×

“เหนื่อย แต่โคตรมีความสุข” เปิดใจ ‘หมูทอดเจ๊จง’ ทำข้าวกล่องให้หมอ พยาบาลวันละพันกล่อง

26.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ร้านหมูทอดเจ๊จง ออกมาประกาศตั้งแต่วันจันทร์ว่า ร้านของเธอจะรับอาสาทำข้าวกล่องให้โรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันบำราศนราดูร วันละ 1,200 กล่อง เพื่อส่งกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ในการสู้กับโรคระบาดโควิด-19
  • จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จงบอกว่า “ถึงจะเหนื่อยแค่ไหน แต่ก็มีความสุขมาก” ที่ได้ร่วมส่งกำลังใจกับทีมแพทย์ด้วยกำลังและความสามารถในการปรุงอาหารของเธอ
  • จงใจยังบอกอีกด้วยว่า ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ เช่นเดียวกันกับสถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ หากมองให้ดีก็จะเห็นบทเรียน และวิธีการปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตในครั้งต่อๆ ไปเช่นกัน

 

เหลือบดูนาฬิกาข้อมือก็พบว่าเป็นเวลาประมาณ 10.50 น. แล้ว 

 

เราเดินทางมาถึง ‘ร้านหมูทอดเจ๊จง’ ร้านขายอาหารริมทางชื่อดังย่านพระราม 4 ตามการนัดแนะกับลูกจ้างของร้านที่บอกเราว่า “เจ๊น่าจะพอว่างช่วงนั้นพอดี”

 

หมูทอดเจ๊จงเป็นที่เลื่องชื่อลือชาในด้านความอร่อยและความคุ้มค่าของ ‘ข้าวหน้าหมูทอด’ พร้อมท็อปปิ้งสารพันชนิดที่มีให้เลือกตั้งแต่ ไส้กรอกทอด กุนเชียง หมูฝอย เบคอน ตับ ไปจนถึงแฮม ฯลฯ จึงทำให้ถูกปากคนไทยจำนวนไม่น้อย

 

 

 

วันนี้ก็เช่นกัน แม้ภายในร้านจะเก็บเก้าอี้และโต๊ะออกไปเพื่อให้ลูกค้าสั่งอาหารกลับไปรับประทานที่บ้านทั้งหมดแล้ว ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่บรรยากาศตัวร้านก็ยังคงคึกคักเหมือนเช่นเคย โดยเฉพาะพนักงานจากแอปฯ สั่งอาหารจำนวนมากที่เดินทางมาต่อคิวรอรับอาหาร

 

แต่ประเด็นที่เราให้ความสนใจจนต้องเดินทางมาหาเจ๊จงถึงถิ่น เริ่มต้นมาจากการที่ เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จง ได้ออกมาประกาศผ่านหน้าเพจเฟซบุ๊กwww.facebook.com/JehJong/ ว่า ร้านของเธอจะรับอาสาทำข้าวกล่องให้กับโรงพยาบาลราชวิถี และสถาบันบำราศนราดูร วันละ 1,200 กล่อง เริ่มตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในกำลังใจที่ส่งต่อไปให้ยังบุคลากรทางการแพทย์ในการสู้กับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

 

 

ช่วยเหลือเพราะใจรัก พร้อมให้เพราะสุขใจ

จงใจย้อนเล่าความหลังให้เราฟังว่า ตั้งแต่ช่วงที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมเมื่อราว 8 ปีที่แล้ว ร้านของเธอมักชอบออกไปช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับความลำบาก ด้วยความที่เธอมีนิสัยชอบเป็น ‘ผู้ให้’ โดยไม่หวังผลตอบแทนอยู่แล้ว 

 

“บังเอิญเมื่อเดือนที่แล้ว พี่หนุ่ย-ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ผู้ใหญ่ที่รักเจ๊และครอบครัว ช่วงหลังมานี้ เขาเริ่มเห็นว่าเราเหมือนจะเริ่มว่างงาน ลูกโตมาช่วยทำอาหารกันหมดแล้ว ก็เลยมาชวนไปเข้าโครงการ Chef for Chance ซึ่งเป็นโครงการที่ชวนเชฟออกไปช่วยเหลือตามสถานที่ต่างๆ โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์​ เราเดินทางเข้าไปสอนอาชีพให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ จังหวัดจันทบุรี เพราะเราอยากให้ผู้ต้องหามีความมั่นใจหลังจากที่ออกมาจากเรือนจำ 

 

“จนมาถึงโครงการนี้ พี่หนุ่ยโทรมาถามเราเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า เราพอจะทำข้าวกล่องไปให้หมอกับพยาบาลวันละ 1,200 กล่องได้ไหม? ตอนนั้นได้ไม่ได้ไม่รู้ แต่เราตอบไปเลยว่า ‘ได้ค่ะ’ คือตื่นเต้นเลย เพราะจริงๆ แล้วใจเจ๊อยากออกไปตั้งแต่แรกแล้ว (ทำข้าวกล่องให้หมอและพยาบาล) แต่สถานการณ์ตอนนี้มันคือเรื่องของ ‘เชื้อโรค’ ถ้าเราไปสุ่มสี่สุ่มห้า มันกลายเป็นว่าเราไปแพร่เชื้อ ไม่เหมือนสมัยน้ำท่วมที่เราจะเข้าไปแจกตรงไหนก็ได้ที่เขาเดือดร้อน”

 

จงใจเล่าต่อว่า หลังจากตัดสินใจว่าจะร่วมทำข้าวกล่องส่งเป็นกำลังใจให้กับหมอและพยาบาล เธอจึงประชุมกับลูกๆ ผ่าน LINE กลุ่มครอบครัวเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งโดยสรุปแล้ว การทำข้าวหน้าหมูทอดของเธอวันละ 1,200 กล่อง คาดว่าจะต้องใช้ค่าใช้จ่ายตกวันละประมาณ 30,000 บาท

 

 

คนไทยใจดีมีน้ำใจ ใครๆ ก็เต็มใจให้ความช่วยเหลือ

วันแรกที่จงใจเริ่มทำข้าวกล่องให้กับทีมแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลราชวิถีและสถาบันบำราศนราดูรนั้น เธอบอกว่าเธอเริ่มต้นลงมือทำด้วยกำลังและทุนทรัพย์ของตัวเอง 

 

แต่ด้วยความเป็นห่วง ลูกๆ ของเธอก็ถามว่าเธอจะไหวหรือเปล่าที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจำนวนกว่า 30,000 บาทต่อไปในระยะยาว

 

“ตอนนั้นเรายังไม่ได้เปิดรับการสมทบทุนหรือการช่วยเหลือจากสปอนเซอร์ใดๆ ทั้งสิ้น ลูกๆ ก็ถามว่าแล้วแม่จะไหวเหรอ? เราก็บอกว่าเอาเท่าที่เราไหว ถ้าถึงวันไหนเราไม่ไหวแล้วก็หยุดทำ แต่เจ๊เชื่อว่า คนใจดีเยอะมาก คนไทยใจดี แล้วมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

 

 

“วันแรกที่เจ๊ทำแล้วโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กไป ผลปรากฏว่า หูเจ๊แทบดับ เพราะมีคนโทรมาหาอยากร่วมสมทบทุนเยอะมาก อย่างพวกซัพพลายเออร์ก็ส่งของมาช่วย เบทาโกรส่งเนื้อหมูมาให้ 1 ตันแล้วบอกว่า ถ้าไม่พอก็ให้บอก วันนี้ตราฉัตรก็เพิ่งส่งข้าวมาช่วยอีก 15 กระสอบ พ่อค้าหมูที่ตลาดก็ส่งเนื้อหมูมาช่วย ทั้งพ่อค้าไส้กรอก หมูยอ เขาก็ส่งของมาช่วยด้วย เจ๊ยังบอกกับลูกว่าเห็นไหมว่าคนไทยใจดี เพราะสุดท้ายแล้วเจ๊แทบไม่ต้องควักเงินเลย ตอนนี้เจ๊สามารถทำข้าวกล่องให้กับโรงพยาบาลต่อไปได้อีกเป็น 10 วัน”

 

ล่าสุดเงินสมทบทุนส่วนที่เหลือนั้น จงใจบอกกับเราว่าจะถูกนำไปมอบให้กับเชฟคนอื่นๆ ในโครงการ Chef for Chance เพื่อร่วมกันทำอาหารและส่งต่อให้กับทีมแพทย์และพยาบาลในจำนวนที่เพิ่มขึ้นด้วยเมนูที่หลากหลาย ขณะที่เข้าสู่วันที่สี่ ร้านหมูทอดเจ๊จงของเธอได้เพิ่มกำลังการผลิตเป็นวันละ 1,300 กล่อง และแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลศิริราชเพิ่มอีกแห่งแล้ว

 

 

 

“เจ๊โคตรเหนื่อยเลย แต่โคตรมีความสุขเลย” เสียงจากหัวใจผู้ให้

ปกติแล้วร้านหมูทอดเจ๊จงจะเปิดให้บริการในเวลา 05.00-16.00 น. ของทุกๆ วัน โดยทีมงานในร้านจะต้องลุกขึ้นมาตระเตรียมวัตถุดิบ และเริ่มทำหน้าที่ปรุงอาหารบางส่วนตั้งแต่เวลา 01.00 น. ซึ่งในช่วงที่อยู่มือแล้ว จงใจจะตามเข้ามาประจำการในเวลา 04.00 น. เพื่อควบคุมกระบวนการผลิต และคอยบริหารงานส่วนที่เหลือ

 

วันนี้ก็เช่นกัน เวลาเริ่มล่วงมาจนถึงช่วงพักทานข้าวเที่ยงแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจงใจและลูกมือของเธอจะยังไม่ได้หยุดพักกันเลย ขณะที่คิวรอรับอาหารก็ยิ่งยืดยาวขึ้นเรื่อยๆ 

 

“ตั้งแต่ตี 4 แล้ว ยังไม่ได้ทานข้าวเลย (หัวเราะ) แต่ถามว่าเจ๊เหนื่อยไหม เจ๊แม่งโคตรเหนื่อยเลย แต่โคตรมีความสุขเลยนะ

 

“เราก็รู้ว่าลูกน้องก็คงเหนื่อย แต่ก็บอกเขาว่า เขาก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำบุญ ถ้าเขาเข้าใจแล้ว เขาจะมีความสุขกับการที่เขาเหนื่อย และเขาได้ช่วยเหลือคุณหมอและพยาบาลที่ได้กินข้าวหรือหมูทอดจากฝีมือพวกเขา”

 

จงใจบอกกับเราว่า ความตั้งใจในครั้งนี้ของเธอคืออยากทำข้าวกล่องส่งเป็นกำลังใจให้กับแพทย์และพยาบาลต่อไปเรื่อยๆ หากไม่มีเหตุฉุกเฉินใดๆ เข้ามา และยังฝากบอกผ่านสำนักข่าว THE STANDARD อีกด้วยว่า หากโรงพยาบาลใดอยากทานข้าวหมูทอดร้านเจ๊จงก็สามารถติดต่อเข้ามาได้ในทุกช่องทางของร้าน (https://www.facebook.com/JehJong/)

 

“ถ้าที่ไหนต้องการ เจ๊อยากจะฝากบอกไปด้วยว่าโรงพยาบาลไหนอยากทานข้าวหมูทอดเจ๊จงก็ลองติดต่อมา เจ๊จะได้ให้พี่ณะ (ทีมขนส่ง) ช่วยดู ถ้าคันเดียวไม่ทัน  เราอาจจะหารถมาเพิ่มช่วยกันส่ง ตัวเจ๊เองก็จะได้มาวางแผนว่า ทำอย่างไรจะได้ทำอาหารเพิ่มขึ้นให้ทันรอบด้วย”

 

 

ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส ทบทวนบทเรียนจากความล้มเหลวเพื่อก้าวเดินต่อไป

แม้ว่าร้านอาหารหลายแห่งจะพอปรับตัวได้บ้างจากผลกระทบมาตรการประกาศปิดร้านอาหาร และสถานที่สาธารณะเพื่อทำ Social Distancing โดยเปิดให้คนสั่งอาหารกลับไปรับประทานได้ที่บ้านเท่านั้น แต่ก็ยังมีร้านอาหารริมทาง รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าจำนวนไม่น้อยที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการดังกล่าว

 

ต่อประเด็นนี้ ร้านหมูทอดเจ๊จงดูจะเป็นหนึ่งในกรณีตัวอย่างของผู้ประกอบการร้านอาหารที่น่าจะได้รับผลกระทบบางเบา เมื่อเทียบกับร้านอาหารเจ้าอื่นๆ วัดจากจำนวนพนักงานฟู้ดเดลิเวอรีที่เดินทางมาต่อคิวจนแถวล้นหลามออกไปนอกร้าน

 

“เจ๊เข้าใจและเห็นใจว่าการที่ขายไม่ได้เลยมันเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่อยากให้มองมันว่า ‘เป็นส่ิงที่เลวร้าย’ ให้มองในมุมที่ว่า อย่างน้อยเราก็มีเวลาพักเพื่อมานั่งไตร่ตรองว่าที่ผ่านมา เมื่อเกิดวิกฤตแล้วเราขายไม่ได้เพราะอะไร ลองมานั่งคิดดูว่าทำไมบางร้านขายได้และขายดีด้วย

 

“วิกฤตนี้ผ่านไปมันก็ต้องมีวิกฤตอื่นอีก เหมือนความสุข วันนี้สุขพรุ่งนี้ก็ทุกข์ วันนี้เราทุกข์กับวิกฤตได้ แต่เชื่อเถอะว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป คราวนี้พอวิกฤตหน้าผ่านเข้ามา เราจะได้เตรียมตัวรับมือถูก เหมือนอย่างวันนี้ที่เราเจอ ให้คิดว่าเราโชคดีแล้ว จะได้เตรียมตัวตั้งรับทันกับวิกฤตในครั้งต่อไป”

 

 

ว่ากันว่าหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของผู้ประกอบธุรกิจที่ดีคือ ‘การเอาตัวรอด’ ให้ได้ในทุกสถานการณ์วิกฤต ดังนั้น แม้ในช่วงเวลาที่แย่ที่สุด หากสามารถตั้งสติให้เร็วแล้วลองเริ่มมองหาทางออก วิธีแก้ไขปัญหาที่พอเป็นไปได้ บางทีคุณอาจจะสามารถผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ไปได้เร็ว พร้อมมีภูมิต้านทานติดตัวในวิกฤตครั้งต่อๆ ไปเสมอ

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising