บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป หรือ TISCO แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลการดำเนินงานปี 2566 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 7,302.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78.54 ล้านบาท หรือ 1.1% จากปี 2565 ที่มีกำไรสุทธิ 7,224.07 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักมาจากการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ 8.6% อยู่ที่ 13,828.64 ล้านบาท ตามเงินให้สินเชื่อที่ 234,815.18 ล้านบาท ขยายตัว 7.2% แม้ว่าในปีนี้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นถึง 93.9% ตามทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในตลาด
ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยลดลงจากปี 2565 อยู่ที่ 5.92% ในปี 2566 ลงมาเป็น 5.61% และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin) ลดลงจาก 5.09% มาเป็น 5.04%
ประกอบกับการปรับอัตราเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) กลับสู่ระดับปกติที่ 0.46% ต่อปี ในส่วนของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลง 6.4% เนื่องจากการชะลอตัวของธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน โดยรายได้ค่านายหน้าจากการซื้อ-ขายหลักทรัพย์อ่อนตัวลง 16.5% จากตลาดทุนที่ผันผวนรุนแรง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน (FVTPL)
นอกจากนี้ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ฟื้นตัวช้ากว่าคาด โดยเฉพาะธุรกิจนายหน้าประกันภัยที่ชะลอตัวลงตามปริมาณการปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ลดลง อย่างไรก็ดี ธุรกิจจัดการกองทุนสามารถกลับมาขยายตัวได้ 5.4% เป็นผลมาจากทั้งค่าธรรมเนียมพื้นฐานที่เติบโตตามสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร รวมถึงการรับรู้ค่าธรรมเนียมตามผลประกอบการของธุรกิจจัดการกองทุน (Performance Fee)
สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.7% จากแผนการลงทุนระยะยาวเพื่อการขยายตัวของธุรกิจ ในขณะที่ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (ECL) ลดลงจากปีก่อนหน้า และอยู่ในระดับต่ำที่ 0.3% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย กำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน (Basic Earnings Per Share) สำหรับงวดปี 2566 เท่ากับ 9.12 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นจาก 9.02 บาทต่อหุ้นในปี 2565 และมีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) อยู่ที่ 17.1%
สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPLs) มีจำนวน 5,222.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.1% จากสิ้นปี 2565 และคิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ที่ 2.22% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจาก 2.09% เมื่อสิ้นปีก่อนหน้า ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากกลยุทธ์การขยายสินเชื่อไปในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูง ประกอบกับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนและค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของไตรมาส 4/66 บริษัทมีกำไร 1,781.66 ล้านบาท ลดลง 25.07 ล้านบาท หรือ 1.4% จากไตรมาส 4/65 สาเหตุหลักมาจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยอ่อนตัวลง 17% เนื่องมาจากธุรกิจที่เกี่ยวกับตลาดทุน ทั้งรายได้ค่านายหน้าซื้อ-ขายหลักทรัพย์ที่ลดลงและการรับรู้ผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงิน ประกอบกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงอ่อนแอ