×

‘สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ ในวันที่ก้าวข้ามบ้านหลังเก่า & ปิดประตู 3 ป. ทำการเมืองแบบคนเป็นแม่ ลุยเปิดแพลตฟอร์มสร้างประเทศไทย

โดย THE STANDARD TEAM
01.03.2023
  • LOADING...
สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

เลือกฝั่งหนึ่งก็ติดหล่ม เลือกอีกฝั่งก็ติดกับ 
ถึงเวลายุติความขัดแย้งการเมือง 2 ขั้ว

 

ในการเลือกตั้งปี 2562 คุญหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีอันดับ 1 ของพรรค ถือธงนำพรรคเพื่อไทยคว้าจำนวนเก้าอี้ ส.ส. สูงที่สุดในสภา 136 ที่นั่ง

 

ให้หลังจากนั้น 20 เดือน เธอยื่นใบลาออกจากพรรคเพื่อไทยในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ปิดฉากความสัมพันธ์ทางการเมืองที่มีกับตระกูลชินวัตร นับจากพรรคพลังธรรมถึงพรรคเพื่อไทย รวมระยะเวลากว่า 26 ปี 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง 

 


 

 

ในรายการสัมภาษณ์ทางไทยรัฐทีวี เมื่อพิธีกรถามว่า ในวันตัดสินใจออกจากพรรคเพื่อไทย ได้คุยกับคุณทักษิณหรือไม่? สุดารัตน์ตอบด้วยรอยยิ้มว่า “เราคนไทยนะคะ ไปลามาไหว้” เธอย้ำประโยคนี้ถึง 5 ครั้งในการตอบคำถามข้อนี้ 

 

เมื่อก้าวออกจากบ้านหลังเก่าแล้ว ทุกครั้งที่โดนสื่อถามความเห็นถึงนายใหญ่, นายหญิง, ตระกูลชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เธอจะตอบสั้นๆ ว่า เธอและพรรคใหม่ได้ก้าวข้ามมาแล้ว 

 

“พี่ถึงได้ตอบว่าวันนี้อะไรที่เกิดกับพี่ ความเจ็บปวดชอกช้ำทั้งหลายพี่ถือว่าเป็นเคราะห์กรรมของพี่แล้วกัน พี่ตอบอย่างนี้เมื่อครั้งที่แล้ว ครั้งนี้พี่เองก็ไม่อยากจะไปพาดพิง พี่ก้าวข้ามมาแล้ว”

 

เมื่อ ‘อุตตม-สนธิรัตน์’ เดินกลับลำสู่บ้านป่ารอยต่อ จังหวะชั้นเชิงทางการเมืองทำให้วอร์รูมบ้านลาดเคาะให้ ‘สุดารัตน์-ศิธา’ ประกาศจุดยืน ‘พรรคไทยสร้างไทยไม่ขอร่วมรัฐบาลกับฝ่ายเผด็จการ’ ถือเป็นพรรคที่ 2 ต่อจากพรรคก้าวไกลที่ประกาศชัดเจนว่าปิดประตู 3 ป. ไม่ร่วมเป็นรัฐบาลในสมัยหน้า

 

เหล่านี้เป็นรากฐานของแคมเปญยุติความขัดแย้งการเมืองสองขั้วที่ปรากฏเป็นรูปธรรมผ่านเสียงปราศรัยกึกก้องในทุกเวทีของพรรคว่า “พอกันที เลือกฝั่งหนึ่งก็ติดหล่ม หรือเลือกอีกฝั่งก็ติดกับ พรรคไทยสร้างไทยขอประกาศตัวเป็นทางออก ทางรอด และทางเลือกใหม่ให้กับประเทศไทย นำประเทศออกจากวิกฤตความขัดแย้งการเมือง 2 ขั้วที่ขัดแย้งกันไม่สิ้นสุดนับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 กินเวลาร่วม 17 ปี”

 

 

ทำการเมืองแบบคนเป็นแม่ 
ด้วยคำถาม “ลูกฉันจะอยู่กับประเทศนี้อย่างไร แล้วลูกคนอื่นล่ะ”

 

ไม่นานมานี้คุญหญิงสุดารัตน์ควง จินนี่-ยศสุดา ลีลาปัญญาเลิศ ลูกสาวที่มีแววทางการเมืองสูงสุด ให้สัมภาษณ์ในรายการ WOODY FM Special

 

จินนี่เล่าว่า ต้นปี 2564 สุดารัตน์เรียกประชุมลูกทั้งสามพร้อมหน้า โดยไม่รู้วัตถุประสงค์ชัดนัก วงประชุมที่ประกอบด้วย ‘แม่หน่อย-บอส-เบสท์-จินนี่’ เริ่มต้นที่น้ำตาของคนเป็นแม่ จบด้วยบทสนทนาที่ปลดล็อกใจสุดารัตน์

 

จินนี่เล่าว่า “คุณแม่เป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งมาตลอด จะเห็นน้ำตาเขาน้อยมาก แต่ประมาณ 2 ปีที่แล้วเขาเครียดเรื่องอะไรสักอย่างด้วยแหละ แล้วอยู่ดีๆ เขาเรียกลูก 3 คนมาคุย แล้วแม่ก็ร้องไห้บอกว่า เขารู้สึกล้มเหลวในหน้าที่แม่มากๆ รู้สึกว่าเขาเป็นแม่ที่ไม่ดีสำหรับลูกๆ ไม่ได้ให้เวลากับลูกๆ ไม่ได้รู้เรื่องราวหรือดีเทลในชีวิตของลูกๆ เท่าที่ควรจะรู้ แล้วแม่ก็ร้องไห้ออกมาเลย”

 

คุญหญิงสุดารัตน์เล่าถึงเหตุการณ์วันนั้นว่า “ช่วงนั้นเป็นช่วงที่จะไปหรือไม่ไป จะตั้งพรรคหรือไม่ตั้งพรรค มันเป็นความรับผิดชอบทั้งสองส่วน ส่วนหนึ่งก็คือความรับผิดชอบต่อครอบครัว ส่วนหนึ่งก็คือความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองที่มันอาจจะไม่ใช่หน้าที่เราโดยตรง ตอนนั้นคิดอย่างนั้นนะ ไม่มีเราประเทศนี้เขาก็อยู่ได้นะ เราคิดมากเกินไปหรือเปล่า คือเรามีแพสชันที่อยากเห็นประเทศนี้ดีขึ้น แล้วอย่างที่บอกว่าด้วยความที่พอลูกโต เราคิดในอนาคตว่าลูกฉันจะอยู่กับประเทศนี้อย่างไร แล้วลูกคนอื่นล่ะ 

 

“พอคิดอย่างนี้ก็อยากที่จะทำ แต่เราก็ต้องกลับมาดูต้นทุนเราว่าเรามีอะไร เราต้องทำสิ่งที่เป็นหน้าที่โดยตรง ดีหรือไม่ดีก็มานั่งทบทวน มันเครียดมาก เครียดจริงๆ เครียดจนคิดมากแล้วร้องไห้ ลูกก็ไม่รู้ว่าทำไมอยู่ๆ แม่เป็นอย่างนั้น ก็เลยอยากคุยกับเขาว่าแม่อยากจะขอโทษที่แม่ทำสิ่งไม่ดีไว้กับลูกอะไรต่างๆ”

 

 

จินนี่ตอบกลับในวันนั้นว่า “แล้วก็บอกแม่ว่าถึงแม้แม่เป็นแม่พวกเรา แต่แม่ก็ต้องคิดถึงชีวิต คิดถึงความชอบตัวเองเหมือนกัน การที่แม่มีลูกออกมาไม่ได้แสดงว่าแม่จะใช้ชีวิตตัวเองไม่ได้ แม่จะทำในสิ่งที่แม่รักไม่ได้แล้ว ให้สิทธิ์ทุกอย่างแม่เลือกเลย แล้วพวกเราก็จะคอยเป็นแรงสนับสนุนอยู่ข้างๆ”

 

เมื่อปลดล็อกความในใจกับลูกทั้งสามได้สำเร็จ ครอบครัวประกาศเป็นแรงสนับสนุนเคียงข้าง เธอจึงประกาศตัวเป็น ‘เสาเข็ม’ ของพรรคการเมืองใหม่ ใช้วิธีคิด การตัดสินใจแบบคนเป็นแม่ที่คิดถึงอนาคตของลูก ลุยสร้างบ้านหลังใหม่ที่เธอประกาศชัดว่าเป็นภารกิจสุดท้ายในชีวิตทางการเมือง

 

 

วอร์รูมบ้านลาด-เครือข่ายลูกแม่หน่อย
สัญชาตญาณ-วิทยาศาสตร์ กำหนดก้าวการเมือง

 

ในวอร์รูมบ้านลาดที่ตั้งในซอยลาดปลาเค้า 60 ถูกกำหนดให้เป็นที่ตั้งของสำนักงานชั่วคราวพรรคไทยสร้างไทย ก่อนที่ทำการพรรคแห่งใหม่บนถนนเทิดราชัน เขตดอนเมือง จะก่อสร้างเสร็จในอนาคต

 

คนวงในที่สุดที่นั่งในวอร์รูมแห่งนี้ตั้งแต่วันแรกคิดตั้งพรรคจนถึงวันนี้คือ โภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา, อดีตรัฐมนตรีมหาดไทย และผู้อาวุโสทางการเมือง โภคินเป็นทั้งมันสมอง, มือคิด, เคาะนโยบาย และมือเจรจาดีลทั้งหลายทางการเมือง อีกหนึ่งชื่อคือ น.ต. ศิธา ทิวารี มือขวาของสุดารัตน์ หนึ่งในคนที่เธอไว้ใจมากที่สุด นั่งอยู่ในทุกวงประชุมการเมืองและทุกการตัดสินใจที่สำคัญ 

 

พรรคไทยสร้างไทยยังเป็นแหล่งรวมของ ‘เครือข่ายลูกแม่หน่อย’ แหล่งชุมนุมนักธุรกิจอายุน้อยร้อยล้านที่สุดารัตน์เก็บเกี่ยวสัมพันธ์จากหลักสูตรพิเศษต่างๆ ในช่วงที่เธอพักยกการเมือง คนกลุ่มนี้เรียกสุดารัตน์ด้วยความคุ้นเคยว่า ‘แม่หน่อย-พี่หน่อย’ เป็นแรงหนุนและเป็นที่ปรึกษาให้เธอทั้งหน้าฉากและหลังฉาก หลายรายตัดสินใจลงสู่สนามเลือกตั้งครั้งนี้  

 

ในมื้อคาวยามเที่ยง-มื้อคาวยามค่ำ ยังมีทีมนักคิด, นักเขียน, นักเล่าเรื่องชั้นดี, นักโฆษณา, ครีเอทีฟ และกลุ่มสื่อมวลชน ที่เธอสั่งสมคอนเน็กชันมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ร่วมโต๊ะอาหาร คอยให้คำแนะนำ เสริมจุดแกร่ง และปิดจุดอ่อนอย่างสม่ำเสมอ 

 

 

ในวอร์รูมบ้านลาดวันนี้อบอุ่นยิ่งกว่าเคย เมื่อวงในที่สุดต้องเพิ่มชื่อของ สุพันธุ์ มงคลสุธี อดีตประธานสภาอุตสาหกรรม ในฐานะคีย์แมนนโยบายเศรษฐกิจ-SMEs, น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และอดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะคีย์แมนศูนย์ปราบโกงพรรค เข้ามาคุมการบริหารจัดการพรรค พร้อมด้วยทีมลูกแม่หน่อยที่นำโดย การุณ โหสกุล อดีต ส.ส. ดอนเมือง หลายสมัย ทำหน้าที่ดูแลการผลิตสื่อทั้งป้าย สิ่งพิมพ์ รวมถึงเป็นแกนนำหลักในสนามเลือกตั้ง กทม. 

 

พ่วงด้วยทีมยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนผสมของคนรุ่นใหญ่และรุ่นใหม่ทั้ง ต่อพงษ์ ไชยสาส์น, ประวัฒน์ อุตตะโมช, อุดมเดช รัตนเสถียร, ชวลิต วิชยสุทธิ์, นพดล มังกรชัย, ประพนธ์ เนตรรังษี, ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส, เทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน, สุวดี พันธุ์พานิช และ ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ชื่อเหล่านี้ปรากฏอยู่ในหลายวงประชุมของบ้านลาด

 

ในห้องประชุมไม่น้อยกว่า 6 ห้องในบ้านลาดปลาเค้า ยังพร้อมต้อนรับทีมที่ปรึกษา, ทีมนโยบาย, ทีมแคมเปญ, ทีมสื่อสาร, ทีมโฆษก และทีมประสานงานในพื้นที่อีกหลายชุด คอยป้อนข้อเสนอและรับงานไปขยายผลให้เป็นรูปธรรม 

 

สุดารัตน์ฟังมากแต่ไม่เชื่อง่าย นอกจากสัญชาตญาณและประสบการณ์ในสนามการเมือง 3 ทศวรรษแล้ว เธอจะตัดสินใจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เสมอ ด้วยการสั่งทำโพลและประมวลความเห็นและความรู้สึกของสังคม นี่เป็นบทเรียนการเมืองหนึ่งที่ศิษย์เก่าไทยรักไทยในทุกขั้วการเมืองวันนี้เก็บมาใช้

 

 

เปิดแพลตฟอร์มสร้างประเทศไทย ดูแลเกิดจนแก่
ชูบำนาญประชาชน 3,000 บาท ล้างหนี้นอกระบบ 

 

เมื่อเริ่มต้นพรรคไทยสร้างไทยในเดือนสาม ปี 2564 พรรคใหม่พรรคนี้ถูกมองเป็นพรรคเล็ก ตัวละครนำหลายตัวในพรรคยังไม่เด่นชัด มุ่งนำเสนอตัวเองว่าเป็นพรรค ส. อันมีที่มาจากทั้ง ส.สุดารัตน์ และ ส.สร้างไทย 

 

ให้หลังจากนั้นอีก 1 ปี พรรคเคาะส่ง น.ต. ศิธา ชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แม้คว้าชัยไม่สำเร็จ ได้คะแนนไปเพียง 70,000 แต้ม และได้ ส.ก. เพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น แต่สำหรับบางพรรคใหญ่ นี่เป็นสัญญาณลบชัดเจน เพราะเมื่อประเมินถึงการเลือกตั้งระดับชาติที่กำลังจะมาถึง ส่วนแบ่งคะแนน 70,000 แต้ม เมื่อได้รับการขยายและคำนวณในทุกเขตเลือกตั้ง ทุกจังหวัด ย่อมไม่ใช่คะแนนจำนวนน้อย แต่เป็นหลายล้านเสียง 

 

ในการประชุมใหญ่ของพรรคในเดือนกันยายน ปี 2565 คุญหญิงสุดารัตน์ขึ้นรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคอย่างเป็นทางการ ในบทปราศรัยวันนั้นเธอชูแคมเปญปลดปล่อย (Liberate) และสร้างพลังอำนาจ (Empower) ให้ประชาชน ให้คนตัวเล็กเข้าถึงโอกาส พร้อมชูพรรคไทยสร้างไทยเป็นทางเลือกออกจากความขัดแย้งการเมืองสองขั้ว 

 

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก้าวสู่สนามการเลือกตั้งปี 2566 ด้วยข้อเสนอแพลตฟอร์มสร้างประเทศไทย ทั้งนโยบายสวัสดิการดูแลคนไทยตั้งแต่เกิดจนแก่, กองทุนคนตัวเล็กล้างหนี้นอกระบบ, พักหนี้เสียโควิด 3 ปี จ่ายดอกให้ 2 ปี, สร้างแต้มต่อคนตัวเล็ก พนักงานบริษัท SMEs, ยกระดับ 30 บาทพลัส, เครือข่ายบำนาญประชาชน 3,000 บาทเพื่อผู้สูงวัย, รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, ปราบยาเสพติดให้สิ้นซาก, ลากคนโกงบ้านโกงเมืองมาติดคุก และซื้อหวยได้เงินคืน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising