×

ดอน ระบุกรอบเวลาพิจารณา 3 เดือน เจรจา CPTPP ก่อนเคาะร่วม-ไม่ร่วม ส.ค. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
05.02.2021
  • LOADING...
กรอบเวลาพิจารณา 3 เดือน เจรจา CPTPP

วันนี้ (5 กุมภาพันธ์) ที่ทำเนียบรัฐบาล ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมได้นำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) พิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร มาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ภายหลังใช้ศึกษาประมาณ 5 เดือน ซึ่งหลังจากนี้ทุกหน่วยงานจะช่วยกันพิจารณา ‘เร็วได้ยิ่งดี’ ตามกรอบเวลา 3 เดือน เพื่อให้ได้ข้อสรุปเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม CPTPP รอบแรกประมาณเดือนสิงหาคม 2564 

 

“พวกเราต้องการอยู่เสมอไม่ใช่หรือ อยากเห็นการตัดสินใจที่รอบคอบ คิดถึงผลประโยชน์ในด้านต่างๆ และอาชีพต่างๆ ซึ่งท่านนายกฯ และรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จึงต้องพิจารณาศึกษาลงไปในรายละเอียดมากขึ้น และต้องใช้เวลา” ดอนกล่าว

 

ดอนกล่าวว่า เรื่องนี้ต้องมีความชัดเจน ไม่ใช่กระโดดเข้าไปเลย คนจำนวนไม่น้อยยังเข้าใจผิด นึกว่าเราจะกระโดดเข้าไปเลยแบบที่อังกฤษทำ อังกฤษกระโดดเข้าไปเลย ไม่มี 2 ขยักอย่างที่เราทำ แต่เรามี 2 ขยักเพราะต้องการความรอบคอบ ขยักแรกของเรา เราขอเข้าไปเจรจา ไม่ใช่สมัคร ซึ่งหลายประเทศไม่มีขั้นตอนนี้ เขาเข้าไปเลย 

 

“ที่ผ่านมาจีนก็จะเข้า สหรัฐฯ ก็สนใจจะเข้า อังกฤษก็สมัครแล้ว เกาหลีใต้ก็สนใจจะเข้า เรายังช้ากว่าสหราชอาณาจักรหลายช่วงตัว เพราะฉะนั้น มันเป็นเรื่องของการว่าจะไปหารือเมื่อไร โดยเอาข้อมูลผลการศึกษาของ กมธ. CPTPP มาย่อย มาดูให้ละเอียดขึ้น” ดอนกล่าว

 

ดอนกล่าวด้วยว่า เรื่องที่เราค้างคากันอยู่ โดยเฉพาะสิ่งที่ กมธ. CPTPP ได้ทำการบ้านมา เราก็จะเอามาดูในกรอบของ กนศ. ดูในเรื่องเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งหมด เราเห็นว่ามีหลายเรื่องที่เราสามารถจะดูให้กระชับขึ้น ดูให้เล็กขึ้น และให้เห็นมุมต่างๆ เชื่อว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวที่ กมธ. CPTPP ได้มีข้อสรุป จะได้มาเป็นข้อเติมเต็มให้เกิดความสมบูรณ์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อรัฐบาลจะได้นำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา 

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กมธ. CPTPP กังวลประเด็นใดมากที่สุด ดอนกล่าวว่า ไม่ได้บอกว่าประเด็นใดบ้างที่น่าเป็นห่วง เป็นการรายงานผลการศึกษาในภาพรวม และเห็นว่าถ้าจะเดินต่อต้องมีการปรับตัวของหลายหน่วยงานและในหลายเรื่อง 

 

“ประเด็นที่ต้องปรับตัวเป็นสิ่งที่เรารู้กันอยู่แล้ว ทุกประเทศก็ต้องมีการปรับตัวก่อนที่จะเข้าร่วมทำความตกลง เช่น เรื่องการค้า การบริการ การลงทุน อีคอมเมิร์ซ สาธารณสุขในมุมต่างๆ พันธุ์พืช รวมถึงกองทุนเยียวยาและชดเชยความเสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เรารับรู้กันอยู่แล้ว” ดอนกล่าว

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าหลังสหรัฐอเมริกาเลือกตั้งได้ โจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ทำให้มีแนวโน้มว่าจะกลับมาทบทวนนโยบายการค้าแบบพหุภาคีอีกครั้ง และสนใจที่จะกลับเข้ามาร่วม CPTPP ความกังวลในเรื่องสิทธิบัตรยาจะกลับมาเป็นประเด็นกังวลให้พูดถึงอีกหรือไม่ ดอนกล่าวว่า เป็นเรื่องเก่า หลายปีที่ผ่านมามีพัฒนาการมากมาย เพราะฉะนั้น เรื่องของการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing) ไม่เป็นปัญหาใหญ่ กระทรวงสาธารณสุขไม่เห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ หลายเรื่องต่างจากที่เคยเป็น อย่าไปปักใจเชื่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตและฝังใจเรา หลอนเรา ทั้งที่ความจริงไม่เป็นอย่างนั้น

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X