×

อายุเท่าไรถึงได้เวลาตรวจเต้านม?

06.07.2022
  • LOADING...
มะเร็งเต้านม

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ถึงแม้ว่ามะเร็งเต้านมจะยังป้องกันไม่ได้ แต่สามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้น นอกจากตรวจด้วยวิธีคลำด้วยตนเองแล้ว ควรให้แพทย์ตรวจทุก 3-5 ปี สำหรับผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ทุกปี หากคนในครอบครัวเป็นมะเร็ง อาจต้องตรวจเร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 35 ปี เพราะหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะทำให้ได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที และอาจจะไม่ต้องสูญเสียเต้านมไป

หนึ่งในโรคร้ายที่ผู้หญิงทั่วโลกต่างหวาดกลัวคือ มะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิง และมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปอด แต่ความน่ากลัวของมะเร็งเต้านมจะลดลงตามความเร็วในการค้นพบ ดังนั้น การใส่ใจตรวจหามะเร็งเต้านมอย่างจริงจังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะยิ่งพบเร็วเท่าไร ก็ยิ่งลดความรุนแรงของโรค และอัตราเสี่ยงต่อการเสียชีวิตลงได้มากเท่านั้น

 

โรคร้ายที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

มะเร็งเต้านมเป็นโรคร้ายที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าเกิดจากอะไร แต่มีปัจจัยหนุนคือฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อเต้านมจนเจริญเติบโตผิดปกติ และร่างกายไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตที่ผิดปกตินั้นได้ ทำให้เซลล์เหล่านั้นกลายเป็นเซลล์มะเร็งและโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจแพร่กระจายออกไปยังอวัยวะอื่นๆ

 

ความจริงแล้วมะเร็งเต้านมมีหลายชนิด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือชนิดที่เกิดจากท่อน้ำนม เมื่อเซลล์มะเร็งแบ่งตัวจนทะลุเนื้อเยื่อของท่อน้ำนม เข้าไปถึงท่อน้ำเหลืองหรือเส้นเลือด ก็จะแพร่กระจายไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น กระดูก ตับ ปอด หรือสมอง จุดเด่นของมะเร็งเต้านมคือไม่มีอาการให้ทรมาน ไม่เจ็บ ไม่ปวด มีเพียงก้อนเนื้อให้สัมผัสได้ แต่ไม่รู้สึก หลายคนละเลยจนเข้าสู่ระยะลุกลาม ปล่อยทิ้งไว้จนเกิดอาการที่ตามมา เช่น เต้านมบวมผิดปกติ แตก เน่า เป็นแผล แล้วค่อยไปพบแพทย์ ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นก็ไม่สามารถรักษาให้หายได้แล้ว

 

มะเร็งเต้านม

 

ความเสี่ยงสูงในวัย 40 ปี

จากสถิติพบว่า อายุเฉลี่ยของคนไข้ที่พบมะเร็งเต้านมมากที่สุดคือ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งจริงๆ แล้วเซลล์มะเร็งอาจจะก่อตัวก่อนหน้านั้น แต่เพิ่งมาตรวจพบในช่วงวัยดังกล่าว เพราะมะเร็งเต้านมค่อนข้างโตช้า กว่าจะโตจากขนาด 1 เซนติเมตร ไปสู่ 2 เซนติเมตร ต้องใช้เวลาประมาณ 90-180 วัน ดังนั้น กว่าจะเปลี่ยนแปลงจากเซลล์เดียวจนมีขนาด 1 เซนติเมตรได้จึงต้องใช้เวลาเป็นปี แสดงว่าก่อนจะตรวจพบด้วยตัวเอง เซลล์มะเร็งอาจจะเริ่มก่อตัวแล้วก็เป็นได้

 

ส่วนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมคือ บุคคลที่มีญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งเต้านมเกิน 2 คนขึ้นไป เช่น แม่ พี่สาว หรือน้องสาว คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าคนอื่นถึง 10 เท่า และมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งเร็วขึ้น ดังนั้นจึงต้องตรวจหาความผิดปกติด้วยตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ รวมถึงตรวจด้วยเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรม (Digital Mammogram) และอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

 

ยิ่งพบเร็ว โอกาสหายยิ่งมาก

ปัจจัยที่ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีโอกาสรักษาให้หายได้ มีอยู่ 2 ปัจจัย คือ ค้นพบให้เร็ว และรักษาให้มีคุณภาพ ด้วยความที่มะเร็งเต้านมเป็นเซลล์มะเร็งที่เกิดกับอวัยวะภายนอก สามารถคลำหาได้ด้วยมือ ผู้หญิงที่เป็นมะเร็งเต้านมเกินกว่าร้อยละ 85 จึงมักจะมาพบแพทย์หลังจากคลำพบก้อนที่เต้านม แต่นั่นไม่ใช่อาการเริ่มต้น เพราะกว่าจะคลำเจอต้องเป็นก้อนมะเร็งที่ใหญ่ไม่น้อยกว่า 1 เซนติเมตรไปแล้ว

 

ถ้าหากอยากพบเร็วกว่านั้น วิธีที่จะช่วยได้คือการตรวจด้วยเครื่องดิจิทัลแมมโมแกรม ซึ่งสามารถหาเซลล์ที่ผิดปกติได้ตั้งแต่ขนาดเล็กระดับมิลลิเมตร เมื่อพบบริเวณก้อนเนื้อต้องสงสัยแล้ว ต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อ ก็จะวินิจฉัยได้ว่าก้อนเนื้อนั้นเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่

 

ถึงแม้ว่ามะเร็งเต้านมจะยังป้องกันไม่ได้ แต่สามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้น นอกจากตรวจด้วยวิธีคลำด้วยตนเองแล้ว ควรให้แพทย์ตรวจทุก 3-5 ปี สำหรับผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ทุกปี หากคนในครอบครัวเป็นมะเร็งอาจต้องตรวจเร็วขึ้นตั้งแต่อายุ 35 ปี เพราะหากตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะทำให้ได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที และอาจจะไม่ต้องสูญเสียเต้านมไป

 

มะเร็งเต้านม

 

ภาพ: Shutterstock 

FYI
  • รู้จัก Digital Mammogram

ดิจิทัลแมมโมแกรม คือ เทคโนโลยีการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษ คล้ายกับเครื่องเอ็กซเรย์ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงในการหาความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ใช้เวลาตรวจประมาณ 5-10 นาที โดยเครื่องจะกดเต้านมไว้ประมาณ 5 วินาที ให้เนื้อภายในเต้านมกระจายออก เนื่องจากภาพที่ได้จากการตรวจมีความละเอียดสูง ทำให้การวินิจฉัยถูกต้อง อาจทำให้เจ็บบ้างขึ้นอยู่กับขนาดของเต้านมแต่ละคน และเนื่องจากปริมาณรังสีที่ใช้น้อยมาก ประกอบกับการตรวจเพียง 1-2 ปีต่อครั้ง จึงไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising