×

เคล็ดลับเลือกลงทุนกิจการอนาคตดีด้วย ESG Rating

02.04.2024
  • LOADING...

เรามักจะได้ยินคำกล่าวที่ว่า หากระยะเวลาลงทุนยิ่งมากขึ้น โอกาสการขาดทุนจะยิ่งน้อยลง และโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีก็จะมีมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผมมองว่าผลตอบแทนที่ดีมากขึ้นในระยะยาวต้องพิจารณาโอกาสและความเสี่ยงที่สินทรัพย์หรือกิจการนั้นมีในอนาคตด้วย โดยให้ความสำคัญทั้งตัวชี้วัดผลการดำเนินงานด้านการเงิน (Financial Measures) และตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ด้านการเงิน (Non-Financial Measures) อย่างการบริหารจัดการประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environment, Social, and Governance) ที่มีนัยสำคัญ เป็นปัจจัยด้าน Non-Financial ที่นักลงทุนไม่ควรมองข้าม เพราะหากบริหารจัดการ ESG ไม่ดีหรือไม่เหมาะสม อาจต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย หรือค่าใช้จ่ายจากปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่งหมายถึงต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น รวมถึงสูญเสียโอกาสทางธุรกิจอันเนื่องมาจากขาดนวัตกรรมที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดและความต้องการของลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

 

การประเมินโอกาสและความเสี่ยงบนประเด็น ESG ในอนาคตนั้น นอกจากศึกษาข้อมูลที่สินทรัพย์หรือกิจการได้เปิดเผยไว้ ไม่ว่าจะเป็นในรายงานประจำปี รายงานความยั่งยืน หรือเว็บไซต์ของกิจการแล้ว เรายังพิจารณาเพิ่มเติมได้จาก ESG Rating หรือผลประเมินด้าน ESG ที่จัดทำขึ้นโดยผู้ให้บริการบุคคลที่สาม (Third Party) ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการหลายราย โดยผู้ให้บริการระดับโลกที่นักลงทุนคุ้นเคย เช่น Bloomberg ESG Data, MSCI ESG Rating, Sustainalytics, Refinitiv ESG Rating, S&P Global ESG Score เป็นต้น ขณะที่ในไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็มีการจัดทำ SET ESG Ratings ในปี 2566 ที่ผ่านมา โดยประเมินคะแนน ESG ของบริษัทจดทะเบียนในไทยที่สมัครใจเข้าร่วมประเมิน ซึ่งการประเมินคะแนนนี้ยกระดับมาจากการประเมินที่ทำต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 ในรูปแบบการประเมินว่าบริษัทจดทะเบียนนั้นเข้าข่ายหุ้นยั่งยืนหรือไม่เพียงอย่างเดียว   

สำหรับ ESG Rating ที่ผู้ให้บริการจัดทำจะประเมินความสามารถของสินทรัพย์และกิจการในการบริหารจัดการทั้งความเสี่ยงและโอกาสด้านประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญ โดยกิจการหรือสินทรัพย์ที่มีผลการประเมินที่ดีมักจะมีคุณสมบัติสำคัญคือ มีการเปิดเผยข้อมูลผลการบริหารจัดการประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญ มีระบบการจัดการความเสี่ยงบนประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญที่มีประสิทธิภาพ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อโต้แย้งหรือเหตุการณ์ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับ ESG รวมทั้งมีการกำกับดูแลที่เข้มแข็ง เข้าใจถึงความเสี่ยงและโอกาสด้าน ESG ที่สำคัญ  

 

ทั้งนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล ESG Rating ได้ ครอบคลุมดังนี้ 

  1. นักลงทุนทั่วไปที่มีความกังวลหรือสนใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการประเด็น ESG ของกิจการหรือสินทรัพย์ที่ลงทุนอยู่ 
  2. นักลงทุนสถาบันที่ต้องหาข้อมูลผลการดำเนินงานด้าน ESG ของกิจการ เพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านการลงทุนที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงประเมินผลกระทบทางการเงินจากประเด็น ESG ต่อการดำเนินงานระยะสั้นและระยะยาวได้  
  3. บริษัทที่ได้รับการประเมิน หรือบริษัทที่สนใจบูรณาการประเด็น ESG ในการดำเนินธุรกิจ นำผลการประเมินหรือแนวทางการประเมินขององค์กรประเมินภายนอกมาพัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการและการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานในประเด็น ESG ที่มีนัยสำคัญให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 
  4. หน่วยงานกำกับที่ใช้ข้อมูลเพื่อตรวจสอบและประเมินกิจการหรือสิ่งที่ผู้จัดการการลงทุนกล่าวอ้างเกี่ยวกับการใช้ปัจจัย ESG ในกระบวนการดำเนินธุรกิจและการลงทุน  
  5. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เช่น ชุมชน หรือบุคคลทั่วไป ที่ให้ความสำคัญกับประเด็น ESG เป็นต้น

 

เนื่องจากผู้ให้บริการ Third Party แต่ละรายมีวิธีการประเมิน (Methodology) และให้คะแนนที่แตกต่างกันไป ในส่วนของผู้ลงทุนทั่วไปนั้นอาจใช้ข้อมูล ESG Rating จากหลายแหล่ง เพื่อให้ได้เห็นมุมมองที่ครอบคลุมสำหรับใช้คาดการณ์ล่วงหน้าเกี่ยวกับปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจและทิศทางด้าน ESG ของบริษัทในอนาคต ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสจากสินทรัพย์หรือกิจการที่ลงทุน ซึ่งจะนำไปสู่การลงทุนที่ยั่งยืนได้ 

 

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยแพร่ในรายงาน ESG Investing: Practices, Progress, and Challenges โดยระบุว่า ในการประเมินคะแนน ESG นั้น บางบริษัทอาจจะได้ Rating อันดับต้นๆ ของผู้ให้บริการประเมินรายหนึ่ง แต่ได้คะแนนต่ำกว่าในผู้ประเมินรายอื่น ซึ่งประเด็นนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประเมินรายนั้นใช้ปัจจัยอะไรในการวัด ให้น้ำหนักกับปัจจัยใดอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับคุณภาพในการตัดสินของนักวิเคราะห์ และการวัดผลนั้นได้รับผลจากการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทอย่างไร เป็นต้น

 

ขณะที่สมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนระดับสากล หรือ CFA Institute มีการเผยแพร่บทความ Do Better ESG Ratings Boost Bond Holders? โดยผู้เขียนบทความได้สร้างกลุ่มตัวอย่างบริษัทขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ที่มีการจัดอันดับ ESG และเสนอขายตราสารหนี้ต่อสาธารณะ โดยที่ตราสารหนี้ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 และ 2568 โดยคัดเลือกผู้ออกตราสารหนี้มา 10 ราย ใน 11 กลุ่มธุรกิจที่กำหนดไว้ใน S&P 500 โดยที่มีการนำผลตอบแทนมาปรับตามความเสี่ยงแล้ว ด้วยการหักลบอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ครบกำหนดใกล้เคียงกันออกจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ขององค์กรในปัจจุบัน การทดลองทำขึ้นช่วงวันที่ 6-7 เมษายน 2566 และนำคะแนน ESG มาจาก Sustainalytics

 

ผลลัพธ์ที่ได้คือ บริษัทที่มีคะแนน ESG ที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยจะมีส่วนต่างเครดิตที่ดีขึ้น และการจัดอันดับ ESG ที่ดียังมีความสัมพันธ์กับผลตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้นก็อาจจะนำคะแนน ESG มาใช้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเพิ่มเติมในการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของตราสารหนี้ได้  

 

สำหรับ SCB Wealth ในฐานะที่เราทำหน้าที่คัดเลือกผลิตภัณฑ์การลงทุนมานำเสนอลูกค้า เราก็มีการนำข้อมูล ESG Rating ของผลิตภัณฑ์การลงทุนต่างๆ มาเป็นปัจจัยหนึ่งในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์ก่อนนำเสนอให้ลูกค้า โดยนอกจากการพิจารณา ESG Rating เราก็มีการตรวจสอบประเด็น ESG ของผู้ออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นพันธมิตรด้วยวิธีการอื่นประกอบด้วย เช่น การส่งแบบสอบถามให้พันธมิตร การตรวจสอบข้อมูลจากหนังสือชี้ชวนฉบับเต็ม และการสัมภาษณ์ข้อมูลจากพันธมิตรเกี่ยวกับการใช้ ESG ในกระบวนการลงทุน (Investment Process) เพื่อประเมินคะแนน ESG โดยรวมอีกครั้ง  

 

เมื่อคะแนน ESG Rating มีส่วนแสดงถึงโอกาสและความเสี่ยงในอนาคตของสินทรัพย์ที่ลงทุนได้ ผมก็แนะนำให้ผู้ลงทุนพิจารณา ESG Rating ประกอบการตัดสินใจลงทุนเช่นเดียวกันครับ เช่น ถ้าท่านต้องการลงทุนกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศกองทุนหนึ่งที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในไทยเสนอขาย โดยกองทุนนั้นมีกองทุนหลักเป็นกองทุนที่จดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศ ท่านก็สามารถค้นหาข้อมูล ESG Rating ของกองทุนหลักในต่างประเทศได้ผ่าน Third Party บางรายที่ให้บริการข้อมูล ESG Rating โดยเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนเป็นสาธารณะให้ผู้ลงทุนทั่วไปพิจารณาได้ เช่น MSCI และ Sustainalytics ส่วนการพิจารณา ESG Rating ของบริษัทจดทะเบียนในไทยที่ท่านลงทุนอยู่ ก็สามารถพิจารณาได้จาก SET ESG Ratings ครับ 

 

อ้างอิง: 

FYI

คำเตือน:

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง รวมถึงควรขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนตัดสินใจลงทุน
  • สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising