริหารสินทรัพย์ ที เอส จำกัด และ บริษัท ราชธานีลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) รวมถึงเงินลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปทุมไรซมิล แอนด์ แกรนารี จำกัด (มหาชน) และเงินลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์บางบริษัทจะถูกเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ ทุนธนชาต และ/หรือ BNS และ/หรือ ผู้ถือหุ้นรายย่อย ขณะที่ TMB นั้น จะเป็นฝ่ายดำเนินการจัดหาเงินทุน มูลค่าประมาณ 1.30-1.40 แสนล้านบาท ทั้งนี้ประมาณ 70% ของเงินทุนที่ต้องจัดหาทั้งหมดนั้น จะมาจากการออกหุ้นเพิ่มทุน และส่วนที่เหลือจะดำเนินการจัดหาด้วยการออกตราสารหนี้

 

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้เป็นเพียงข้อตกลงในการเจรจาเบื้องต้นแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย อาจเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังการทำ Due Diligence ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมจะมีการแจ้งให้ทราบเมื่อมีการลงนามในสัญญาหลักต่อไป โดยที่ลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคารจะยังคงสามารถทำธุรกรรมกับแต่ละธนาคารผ่านช่องทางบริการที่ใช้อยู่เป็นประจำได้ตามปกติ ทั้งที่สาขา และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:  

  • ธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK)
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising