หากคุณเป็นคนหนึ่งที่มักให้กล้องได้เชยชมความสวยงามน่าหม่ำของอาหารอยู่เป็นนิจ เราชวนมาขยับสเตปการถ่ายรูปอาหารให้น่าหม่ำยิ่งขึ้น พร้อมถอดรหัสการถ่ายภาพของกินด้วย iPhone ที่สามารถปรับไปใช้กับกล้องอื่นๆ ได้จากบล็อกเกอร์อาหารและนักชิมคนดังทั้ง 5 ทั้ง Kin-Kin, Golfphlat, Oatkomkrich, Jiranarong2 และ Eatography มาฝาก
Photo: @wearekinkin /Instagram
@wearekinkin
บล็อกเกอร์คู่รักนักกิน จิรายุ คูอมรพัฒนะ และโยธา สัมพัสนีธำรง จาก Kin-Kin เผยว่า พวกเขาพยายามใช้แสงธรรมชาติให้มากที่สุด กอปรกับใช้มุมสูงช่วย หรือใช้วัตถุดิบมาเป็นส่วนประกอบในภาพ หรือจะลองจัดวางภาพเป็นสามเหลี่ยมแบบดูไม่จงใจ แต่ถ้าแสงไม่เป็นใจ ก็สามารถวางบนพื้นดูได้ บนโซฟาดูบ้างก็ได้ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นบนโต๊ะเสมอไป เพราะเผลอๆ เก้าอี้ กระทั่งพื้น อาจมีลวดลายสวยกว่าด้วยซ้ำ พวกเขายังแนะนำอีกว่า ให้ลองถ่ายเป็นวิดีโอมุมที่ไม่คุ้นเคยดูบ้าง หรือภาพสโลว์โมชัน (อาทิ ตอนบีบมะนาวให้น้ำมะนาวสาดกระเซ็น) ไม่จำเป็นต้องเป็นภาพนิ่งเสมอไป แค่สนุกไปกับมันก็พอ
Photo: @jiranarong2 /Instagram
@jiranarong2
หมี-จิรณรงค์ วงษ์สุนทร นักวาดภาพประกอบ นักกิน และบรรณาธิการไลฟ์สไตล์ของ The Cloud แย้มเคล็ดลับว่า เขาใช้แสงธรรมชาติเป็นไม้ตายเด็ด โดยมีเพียงโทรศัพท์มือถือเป็นคู่ใจในการถ่ายเท่านั้น ขณะที่กลางคืนที่แสงน้อยจึงจะใช้ไฟช่วย และในฐานะนักกินมืออาชีพ เขาเผยว่า หากไปกินข้าวกับก๊วนเพื่อนที่มักไม่รีรอรีบตักหม่ำ สามารถใช้โหมด x2 แทนที่ Portrait บนมือถือที่ซูมอัตโนมัติ รีบแชะอาหารแบบเห็นรายละเอียด ที่ทั้งเพิ่มความน่าสนใจ เห็นผิวสัมผัสยั่วน้ำลาย แถมยังเลี่ยงขอบจานเปรอะเปื้อนได้อีกด้วย และในมุมมองของเขา การถ่ายอาหารให้น่ากินและถ่ายให้สวยนั้นต่างกัน การถ่ายให้น่ากินสามารถทำโดยหันด้านที่ซอสเยอะกว่า ซูมให้เห็นความนิ่ม ความเยิ้ม แทนที่จะเน้นมุมสวยที่อาจดูไม่น่ากินเท่า หรือจะเปิดโหมด Grid ช่วยแบบช่างภาพมืออาชีพที่ใช้กล้องตัวใหญ่ ช่วยทำให้สวยแบบไม่ตั้งใจได้
Photo: @golfphlat /Instagram
@golfphlat
กอล์ฟ-พลัฏฐ์ นิธิพิพิธชัย สไตลิสต์อาหารมืออาชีพ ผู้ที่ปกติถนัดการใช้กล้องตัวใหญ่แนะกับเราว่า ให้ดูกรอบการวางภาพก่อนในมุมของตัวเอง ความน่ากินเป็นเรื่องส่วนบุคคล และให้เน้นไปที่สิ่งท่ีทำให้น่ากินนั้น นั่นต่างหากเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งใดคือ ‘แสง’ เพราะแม้อาหารที่สวยที่สุด น่ากินที่สุด ก็ถ่ายอย่างไรก็ไม่ขึ้นหากปราศจากแสงที่ดีพอ และไม่จำเป็นต้องถ่ายให้เห็นทั้งหมดที่อยู่ตรงหน้า เราสามารถครอปให้เห็นบางส่วนได้ เพราะบริบทของภาพจะบอกเองว่าจานนี้คืออะไร ถ้าเฟรมโล่งไป สามารถเพิ่มส่วนประกอบได้ และลองสังเกตว่าสีซีดไปไหม เพิ่มสีเขียวดีไหม โดยเขามักจะไม่ใส่สิ่งที่ไม่ได้เป็นส่วนผสมหรือวัตถุดิบเข้าไปอย่างไม่มีเหตุผล หรือหาผ้ามาวางสร้างความโฮมมี่ ที่แม้จะดูไม่เด่นตรงหน้า แต่กลับสร้างภาพให้สวยงามได้ หรือจะเทคนิคสไตลิสต์ อาทิ เอาจานมาซ้อน ปรับองศาภาพ กระทั่งฉีดละอองน้ำให้ดูฉ่ำขึ้น
Photo: @oatkomkrich /Instagram
@oatkomkrich
โอ๊ต-นนท์ปวิธ คมกริชวรากูล คาเฟ่ฮอปเปอร์ที่เป็นที่รู้จักบนอินสตาแกรม เผยเคล็ดว่า เขามักจะพกไฟไปด้วยเพื่อให้เห็นรายละเอียดอาหารชัดขึ้น เพราะเรื่องแสงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะบนมือถือที่ทำให้ภาพดูแตกและเบลอเอาได้ หรือจะใช้วิธีตบแสงด้วยแผ่นกระดาษสีขาวที่ทำหน้าที่รีเฟลกแสงอีกฝั่ง ช่วยให้อีกด้านสว่างขึ้น นอกจากนั้นยังเพิ่มความน่าสนใจด้วยการโฟกัสอาหารตรงหน้าให้ชัด แต่อย่าลืมใส่องค์ประกอบให้กับฉากหลังเบลอๆ ด้วย เขาชอบใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพก็เพราะทำให้ดูแคนดิดเป็นธรรมชาติมากกว่าภาพที่จัดเซตถ่ายแบบตั้งใจ ส่วนเครื่องดื่มเขาแนะนำให้แชะภาพขณะเท โดยใช้โหมด Burst ช่วย หรือหากกลัวภาพ ‘แห้ง’ จนเกินไป สามารถขอมือเพื่อนสวยๆ ช่วยหยิบจับหรือตักเส้นให้ดูเข้าทีมากขึ้นก็ได้
Photo: @eatography /Instagram
@eatography
เคล็ดลับของแก๊งเพื่อนผู้รักการถ่ายภาพอย่าง Eatography คือกินไปถ่ายไป แต่พยายามทำให้สวยไว้ก่อน แสงธรรมชาตินั้นดีกว่าแสงแฟลชที่อาจแยงตาแขกคนอื่นๆ หากจำเป็น เขาแนะนำให้ใช้ไฟ LED เนื่องจากเล็กกว่าและพกพาง่ายแล้ว ยังสามารถเลือกแสงให้เข้ากับแต่ละจานได้ และสามารถใช้มุมของแสงทำให้อาหารแลดูน่าสนใจและน่ากินขึ้นได้ ทั้งยังปรับโหมด Depth ให้หน้าชัดแต่หลังไม่เบลอจนดูหลอก โดยสามารถเปิด Grid ดูให้อาหารอยู่ข้างเส้นจุดตัดเพื่อความลงตัวของภาพ แต่หากคุณถ่ายมาแบบเต็มจาน ก็สามารถครอปให้เห็นส่วนของจานที่ดูน่าหม่ำที่สุดภายหลังก็ได้
หลังจากทราบเคล็ดลับแล้ว เราลองนำมาปรับใช้ และนี่คือผลลัพธ์จากการถ่ายด้วย iPhone 11 Pro Max ให้คุณลองนำไปใช้กันเองได้ด้วย
อ่านเรื่อง ถอดเคล็ดลับถ่ายรูปสวยจาก 3 บล็อกเกอร์ท่องเที่ยวมืออาชีพ ได้ที่นี่
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า