×

เรารู้อะไรบ้างเกี่ยวกับเหตุเรือดำน้ำสำรวจซาก Titanic หายสาบสูญใต้ทะเลลึก

20.06.2023
  • LOADING...
เรือดำน้ำ Titan

เรื่องราวของเรือยักษ์ ‘Titanic’ ตำนานการเดินทางที่โลกไม่มีวันลืมแม้กาลเวลาจะผ่านมากว่าร้อยปี ได้กลับมาเป็นที่สนใจของโลกอีกครั้งในช่วงไม่กี่วันนี้ เมื่อเรือดำน้ำที่พานักท่องเที่ยวดำดิ่งสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อชมซากเรือยักษ์อันเป็นตำนานเกิดหายไปอย่างไร้ร่องรอยเมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 มิถุนายน) ส่งผลให้ทีมกู้ภัยต้องเร่งทำงานแข่งกับเวลา เพราะคาดว่าออกซิเจนของนักท่องเที่ยวและคนบนเรือดังกล่าวเหลืออยู่สำหรับใช้ชีวิตได้อีกเพียงแค่ประมาณถึงวันพฤหัสบดีนี้ (22 มิถุนายน) เท่านั้น

 

สื่อต่างประเทศรายงานว่า เรือวิจัย Polar Prince ขาดการติดต่อกับลูกเรือของเรือดำน้ำ Titan หลังจากที่เรือลำดังกล่าวดำดิ่งลงใต้ผิวน้ำเป็นเวลาราว 1 ชั่วโมง 45 นาที ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยยามฝั่งสหรัฐอเมริกาประเมินว่า เรือดำน้ำดังกล่าวจะมีออกซิเจนฉุกเฉินระหว่าง 70-96 ชั่วโมงเท่านั้น

 

ฉะนั้น ทุกๆ การขยับของเข็มวินาที คือโอกาสรอดชีวิตที่หดสั้นลงเรื่อยๆ ของลูกเรือ ขณะที่คนทั่วโลกต่างลุ้นเอาใจช่วยว่าจะมีปาฏิหาริย์ใต้ท้องทะเลลึก เพื่อพาให้ลูกเรือกลับขึ้นสู่ผิวน้ำได้อย่างปลอดภัย เพราะไม่มีใครอยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยดังเช่นการสูญเสียของ Titanic อีกแล้ว

 

OceanGate เจ้าของบริษัททัวร์ชมซากเรือ Titanic กล่าวว่า ทางบริษัทกำลังสำรวจทางเลือกทั้งหมดเพื่อช่วยเหลือให้ลูกเรือกลับมาได้อย่างปลอดภัย ขณะที่หน่วยงานของรัฐบาลได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือปฏิบัติการค้นหาครั้งนี้แล้ว

 

และนี่คือทุกสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับกรณีเรือสำรวจซาก Titanic สูญหายใต้ทะเลลึกในขณะนี้

 

  • เกิดอะไรขึ้นกับเรือดำน้ำ?

 

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น เรือวิจัย Polar Prince ได้เดินทางเหนือผิวน้ำไปยังจุดที่ใกล้กับที่ซากเรือ Titanic จมอยู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก โดย ฮามิช ฮาร์ดิง หนึ่งในผู้โดยสารที่ของเรือดำน้ำ Titan ได้โพสต์ข้อความลงบน Facebook ว่า เหล่าลูกเรือทั้งหมดจะเริ่มดำดิ่งลงสู่ก้นมหาสมุทรในช่วงเวลาประมาณ 04.00 น. ของวันดังกล่าว

 

แต่หลังจากนั้นเพียงประมาณ 1 ชั่วโมง 45 นาที ลูกเรือของเรือ Polar Prince ก็ขาดการติดต่อกับเรือ Titan ซึ่งได้พาลูกเรือ 5 คนลงใต้ผิวน้ำ โดยเจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่าในช่วงเวลาที่เรือดำน้ำขาดการติดต่อไปมันน่าจะอยู่ห่างจากแหลมเคปคอด รัฐแมสซาชูเซตส์ของสหรัฐฯ ราว 1,450 กิโลเมตร ขณะที่ พล.ร.ต. จอห์น เมาเกอร์ (John Mauger) แห่งหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ กล่าววานนี้ว่า การดำเนินการค้นหาในพื้นที่ห่างไกลเช่นนี้ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง

 

ปฏิบัติการค้นหาในครั้งนี้เป็นไปอย่างรอบคอบ โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการค้นหาใน 2 มิติด้วยกัน มิติแรกคือการค้นหาบนผิวน้ำ เผื่อเกิดกรณีที่เรือ Titan สามารถลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำได้ แต่อาจไม่สามารถติดต่อสื่อสารไปยังบริษัทต้นสังกัดหรือเรือ Polar Prince โดยหน่วยยามฝั่งได้ส่งเครื่องบิน C-130 Hercules จำนวน 2 ลำ เพื่อเปิดฉากปฏิบัติการค้นหาเหนือผิวน้ำเรียบร้อยแล้ว 

 

ส่วนอีกมิติหนึ่งคือการค้นหาใต้น้ำ โดยตอนนี้ได้มีการทิ้งทุ่นโซนาร์ที่สามารถตรวจสอบวัตถุใต้ทะเลได้ลึกกว่า 3,900 เมตร ซึ่งคาดว่าเพียงพอเมื่อเทียบกับระดับความลึกของซากเรือ Titanic ที่จมอยู่ที่ระดับ 3,800 เมตร

 

อย่างไรก็ดี พล.ร.ต. เมาเกอร์กล่าวว่า พวกเขาต้องการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเรือ Titan ในกรณีที่พบเรือจมอยู่ใต้น้ำ และขณะนี้ก็ได้ประสานงานไปขอความช่วยเหลือยังหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งกองทัพเรือสหรัฐฯ และหน่วยงานจากภาคเอกชนด้วย

 

ด้านแคนาดาได้ส่งเครื่องบิน C-130 และ P8 ที่มีศักยภาพด้านโซนาร์ใต้น้ำเข้าร่วมปฏิบัติการด้วย อีกทั้งยังได้ส่งเรือยามชายฝั่ง Kopit Hopson ออกปฏิบัติการค้นหา

 

ด้านบริษัท Horizon Maritime ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมของเรือ Polar Prince ยืนยันกับสำนักข่าว BBC ว่าเรือลำดังกล่าวก็อยู่ในปฏิบัติการช่วยเหลือด้วยเช่นกัน และทางบริษัทได้ส่งเรือลำที่สองอย่าง Horizon Arctic เข้าไปสมทบในจุดเกิดเหตุอีกแรงหนึ่งแล้ว

 

  • ใครอยู่บนเรือบ้าง?

 

ข้อมูลเท่าที่เราทราบตอนนี้คือมีลูกเรืออยู่ในเรือดำน้ำ Titan ทั้งหมด 5 คนด้วยกัน แต่มีเพียง 3 รายชื่อที่ได้รับการยืนยันว่าอยู่บนเรือจริง ได้แก่ ชาห์ซาดา ดาวูด (Shahzada Dawood) นักธุรกิจชาวปากีสถาน รวมถึงลูกชาย สุเลมาน ดาวูด (Suleman Dawood) และ ฮามิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) มหาเศรษฐีและนักสำรวจชาวอังกฤษวัย 59 ปี

 

รายงานระบุว่า ฮาร์ดิงได้ประกาศตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน 2022 ว่าเขาจะเข้าร่วมทริปเรือดำน้ำในครั้งนี้ อีกทั้งยังเผยด้วยว่าลูกเรือที่ไปกับเขานั้นรวมถึง ‘นักสำรวจระดับตำนาน’ อีก 2-3 คน ซึ่งบางคนนั้นเคยดำน้ำสำรวจ Titanic มาแล้วกว่า 30 ครั้งตั้งแต่ปี 1980

 

สำหรับฮาร์ดิงนั้น เขาเป็นที่รู้จักในฐานะประธานบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่าง Action Aviation ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายและการดำเนินงานในอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์ซึ่งตั้งอยู่ในนครดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดย Twitter ของ Action Aviation เปิดเผยเมื่อวันอาทิตย์ว่า เรือดำน้ำถูกปล่อยลงสู่ผิวน้ำแล้ว และ ‘ฮามิชกำลังอยู่ใต้น้ำ’

 

สำหรับสถานการณ์วานนี้ (19 มิถุนายน) หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ กล่าวว่า ยังไม่พร้อมที่จะยืนยันตัวตนของผู้ที่อยู่บนเรือ เนื่องจากต้องให้ความเคารพต่อครอบครัวของพวกเขา แต่สื่อคาดการณ์กันว่า นอกเหนือจาก 3 รายชื่อข้างต้นแล้ว พอล-เฮนรี นาร์โกเล็ต (Paul-Henry Nargeolet) นักสำรวจชาวฝรั่งเศส ก็น่าจะเป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่บนเรือลำดังกล่าว หากอ้างอิงจากโพสต์บน Facebook ของฮาร์ดิงก่อนหน้านี้ รวมถึง สต็อกตัน รัช (Stockton Rush) ผู้บริหารระดับสูงของ OceanGate

 

  • ค่าใช้จ่ายสำหรับทริปชม Titanic ใต้ทะเลอยู่ที่เท่าไร?

 

ทริปชมซาก Titanic ด้วยเรือดำน้ำ Titan ของบริษัท OceanGate Expeditions สนนราคาอยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์ หรือราว 8.7 ล้านบาท โดยทริปดังกล่าวจะใช้เวลาทั้งหมด 8 วันเพื่อชมซากเรืออันเป็นตำนานซึ่งจมอยู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกที่ระดับความลึก 3,800 เมตร 

 

จุดที่เรือจมอยู่นั้นอยู่ห่างจากชายฝั่งรัฐนิวฟันด์แลนด์ของแคนาดาประมาณ 600 กิโลเมตร และซากเรือหลักๆ จะกระจายอยู่ 2 จุดด้วยกัน โดยซากส่วนหัวเรือและท้ายเรือ Titanic จะอยู่ห่างจากกันประมาณ 800 เมตร ซึ่งในรัศมีโดยรอบนั้นก็จะมีเศษซากเรือขนาดใหญ่กระจายอยู่ด้วย 

 

ฉะนั้นแล้ว การจะดำดิ่งลงไปชมซากเรือให้ครบถ้วนทั้งหมดรวมถึงระยะเวลาขึ้นและลงจากผิวน้ำด้วยนั้นจะใช้เวลาราว 8 ชั่วโมงด้วยกัน ซึ่งการเดินทางแต่ละครั้งจะไม่ใช่แค่เพียงการเที่ยวชมเล่นๆ เท่านั้น แต่จะมีเป้าหมายทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงการศึกษาการสลายตัวของซากเรือด้วย ซึ่งทางบริษัทเพิ่งเปิดการดำน้ำในลักษณะนี้เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมานี้เอง

 

  • เรารู้อะไรเกี่ยวกับเรือดำน้ำ Titan?

 

Titan เป็นเรือดำน้ำที่รองรับลูกเรือได้ 5 คน สามารถดำลงไปที่ระดับความลึก 4,000 เมตร และเดินทางด้วยความเร็ว 3 นอต หรือประมาณ 5.6 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

 

นอกเหนือจากการพาลูกเรือไปชมซาก Titanic แล้ว Titan ยังใช้สำหรับการสำรวจและตรวจสอบ การวิจัยและรวบรวมข้อมูล การผลิตภาพยนตร์และสื่อ รวมถึงการทดสอบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ใต้ทะเลลึกด้วย

 

ข้อมูลจากบริษัทระบุว่า Titan ติดตั้งระบบไฟส่องสว่างและระบบโซนาร์ที่มีความล้ำสมัย รวมถึงอุปกรณ์ถ่ายภาพและวิดีโอใต้น้ำที่มีความคมชัดระดับ 4K อยู่ทั้งภายในและภายนอกตัวเรือ นอกจากนี้ยังมีระบบมอนิเตอร์ลำเรือแบบเรียลไทม์ด้วย โดยมีเซ็นเซอร์ที่ทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของแรงดันน้ำที่ระดับความลึกต่างๆ เพื่อประเมินความสมบูรณ์ของโครงสร้างเรืออยู่ตลอดเวลา และส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้าแก่ผู้ควบคุมเรือให้มีเวลาเพียงพอในการนำเรือขึ้นสู่ผิวน้ำอย่างปลอดภัย

 

  • ผู้เชี่ยวชาญมองอย่างไร?

 

เดวิด คอนแคนนอน (David Concannon) ที่ปรึกษาของ OceanGate เปิดเผยกับสำนักข่าว AP ว่า เรือ Titan จะมีออกซิเจนอยู่ราว 96 ชั่วโมงนับจากเวลาประมาณ 06.00 น. ของวันอาทิตย์ตามเวลาท้องถิ่น ซึ่งเขากล่าวด้วยว่า จริงๆ แล้วตนเองควรจะไปกับเรือดำน้ำดังกล่าว แต่ในที่สุดก็ไม่ได้ไปเนื่องจากติดลูกค้ารายอื่น

 

โดยในขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญกำลังพยายามส่งหุ่นยนต์ดำน้ำบังคับระยะไกลหรือ ROV ซึ่งสามารถดำลงไปได้ลึกถึง 6,000 เมตรเข้าไปยังจุดเกิดเหตุโดยเร็วที่สุด เพราะเรือดำน้ำกู้ภัยของสหรัฐฯ ไม่สามารถลงไปได้ลึกถึงขนาดนั้น แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่พื้นมหาสมุทรมีซากเรือไททานิกกระจัดกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องใช้เวลานานพอสมควรสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะแยกแยะภาพจากกล้องและระบบโซนาร์ของ ROV ว่าสิ่งใดคือซากเรือไททานิก และสิ่งใดคือเรือ Titan กันแน่

 

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า แม้ว่าจะพบ Titan อยู่ใต้น้ำ แต่การกู้เรือกลับมาอาจทำได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเรือเข้าไปพัวพันกับซากเรือไททานิคที่มีอายุถึง 111 ปี หรือตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ของไทย

 

“ใต้ทะเลในบริเวณนั้นมีซาก Titanic อยู่ทั่วไปหมด มันอันตรายมาก” แฟรงก์ โอเวน โอเอเอ็ม (Frank Owen OAM) เจ้าหน้าที่กองทัพเรือออสเตรเลียที่ปลดเกษียณแล้ว กล่าว

 

อลิสแตร์ เกร็ก (Alistair Greig) ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมทางทะเลแห่ง University College London กล่าวว่า หาก Titan ลงไปที่ก้นทะเลและไม่สามารถกลับขึ้นมาได้ด้วยตัวมันเอง ทางเลือก (ที่จะกู้เรือขึ้นมา) ก็มีจำกัดมาก”

 

“แม้ว่าเรือดำน้ำอาจยังคงมีสภาพสมบูรณ์ แต่ถ้ามันไปไกลเกินไหล่ทวีป โลกของเรามีเรือไม่กี่ลำที่สามารถลงไปได้ลึกขนาดนั้น และไม่ใช่นักดำน้ำอย่างแน่นอน”

 

ฉะนั้น โอกาสที่จะหาเรือดังกล่าวเจอใต้มหาสมุทรและกู้มันขึ้นมาจึงถือเป็นภารกิจสุดหิน โอกาสที่พอจะลุ้นได้อีกประการหนึ่งคือการที่มันลอยตัวขึ้นเหนือผิวน้ำ ซึ่งในกรณีนี้เกร็กกล่าวว่า โดยทั่วไปแล้วในกรณีฉุกเฉิน เช่น เครื่องยนต์พัง หรือการสื่อสารล้มเหลว เรือดำน้ำจะมีระบบ Drop Weight เพื่อช่วยพยุงให้ตัวมันเองลอยขึ้นสู่ผิวน้ำได้

 

ที่เหลือเราคงทำได้เพียงแค่ส่งกำลังใจและรอลุ้นว่า ‘ปาฏิหาริย์จะมีจริงหรือไม่’

 

ภาพ: ABACAPRESS.COM Via Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising