×

กรณีศึกษา TMB-ธนชาต การควบรวมแบงก์ผสานทีมผู้บริหารอย่างไร

31.01.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • แผนการควบรวมธนาคารทหารไทย-ธนชาตคืบหน้า มั่นใจรวมหนึ่งธนาคาร หนึ่งทีมบริหาร ภายในกลางปี 2564 
  • เปิดตัว ‘ทีมผู้บริหารระดับสูง’ ของธนาคารใหม่ ผสมผสานทั้งผู้บริหารจากธนาคารทหารไทยและธนชาต

ปี 2562 ที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ธุรกิจการเงินคงหนีไม่พ้นการควบรวมระหว่างธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต ที่หากรวมธนาคารเสร็จสิ้นในช่วงกลางปี 2564 จะกลายเป็นธนาคารหนึ่งเดียวกัน และมีฐานลูกค้ากว่า 10 ล้านคน ซึ่งการควบรวมจะต้องหลอมทั้งทีมบริหารและพนักงานทั้งหมดเข้าด้วยกัน

 

ทั้งนี้ การควบรวมสองธนาคารต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีอีกหลายเฟสเพื่อให้ลูกค้าคุ้นเคย โดยผู้นำใหญ่ของ ‘ธนาคารใหม่’ ที่จะเกิดขึ้นยังเป็น ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ธนาคารทหารไทย (TMB) ผู้บริหารดั้งเดิมจากฝั่ง TMB ที่ย้ำว่า การควบรวมครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเป็นที่ 1 ด้านทรัพย์สิน แต่จะเป็นหนึ่งในดวงใจของลูกค้า ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีมาร่วมทำงานกับคน และตอบสนองลูกค้าในลักษณะปัจเจกบุคคลมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม การผสานสองธนาคารให้เป็นหนึ่งเดียวเริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 ส่วนปี 2563 จะมีความคืบหน้า ได้แก่

 

  • ตั้งแต่เดือนมกราคมจะมีทีมบริหารระดับสูงเพียง 1 ทีม ที่มีทั้งผู้บริหารจากทั้งสองธนาคาร 
  • Co-Location หรือการปรับสาขาในพื้นที่ต่างๆ รวม 100 สาขา ผ่านการปรับเปลี่ยนที่ตั้ง ยุบ หรือย้ายสาขามารวมบนพื้นที่สาขาเดียวกัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • การรวมบริการ หรือฟีเจอร์ของทั้งสองธนาคารมาอยู่บนแพลตฟอร์มโมบายล์แบงก์กิ้ง TMB Touch เช่น ฟีเจอร์บนโมบายล์แบงก์กิ้ง T-Connect ของธนชาต ซึ่งเมื่อรวมทั้งสองธนาคารจะมีฐานลูกค้าโมบายล์แบงก์กิ้งกว่า 4 ล้านราย 

 

 

จากซ้ายไปขวา มารี แรมลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมลูกค้ารายย่อย, ป้อมเพชร รสานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์, ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่, ปิติ ตัณฑเกษม ซีอีโอ, อนุวัติร์ เหลืองทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย, เสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ  

 

ส่วนรายละเอียดของทีมบริหารระดับสูงในธนาคารใหม่นี้ นอกจาก ปิติ ตัณฑเกษม มาเป็นซีอีโอแล้ว ยังมีมือดีจากธนาคารธนชาต ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ มาดำรงตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย จากก่อนหน้านี้ที่ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารธนชาต

 

ขณะที่ฝั่งธุรกิจรายย่อย ซึ่งเป็นธุรกิจที่ทั้งสองธนาคารพยายามขยายงาน ก็มี อนุวัติร์ เหลืองทวีกุล เข้ารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้ารายย่อย ซึ่งเดิมเป็นตำแหน่งของ มารี แรมลี ที่โยกย้ายมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารนวัตกรรมลูกค้ารายย่อยในทีมบริหารใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในหน้าที่หลักเพื่อพัฒนา Digital Banking ของธนาคาร 

 

อนุวัติร์กล่าวว่า หลังการควบรวมกันแล้ว ธนาคารใหม่จะมีจุดเด่นทั้งสินเชื่อบ้านที่เป็นอันดับ 3 ของตลาด และเป็นผู้นำสินเชื่อลีสซิง ซึ่งหลังจากนี้ธนาคารจะต้องให้ข้อมูลเข้าถึงและใกล้เคียงกันทุกช่องทางบริการ ตั้งแต่จำนวนสาขารวม 800-900 สาขา ตู้เอทีเอ็ม 4,700 ตู้ นอกจากนี้ต้องใช้ข้อมูลมาพัฒนาเครื่องมือการขายให้ตอบโจทย์ลูกค้า 

 

 

ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย เดิมดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารธนชาต

 

ฝั่งลูกค้าธุรกิจมีแม่ทัพหลักเป็น เสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ เป็นผู้บริหารเดิมจาก TMB โดยจะต่อยอดกลยุทธ์ในปัจจุบันที่การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูล (Data-Driven Strategy) ใช้ข้อมูลมาทำให้การบริการเร็วขึ้น สะดวกขึ้น และเป็นรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น

 

ส่วนสินเชื่อลีสซิงที่ธนาคารธนชาตเป็นเจ้าใหญ่ของตลาดมี ป้อมเพชร รสานนท์ มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารใหม่ โดยก่อนหน้านี้อยู่ที่ธนาคารธนชาตในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการธุรกิจสินเชื่อรถยนต์

 

ขณะที่การควบรวมธนาคารต้องผสานวัฒนธรรมองค์กรและพนักงานเกือบหมื่นคน มี วิจิตรา ธรรมโพธิทอง มารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นคนจากธนาคารธนชาต และสุดท้าย กาญจนา โรจวทัญญู มาดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาด จากก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร ธนาคารทหารไทย

สุดท้ายแล้ว ปี 2563 ยังมีความท้าทายหลายอย่าง ทั้งปัจจัยต่างประเทศและการเติบโตของเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง การควบรวมธนาคารอาจเป็นทางออกให้ธนาคารเสริมจุดแข็งกันและกัน 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising