×

ดีบุกไทย: ขุดค้นประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของเราผ่านมรดกทางอุตสาหกรรม

โดย Heritage Matters
29.04.2023
  • LOADING...
ดีบุก

นานมาแล้วก่อนที่ประเทศไทยจะกลายมาเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตรถยนต์ การท่องเที่ยว และการดูแลสุขภาพ ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เหมืองดีบุกตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามันเคยเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างความมั่งคั่งให้สยาม

 

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม ดีบุกกลายเป็นสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ แรงงานชาวจีนและวิศวกรชาวอังกฤษจึงหลั่งไหลเข้ามาในภาคใต้ของประเทศไทย และถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมดีบุกได้ปิดฉากลงไปแล้วเมื่อหลายสิบปีก่อน ดีบุกยังคงทิ้งร่องรอยประทับไว้ในวัฒนธรรมท้องถิ่นของภาคใต้ ตัวอย่างในจังหวัดระนอง ซึ่งมี ‘มรดกอุตสาหกรรม’ อันทรงคุณค่า เช่น สถาปัตยกรรมเพื่อการทำเหมืองแร่ และวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องปรากฏอยู่

 

แต่ตอนนี้เมืองไทยลืมดีบุกไปเสียแล้ว มีบ้างที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นเองถูกมองข้าม เนื่องจากองค์กรที่เกี่ยวข้องกับมรดกของชาติไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการอนุรักษ์มรดกอุตสาหกรรม และกลยุทธ์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐก็มักละเลยคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมที่ได้รับการรักษาไว้อย่างดี

 

เรื่องราวของการทำเหมืองดีบุกและผลกระทบต่อสถาปัตยกรรม อาหาร และวิถีชีวิตของท้องถิ่นอันเกิดจากแรงงานอพยพในอดีต สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งยังดึงชุมชนท้องถิ่นให้รวมตัวกัน

 

เมื่อไม่กี่ปีก่อน ข้าพเจ้ากับเพื่อนนักวิจัยจำนวนหนึ่งเริ่มเข้าไปศึกษาระนองอย่างใกล้ชิด ในสถานที่ซึ่งมิสเตอร์เอช. ยี. สก็อต วิศวกรจากกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ก่อตั้งบริษัท ไซมีส ติน ซินดิเคด จำกัด ขึ้นที่ตำบลหงาว ชุมชนชายทะเลใกล้ประเทศเมียนมา ซึ่งต่อมาไม่นานก็ได้พัฒนาเป็นเมืองที่คึกคัก

 

ปีที่แล้วข้าพเจ้าและเพื่อนนักวิจัย ในฐานะตัวแทนสมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งแวดล้อม (SCONTE) ได้จัดตั้งทีมนักวิจัย 18 คนจาก 4 ประเทศ ประกอบด้วยประเทศไทย จีน มาเลเซีย และไต้หวัน โดยนักวิจัยนั้นมีทั้งนักประวัติศาสตร์ ภัณฑารักษ์ สถาปนิก นักสังคมศาสตร์ วิศวกรเหมืองแร่และผู้เชี่ยวชาญด้านอื่นๆ ทุกคนอาสาทำงานอย่างหนัก โดยได้รับทุนช่วยเหลือจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กรอบวิจัย การจัดการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 200 คนจากจังหวัดระนองและจังหวัดอื่นๆ

 

ผลของความร่วมมือทำให้เราค้นพบสิ่งที่น่าสนใจมากมาย ทั้งสถานที่ เอกสาร เรื่องราว ภาพถ่าย วัตถุ และสิ่งปลูกสร้าง เพื่อบันทึกและประเมินผลข้อมูล จัดทำแผนที่แนะนำเส้นทางเดินชมแหล่งมรดก และสื่อนิทรรศการสำหรับโครงการท่องเที่ยวพิเศษ ‘พิพิธภัณฑ์มีชีวิต’ ที่เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา คุณผู้อ่านสามารถมาพบกับเราได้ที่ตำบลหงาว

 

ผู้ชมจะได้เรียนรู้อะไรบ้าง ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้หลอมดีบุกกับทองแดงเป็นสำริด ใช้ในการทำกลอง อาวุธ เครื่องมือ และเครื่องประดับมานานแล้ว ดีบุกเป็นแร่ที่หาได้ทั่วไปในคาบสมุทรมลายู ชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากเพื่อถลุงดีบุกในภูมิภาคนี้มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 หรือก่อนหน้านั้น วิธีผลิตดีบุกที่ใช้กันมานานหลายศตวรรษคือการร่อน และต่อมาจึงมีเหมืองหาบ ชาวจีนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานยังทำเตาเผาถ่านซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการถลุงดีบุก

 

ดีบุกกลายเป็นสินค้าขายดีในตลาดโลกหลัง ค.ศ. 1810 เมื่อพ่อค้าชาวอังกฤษจดสิทธิบัตรกระป๋องเคลือบดีบุก ซึ่งสามารถถนอมอาหารสำหรับการขนส่ง จากนั้น บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษจึงเริ่มจัดหาดีบุกจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดีบุกที่ผลิตเกือบทั้งหมดในโลกตั้งแต่ ค.ศ. 1800 มาจากสายแร่ความยาวกว่า 2,800 กิโลเมตรที่ทอดจากจีน ผ่านเมียนมาและไทย ลงไปถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย ดีบุกประมาณ 54% ของโลกอยู่ในสายแร่นี้

 

อุตสาหกรรมเหมืองแร่ของสยามก้าวเข้าสู่ยุคใหม่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระบรมราชโองการตั้งกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา ในระหว่างการเสด็จประพาสยุโรป กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งตามเสด็จด้วยในขณะนั้น ได้คัดเลือกใบสมัครของวิศวกรชาวอังกฤษ และได้ว่าจ้างวิศวกรชาวอังกฤษหนุ่มชื่อ H.G. Scott เข้ารับราชการ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้ากรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา อยู่ในราชการเป็นเวลา 8 ปี และลาออกจากราชการเพื่อจัดตั้งบริษัททำเหมืองแร่เรือขุดดีบุกขึ้นในสยาม ดังนั้นสยามในยุคของรัชกาลที่ 5 ก็มีความสามารถเท่าเทียมกับชาวยุโรปในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมทีเดียว

 

ที่เกาะภูเก็ต เอ็ดเวิร์ด โทมัส ไมลส์ วิศวกรจากเมืองแทสเมเนีย ประเทศออสเตรเลีย ได้พัฒนาเรือขุดแร่ดีบุกลำแรกของโลก (Dredge) ซึ่งได้ปรับปรุงมาจากเรือขุดแร่ทองคำ และเรือดูดทรายที่ใช้ทำงานครั้งแรกที่คลองสุเอซ เป็นเรือขุดที่สามารถสกัดดีบุกใต้ชั้นดิน วิธีนี้เป็นการทำเหมืองดีบุกที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิมมาก และทำให้สยามกลายเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกชั้นนำของโลก

 

นอกจากนั้นอุตสาหกรรมดีบุก ยังก่อให้เกิดมรดกทางวัฒนธรรมขึ้นหลายอย่าง ที่สำคัญอย่างหนึ่งคือมรดกทางสถาปัตยกรรม ได้แก่ คฤหาสน์ของคหบดีดีบุก ตึกแถว อาคารสำนักงาน โรงงาน คลังสินค้า และเรือนพักคนงานและวิศวกรเหมือง แต่สถาปัตยกรรมเหล่านี้หายไปเกือบหมด เพราะบริเวณริมทะเลที่เคยมีการทำเหมือง ถูกพัฒนาเป็นโรงแรมนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา ตัวอย่างเช่นพื้นที่ของกลุ่มรีสอร์ตลากูน่า ภูเก็ต ซึ่งประกอบด้วยรีสอร์ตสุดหรูอย่างโรงแรมบันยันทรี สมัยก่อนก็เคยเป็นขุมเหมืองดีบุก

 

ในจังหวัดระนองยังมีอาคารเก่าและเหมืองเก่าหลงเหลืออยู่ เป็นช่องที่เปิดให้เราเห็นอดีตส่วนหนึ่งของประเทศไทย มรดกอุตสาหกรรมไม่ใช่สิ่งที่ทำให้ภาครัฐต้องการที่จะส่งเสริมเท่าใดนัก สิ่งที่ภาครัฐอยากได้คือจำนวนนักท่องเที่ยว ซึ่งชายหาดและทิวทัศน์ที่สวยงามมักจะได้รับการพัฒนาส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยมีทัศนคติต่อมรดกอุตสาหกรรม คือเป็นตัวการทำลายสภาพแวดล้อม ดังนั้นทางคณะผู้วิจัยฯ จึงซาบซึ้งใจอย่างยิ่งที่อย่างน้อยพวกเราก็ได้รับเงินส่วนหนึ่งในการสนับสนุนงานพวกเราจาก บพข. แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าไม่ได้รับความต่อเนื่องจากความตั้งใจที่จะทำให้ครบทั้ง 3 จังหวัดคือ ระนอง พังงา และภูเก็ต ซึ่งเป็นแหล่งที่ได้ทำแร่ดีบุกมากที่สุดในแถบอันดามัน 

 

เป็นความจริงที่การทำเหมืองแร่ดีบุกไม่ใช่ธุรกิจที่มีภาพพจน์ดี เรือขุดแร่แต่ละลำนั้นเปรียบได้กับโรงงานลอยน้ำ มีขนาดเท่าสนามฟุตบอล การทำงานคือตักกรวดทรายจากก้นทะเลขึ้นมาแยกสินแร่ดีบุกเพื่อส่งต่อไปยังโรงถลุง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำลายสภาพแวดล้อมจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำลายหน้าดินหมดสิ้น แต่อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ และนำพาผู้คนมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งก็คือหน้าหนึ่งของความจริงในประวัติศาสตร์ที่เราควรเข้าใจ 

 

หลังอุตสาหกรรมเหมืองแร่ปิดตัวลงในทศวรรษ 1980 โรงงานเหล่านี้ รวมถึงเครื่องจักรไอน้ำและเครื่องยนต์อื่นๆ ก็ถูกแยกชิ้นส่วนขายเป็นเศษเหล็ก อาคารสำนักงาน เรือนคนงาน และเตาเผาถ่านส่วนใหญ่ถูกรื้อถอน

 

แต่การทำความเข้าใจกับมรดกอุตสาหกรรมเหล่านี้ ก็ได้เก็บรักษาเท่าที่เราสามารถจะทำได้ และเรียนรู้ไปด้วยเป็นสิ่งสำคัญ นี่คือ ‘ภูมิทัศน์วัฒนธรรม’ ที่ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกผูกพันกับท้องถิ่นของตน และดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือให้ความเคารพทั้งแก่ชีวิตของผู้คนในพื้นที่ ความเป็นมาของพวกเขา และสิ่งที่บรรพบุรุษของพวกเขาทำ คนท้องถิ่นสามารถเป็นผู้ดูแลวัฒนธรรมของตน บอกเล่าเรื่องราวของท้องถิ่น และแบ่งปันภูมิปัญญา

 

การอนุรักษ์มรดกที่ดีจะนำไปสู่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพราะการอนุรักษ์จะผลักดันคนในท้องถิ่นให้สนับสนุนชุมชนของตนเอง ซึ่งดีกว่าโครงการจากบนลงล่าง อย่างโครงการสกายวอล์ก ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนมีสกายวอล์กที่บ้านอยู่แล้ว พวกเขาจะสนุกกับการเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่บรรพบุรุษของพวกเขาทำให้แก่ประเทศไทย

 

เมื่อมองไปโดยรอบ เราจะเห็นลูกหลานของคนทำเหมืองดีบุกชาวจีนจำนวนมากในประเทศไทย มาเลเซีย และประเทศใกล้เคียง ที่รวบรวมสิ่งของมรดกในครอบครัวไว้ตามบ้าน เกิดเป็นวัฒนธรรมชาวจีนฮกเกี้ยน วัฒนธรรมแบบเพอรานากัน ซึ่งหลายคนเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนโครงการวิจัยของเรา พวกเขาภูมิใจที่จะอวดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษผู้ช่วยบุกเบิกการปฏิวัติอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ พวกเขาอยากให้รัฐบาลชวนนักท่องเที่ยวมาดูมากกว่าแค่สถาปัตยกรรมสวยงาม หรือมาชิมอาหารอร่อย พวกเขาอยากให้นักท่องเที่ยวรู้ด้วยว่าคนจีนรุ่นโน้นมาที่นี่ทำไม และมาอย่างไร ทั้งเราและนักท่องเที่ยวต่างชาติจะได้ประโยชน์หากเราเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไปได้ทั่วทั้งภูมิภาค เช่น เมืองดีบุกของไทยกับมาเลเซียมีความเชื่อมโยงถึงกัน เราต้องมีเส้นทางทางวัฒนธรรมอย่าง ‘เส้นทางมรดกดีบุก’ เพื่อให้ผู้คนค้นพบเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันของเมืองดีบุกต่างๆ เอาไว้ด้วยกัน เช่น ระนอง, พังงา, ภูเก็ต, ตรัง, สตูล, สงขลา, ยะลา และปัตตานี ข้ามไปถึง ปีนัง, ไทปิง, กัวลาคูบูบะฮ์รู, อิโปห์, โกเปง, กัมปาร์, เนอเกอรีเซิมบีลัน, สุไหงเลมบิง และกาจัง ในประเทศมาเลเซีย

 

ยิ่งไปกว่าดีบุก ประเทศไทยมี 77 จังหวัด หลายพันอำเภอและหมู่บ้าน แต่ละแห่งมีเรื่องราวของตัวเองไว้บอกเล่า เราจำเป็นต้องมีแผนมรดกแบบองค์รวมระดับชาติ อันจะช่วยให้ผู้เชี่ยวชาญและชุมชนท้องถิ่นสำรวจสถานะมรดกทั้งหมดที่เรามี เพื่อนำไปสู่การศึกษา ดูแล และแบ่งปัน

 

นี่เป็นการลงทุนที่จะคืนทุนไม่เพียงในแง่ของการท่องเที่ยว สิ่งที่เราจะได้ยิ่งกว่านั้นคือ การเรียนรู้ องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ การมีส่วนร่วม และความภาคภูมิใจ ดังนั้นเจ้าของพื้นที่อย่างประชาชนทุกคนที่เป็นลูกหลานของชาวดีบุกจึงเป็นกำลังสำคัญในการอนุรักษ์รักษา และส่งเสริมให้คนทั่วไปโดยเฉพาะเยาวชนรุ่นหลังได้เข้าใจถึงที่มาของการตั้งถิ่นฐาน ที่มาของมรดกสถาปัตยกรรม อาหาร เครื่องแต่งกาย และวัฒนธรรมประเพณี ที่บรรพบุรุษได้นำเอาความรู้เหล่านี้มาหล่อเลี้ยงให้เกิดสรรพชีวิตที่ได้รับการสืบต่ออย่างยั่งยืนในถิ่นใหม่ 

บทความโดย: ดร.รังสิมา กุลพัฒน์ เป็นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา เมืองแชเพลฮิลล์ Heritage Matters เป็นคอลัมน์รายเดือนของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ “เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชนในด้านการบริหารจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของประเทศไทยและภูมิภาคใกล้เคียง บทความสำหรับคอลัมน์มาจากผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายภาคส่วน ทัศนะที่แสดงในบทความเป็นของผู้เขียน”

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X