เปิด 7 ข้อควรรู้ก่อนจองซื้อหุ้น บมจ.ไทยประกันชีวิต หรือ TLI สำรวจพบจุดเด่นคือเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ต่างชาติและสถาบันให้ความสนใจสูง ทำให้ความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องหมุนเวียนอาจมากกว่าหุ้นอื่น
จังหวะนี้ ประเด็นร้อนของฝั่งตลาดหุ้นไทยหนีไม่พ้นการเสนอขายหุ้น IPO ของประกันยักษ์ใหญ่ของไทยอย่าง บมจ.ไทยประกันชีวิต หรือ TLI ซึ่งจะเปิดให้จองซื้อหุ้นตั้งแต่วันนี้ (29 มิถุนายน) – 6 กรกฎาคมนี้ THE STANDARD WEALTH จึงรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน ดังนี้
1. ธุรกิจหลักและการเติบโตของผลประกอบการ
TLI ดำเนินธุรกิจประกันชีวิตที่ครบวงจร ทั้งด้านการคุ้มครองชีวิต คุ้มครองสุขภาพ การออม การลงทุน และการวางแผนมรดก แบ่งเป็น 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย
- ประกันชีวิตประเภทสามัญ (Basic Ordinary Life Insurance) ได้แก่ แบบสะสมทรัพย์ (Endowment) แบบตลอดชีพ แบบชั่วระยะเวลา และแบบเงินได้ประจำหรือแบบบำนาญ
- ประกันชีวิตประเภทควบการลงทุน (Investment-Linked) ได้แก่ แบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์ และแบบยูนิต ลิงค์
- ประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรม (Industrial Life Insurance)
- ประกันชีวิตประเภทกลุ่ม (Group Life Insurance)
- ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident)
- สัญญาเพิ่มเติม (Riders)
จุดเด่นของ TLI คือการมีช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลายและครอบคลุมทั่วประเทศไทย อาทิ ตัวแทนประกันชีวิตกว่า 64,000 ราย ขายผ่านพันธมิตรที่มีทั้งธนาคารพาณิชย์ ธนาคารและองค์กรของรัฐ บริษัทลีสซิ่งและเช่าซื้อ และบริษัทสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค รวมถึงช่องทางผลิตภัณฑ์ผ่านทางโทรศัพท์ และ E-Commerce อีกด้วย
โดยผลประกอบการที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
- ปี 2562 รายได้รวม 108,388 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,777 ล้านบาท
- ปี 2563 รายได้รวม 107,642 ล้านบาท กำไรสุทธิ 7,692 ล้านบาท
- ปี 2564 รายได้รวม 109,246 ล้านบาท กำไรสุทธิ 8,393 ล้านบาท
- ไตรมาส 1/64 รายได้รวม 25,198 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,307 ล้านบาท
- ไตรมาส 1/64 รายได้รวม 25,954 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,793 ล้านบาท
เป็นที่สังเกตได้ว่ากำไรสุทธิในปี 2564 ซึ่งเป็นปีที่มีการแพร่ระบาดของโควิดอย่างหนัก TLI ยังมีกำไรเพิ่มขึ้น 9% ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 1/65 กำไรสุทธิก็เพิ่มขึ้น 15%YoY ซึ่งสะท้อนถึงการเติบโตท่ามกลางความเสี่ยงได้เป็นอย่างดี
2. ความเสี่ยงหลัก 4 ด้าน
TLI มีความเสี่ยงหลักอยู่ 4 ด้าน ประกอบด้วย
- ความเสี่ยงเกี่ยวกับธุรกิจและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งมีค่อนข้างหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด พอร์ตลงทุนที่กระจุกตัวในสินทรัพย์บางประเภท การเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบและการกำกับดูแลของภาพรวมอุตสาหกรรม กลยุทธ์ธุรกิจผิดพลาด การขาดแคลนทรัพยากรบุคคล เป็นต้น
- ความเสี่ยงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่บริษัทประกอบกิจการอยู่ เช่น การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของสภาวะเศรษฐกิจโดยทั่วไป แนวโน้มด้านประชากรศาสตร์ หรือการลดลงของความนิยมของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดในอุตสาหกรรมผันผวนตามฤดูกาล การเปลี่ยนแปลงในทางลบต่อกฎหมายภาษีที่ใช้บังคับหรือการตีความกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการบัญชี
- ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของบริษัทในต่างประเทศ
- ความเสี่ยงเกี่ยวกับหุ้นสามัญที่เสนอขายและการเสนอขายในครั้งนี้ เช่น ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อาจยังคงมีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อการบริหารจัดการ บริษัทอาจไม่สามารถจ่ายเงินปันผล หรืออาจตัดสินใจไม่จ่ายเงินปันผล หากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ขายหุ้นของบริษัทเป็นจำนวนมากในอนาคต อาจทำให้ราคาหุ้นของบริษัทอาจลดลงได้
3. กลุ่ม ‘ไชยวรรณ’ กุมหุ้นใหญ่ 66% หลัง IPO
โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TLI แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
- กลุ่มไชยวรรณ รวมถือหุ้น 84.7%
- กลุ่ม Meiji Yasuda Life Insurance บริษัทประกันรายใหญ่จากญี่ปุ่น รวมถือหุ้น 15%
และภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 2,207.3 ล้านหุ้น โครงสร้างผู้ถือหุ้นจะเปลี่ยนเป็น
- กลุ่มไชยวรรณ รวมถือหุ้น 66.5%
- กลุ่ม Meiji Yasuda Life Insurance รวมถือหุ้น 15%
- ประชาชนทั่วไป 18.5%
จากงานแถลงแผนการเสนอขายหุ้น IPO และการเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเร็วๆ นี้ ตัวแทนกลุ่มไชยวรรณยืนยันว่าจะรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ เช่นเดียวกับกลุ่ม Meiji Yasuda Life Insurance ที่แจ้งประสงค์จะรักษาสัดส่วนการถือหุ้นที่ 15% ด้วยการจองซื้อหุ้นสามัญที่ IPO จำนวนหนึ่งเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้น
4. TLI ได้รับเงิน 13,600 ล้านบาท
TLI เสนอขาย IPO มีจำนวนไม่เกิน 2,155.068 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 20.2% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดภายหลังการ IPO ในครั้งนี้ มาจาก
- หุ้นสามัญเพิ่มทุนโดย TLI จำนวนไม่เกิน 850 ล้านหุ้น
- หุ้นสามัญเดิมโดยบริษัท วี.ซี. สมบัติ จำกัด จำนวนไม่เกิน 1,166.57 ล้านหุ้น
- หุ้นสามัญเดิมโดย Her Sing (H.K.) Limited จำนวนไม่เกิน 138.49 ล้านหุ้น
และอาจมีการพิจารณาจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Option หรือ Greenshoe) อีกจำนวนไม่เกิน 161.63 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 7.5% ของจำนวนหุ้นที่เสนอขายทั้งหมด เพื่อเพื่อนำเงินไปใช้ในการรักษาระดับราคาหุ้น (Stabilization) ในช่วง 30 วันแรกหลังหุ้นของ TLI เข้าซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อช่วยลดความผันผวนของราคาหุ้น
โดย TLI กำหนดราคาเสนอขายหุ้นละ 16 บาท ส่งผลให้บริษัทได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 13,600 ล้านบาท หรือคิดเป็น 36% ของมูลค่าเสนอขายหุ้นทั้งหมด ที่ 37,067 ล้านบาท
5. กำหนดราคา IPO ด้วยวิธี Embedded Value
สำหรับธุรกิจประกันชีวิต การประเมินมูลค่าของบริษัทด้วยอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio: P/E) จะไม่สะท้อนถึงมูลค่ายุติธรรมของบริษัท เนื่องจากไม่สะท้อนถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจจากกระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับจากกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี
TLI กำหนดราคาเสนอขายหุ้น IPO ที่ 16 บาทต่อหุ้น หากพิจารณามูลค่าพื้นฐานของกิจการ (Embedded Value) ของบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 เท่ากับ 142,277.3 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดจำนวน 10,600 ล้านหุ้น จะได้มูลค่าพื้นฐานของกิจการต่อหุ้น (Embedded Value Per Share) เท่ากับ 13.42 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาต่อมูลค่าพื้นฐานของกิจการ (Price to Embedded Value Ratio: P/EV) 1.19 เท่า
และหากพิจารณาจากส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 ซึ่งเท่ากับ 85,909.63 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดจำนวน 11,450 ล้านหุ้น (Fully Diluted) (บนสมมติฐานว่ามีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งจำนวน 850,000,000 หุ้น) จะได้มูลค่าตามบัญชีสุทธิต่อหุ้น (Book Value Per Share) เท่ากับ 7.50 บาทต่อหุ้น และอัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value Ratio: P/BV) ประมาณ 2.13 เท่า
6. เสี่ยง ‘ฟรีโฟลทต่ำ’ หากสถาบันกอดหุ้นแน่น
สำหรับการเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 2,155.06 ล้านหุ้นนั้น TLI จัดสรรหุ้นดังนี้
- ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็น Cornerstone Investors ที่จองซื้อในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 1,158.359 ล้านหุ้น หรือ 53.8%
- ผู้ลงทุนสถาบันที่จองซื้อในประเทศและต่างต่างประเทศ (Institutional Bookbuild) จำนวน 128.849 ล้านหุ้น หรือ 6%
- บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบริษัท (รวม Meiji Yasuda Life Insurance Company) จำนวน 129.832 ล้านหุ้น หรือ 6%
- พนักงานของบริษัท จำนวน 33.654 ล้านหุ้น หรือ 1.6%
- บุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำนหน่ายหลักทรัพย์ จำนวน 704.375 ล้านหุ้น หรือ 28.7%
ซึ่งบ่งชี้ว่าจะมีหุ้นที่ถูกจัดสรรให้กับนักลงทุนทั่วไปที่เป็นลูกค้าโบรกเกอร์พันธมิตร 13 ราย เพียง 704.375 ล้านหุ้นเท่านั้น ขณะที่มีหุ้นอยู่ในมือนักลงทุนสถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 1,287.208 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่านักลงทุนสถาบันมักจะเข้าลงทุนแบบระยะยาว
7. มาร์เก็ตแคป ‘ใหญ่สุด’ ในกลุ่มประกัน
TLI มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ณ ราคา IPO อยู่ที่ 183,200 ล้านบาท ซึ่งใหญ่สุดในหุ้นหมวดประกันภัยและประกันชีวิต
โดย ณ วันที่ 27 มิถุนายน หุ้นประกันที่มาร์เก็ตแคปใหญ่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
- BLA มีมาร์เก็ตแคป 70,437.10 ล้านบาท
- TIPH มีมาร์เก็ตแคป 37,886.14 ล้านบาท
- TQM มีมาร์เก็ตแคป 29,100.00 ล้านบาท
- BKI มีมาร์เก็ตแคป 28,640.43 ล้านบาท
- AYUD มีมาร์เก็ตแคป 16,933.11 ล้านบาท
และหากเทียบกับมาร์เก็ตแคปหุ้นทั้งตลาด ณ วันที่ 27 มิถุยนายน มาร์เก็ตแคปของ TLI ใหญ่เป็นอันดับที่ 27
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP