×

ทิม คุก กับสุดยอด ‘ทักษะผู้นำ’ ทำความเข้าใจแนวทางของ ‘แม่ทัพ Apple’ ผ่านสายตานักวิชาการ

18.03.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • Apple เป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลมากที่สุดในโลก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) คนปัจจุบันของบริษัทคือ Tim Cook ผู้ที่หลายคนมองว่าเปี่ยมล้นด้วยทักษะความเป็นผู้นำ จนพาให้ Apple จัดการกับความท้าทายทางสังคมได้สมกับวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่บริษัทวางไว้
  • เพื่อศึกษาบทบาทและความสำคัญของทักษะความเป็นผู้นำของ Tim Cook นักวิจัยชาวเกาหลี Keunwoo Choi จากมหาวิทยาลัยโคเวนทรี (Coventry University) และมหาวิทยาลัยนานาชาติคอนคอร์เดีย (Concordia International University) ได้นำทฤษฎีทางวิชาการมาเชื่อมโยงกับ Apple และ Tim Cook แล้วเขียนเป็นรายงานเรื่องแนวทางเชิงทฤษฎีสำหรับสไตล์ความเป็นผู้นำของ Tim Cook (A Theoretical Approach to Tim Cook’s Leadership Style) เนื้อหาของรายงานนี้สามารถอธิบายบทบาทของ Tim Cook ได้น่าสนใจ โดยเฉพาะในฐานะศูนย์กลางของการสื่อสารระหว่างบอร์ดบริหารและฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งไม่เพียงนำไปสู่การตัดสินใจที่สำคัญขององค์กรเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากร การดำเนินงานโดยรวม และการมีส่วนร่วมกับผู้คนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรด้วย
  • บทสรุปจากเนื้อหาเหล่านี้ไม่ได้ไฮไลต์เพียงค่านิยมหรือบรรทัดฐานความเป็นผู้นำของ Tim Cook อย่างเรื่องความโปร่งใส การทำงานเป็นทีม ความคาดหวังสูง และท่าทีที่สงบเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายองค์ประกอบที่สอดคล้องกับพันธกิจของ Apple ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโลก โดยที่ช่วยทำให้โลกนี้ดีขึ้นกว่าเดิม

การทำความเข้าใจแนวทางสไตล์การบริหารงานของซีอีโอ Apple ในรายงานเรื่อง A Theoretical Approach to Tim Cook’s Leadership Style เริ่มต้นด้วยข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ Apple และ Tim Cook จากนั้นจึงข้ามไปดูเป้าหมายและความท้าทายของ Apple ก่อนจะขยายความทฤษฎีเชิงวิชาการเกี่ยวกับการเป็นผู้นำ เพื่อตรวจดูว่าทฤษฎีเหล่านี้นำไปใช้กับสไตล์ความเป็นผู้นำของ Tim Cook ได้อย่างไร และสุดท้ายจึงสรุปออกมาเป็นคำแนะนำตามการวิเคราะห์ที่พบ

 

อย่างที่โลกรู้ Apple เป็นบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติสุดไฮเทคที่มีชื่อเสียง ก่อตั้งในปี 1976 โดย Steve Jobs, Ronald Wayne และ Steve Wozniak สำหรับ Tim Cook ที่เป็นซีอีโอคนปัจจุบันของ Apple นั้นเคยทำงานให้กับ IBM, Intelligent Electronics และ Compaq Computer Corporation มาก่อนจะร่วมงานกับ Apple ในปี 1998 แน่นอนว่าบริษัทเหล่านี้คือเวทีเพาะบ่มประสบการณ์อันมีค่าในฐานะผู้อำนวยการ ซีโอโอ และรองประธานบริษัทของ Tim Cook

 

หากมองที่ Apple พันธกิจหลักที่บริษัทวางไว้คือการนำ ‘ผลิตภัณฑ์ไอทีส่วนบุคคล’ ที่ดีที่สุดมาสู่ผู้คนทั่วโลก โดยจะรวมการสนับสนุนในภาพใหญ่ และการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ การศึกษาที่ผ่านมายังพบว่า Apple มีค่านิยมหลัก 6 ประการที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ได้แก่ การช่วยเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้คน การโฟกัสที่การศึกษา การใส่ใจสิ่งแวดล้อม การไม่แบ่งแยกและความหลากหลาย ความเป็นส่วนตัว ความเท่าเทียมทางเชื้อชาติและความยุติธรรม และความรับผิดชอบต่อห่วงโซ่การผลิต 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

รายงานนี้มองว่า หนึ่งในความท้าทายที่ Apple เผชิญภายใต้การนำของ Tim Cook คือปัญหาด้านจริยธรรมเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว โดยในปี 2559 รัฐบาลสหรัฐฯ และ FBI เรียกร้องให้ Apple ช่วยปลดล็อก iPhone ของผู้ก่อการร้าย ซึ่งขัดต่อนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Apple ในฐานะซีอีโอ Tim Cook ต้องแก้ไขภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนี้อย่างชาญฉลาด

 

ผลงานของ Tim Cook ไม่เพียงสะท้อนสไตล์ความเป็นผู้นำที่มีลักษณะเด่นที่ความโปร่งใส การทำงานเป็นทีม ความคาดหวังสูง และท่าทางสงบเท่านั้น แต่ยังถือเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่นำเสนอวิสัยทัศน์ที่น่าสนใจแก่พนักงานที่ดูแลอยู่ ในฐานะซีอีโอและผู้นำ บทบาทของ Tim Cook คือการจัดการและกระตุ้นทีมงานที่มี พร้อมกับลงมือตัดสินใจในสิ่งที่สำคัญ ร่วมกับการจัดการทรัพยากรและการดำเนินงาน ตลอดจนมีส่วนร่วมกับผู้คนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของ Apple

สไตล์ vs. ทฤษฎี

วงการวิชาการยกให้ ‘ความเป็นผู้นำ’ เป็นกระบวนการสำคัญที่มีบทบาทมากต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร ในขณะเดียวกัน ทักษะความเป็นผู้นำยังสามารถรับประกันความพึงพอใจและแรงจูงใจของผู้ตามด้วย ความสำคัญนี้ทำให้การศึกษาด้านทฤษฎีและรูปแบบความเป็นผู้นำได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อเป็นกรอบสำหรับการประเมินพฤติกรรมความเป็นผู้นำในสถานการณ์ต่างๆ

 

หนึ่งในแนวทางการเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ ‘ทฤษฎีภาวะผู้นำตามสถานการณ์’ (Situational Leadership Theory) แนวคิดพื้นฐานสำคัญของทฤษฎีนี้คือ สถานการณ์ที่แตกต่างย่อมต้องการลักษณะพฤติกรรมของผู้นำที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้นำที่มีประสิทธิภาพจึงควรปรับวิธีการจัดการให้เข้ากับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

 

ในขณะที่ทฤษฎีแรกมุ่งเน้นไปที่การปรับรูปแบบการเป็นผู้นำให้เข้ากับความต้องการของสถานการณ์ แต่ยังมีอีกทฤษฎีที่เน้นความสำคัญในทางกลับกัน นั่นคือทฤษฎีผู้นำเชิงพฤติกรรม (Behavioral Theories of Leadership) แนวคิดนี้เชื่อว่าการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลนั้น จำเป็นต้องมีพฤติกรรม ทักษะ และเจตคติที่เหมาะสม โดยจำแนก พฤติกรรมที่ผู้นำใช้ในการบริหารงานออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ พฤติกรรมที่มุ่งงานกับพฤติกรรมที่มุ่งคน ซึ่งพฤติกรรมทั้งสองด้านจะมีความสัมพันธ์ในการบรรลุเป้าหมายขององค์กร

 

 

เพื่อให้เข้าใจง่าย เราขอสรุปที่ทฤษฎีที่สองก่อน นั่นคือทฤษฎีผู้นำเชิงพฤติกรรม โดยในรายงานมีการอธิบายด้วยตาราง Leadership Grid ซึ่งได้มาจากการสรุปแนวทางการจำลองพฤติกรรมที่ใช้สำหรับการฝึกอบรมและพัฒนาผู้นำในองค์กร บนการเน้นปัจจัย 2 ประการ ทั้งความห่วงใยต่องาน และความห่วงใยต่อบุคลากร แน่นอนว่าปัจจัยที่ต่างกัน ทำให้ได้รูปแบบความเป็นผู้นำต่างกัน นำไปสู่การสรุปรูปแบบผู้นำ 5 สไตล์ ได้แก่ 

  • การบริหารสไตล์ 1, 1 (Impoverished Management) คือการบริหารแบบปล่อยตามสบาย มุ่งงานต่ำและมุ่งคนต่ำ
  • การบริหารสไตล์ 1, 9 คือการบริหารแบบสโมสร (Country-Club Management) มุ่งคนสูงแต่มุ่งงานต่ำ
  • การบริหารสไตล์ 9, 1 คือการบริหารแบบเผด็จการหรือมุ่งงาน (Task or Authoritarian Management) มุ่งงานสูงแต่มุ่งคนต่ำ
  • การบริหารสไตล์ 5, 5 คือการบริหารแบบเดินสายกลาง (Middle of the Road Management) มุ่งทั้งงานและคนปานกลาง 
  • การบริหารสไตล์ 9, 9 คือการบริหารแบบประชาธิปไตยหรือทีมงาน (Team or Democratic Management) มุ่งทั้งงานสูงและคนสูง

 

จากการใช้ Leadership Grid รายงานนี้สรุปว่าสไตล์ความเป็นผู้นำของ Tim Cook สามารถระบุได้ว่าเป็นการบริหารสไตล์ 9, 9 ซึ่งเน้นความคาดหวังสูงและการทำงานเป็นทีม และหากอิงกับข้อมูลของนักวิจัยชื่อ Kahney ปี 2019 จะพบว่า Cook ให้ความสำคัญกับคนในองค์กร และทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างความรู้สึกเป็นเพื่อนกันในบริษัท

 

ตอนนี้ได้เวลาย้อนกลับไปสรุปทฤษฎีแรก นั่นคือทฤษฎีสถานการณ์ที่ต้องดูระดับความพร้อมของผู้ตามในการปฏิบัติงาน หน้าที่ หรือวัตถุประสงค์เฉพาะด้วย โดยทฤษฎีสถานการณ์มีการแบ่งรูปแบบความเป็นผู้นำเป็น 4 กลุ่ม คือ ผู้นำที่สั่งให้ทำ ผู้นำที่ฝึกสอน ผู้นำที่สนับสนุน และผู้นำที่มอบหมายงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกกำหนดโดยความพร้อมของผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้นำที่มีประสิทธิภาพจึงควรปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับความต้องการของสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด

 

ในอีกด้าน รายงานนี้วิเคราะห์ว่า ‘จริยธรรม’ มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจของ Tim Cook ซึ่งทางวิชาการก็มีการสรุปแนวทางการตัดสินใจเชิงจริยธรรมไม่ต่ำกว่า 3 แนวทางที่สามารถช่วยผู้นำตัดสินว่าอะไรถูกอะไรผิดในสถานการณ์ต่างกัน ทั้งการเห็นแก่จริยธรรม การเห็นแก่ประโยชน์ผู้อื่น และการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน โดยนอกจากการพิจารณาที่หมายถึงการได้รับประโยชน์จากการกระทำที่ต่างกันไป ยังมีการพิจารณาสาย ‘เน้นประโยชน์’ ที่มองว่า การตัดสินใจที่ก่อให้เกิดผลดีสูงสุดสำหรับคนจำนวนมากที่สุดนั้น คือการพิจารณาที่ถูกต้องและมีศีลธรรมที่สุด

 

ถามว่า Tim Cook ใช้แนวคิดอะไรเพื่อแก้ความท้าทายทางสังคมที่ Apple เผชิญเมื่อครั้งถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ขอให้สร้างประตูหลังหรือ Backdoor ในระบบปฏิบัติการ iPhone เพื่อให้เจ้าหน้าที่ FBI สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ก่อการร้ายที่ใช้ iPhone สิ่งที่ Tim Cook ทำคือการปฏิเสธคำขอจากรัฐบาลและ FBI เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ เป็นการตัดสินใจที่จะปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าโดยไม่สร้าง Backdoor ให้กับระบบ บนเหตุผลว่าอาจเป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อความปลอดภัยของข้อมูล

 

อย่างไรก็ตาม Tim Cook ได้ให้ข้อมูลอื่นๆ ที่อยู่ในความครอบครองของ Apple ตลอดจนวิศวกรและแนวคิดเกี่ยวกับตัวเลือกการสืบสวนต่างๆ เพื่อสนับสนุน FBI อีกทาง

 

รายงานวิเคราะห์ว่า รูปแบบความเป็นผู้นำของ Cook ในสถานการณ์นี้เป็นการออกคำสั่ง เนื่องจากผลกระทบของการตัดสินใจมีความสำคัญต่อทั้งสังคมและบริษัท การตัดสินใจจึงไม่ใช่สิ่งที่พนักงานสามารถทำได้ตามความคิดเห็นของใครได้ ดังนั้น Cook จึงใช้รูปแบบคำสั่งเพื่อแก้ไขปัญหาที่ท้าทายต่อสังคม

 

 

ในแง่ของแนวทางการตัดสินใจ รายงานมองว่า Cook ใช้วิธีการ ‘เน้นประโยชน์’ เพราะการตัดสินใจเรื่อง FBI เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของสังคมและก่อให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด การตัดสินใจครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อแบรนด์ Apple ลูกค้า และผู้ถือหุ้นของบริษัทอย่างดีที่สุด บริษัทสามารถหลีกเลี่ยงการใช้เงินและเวลาเพื่อสร้าง Backdoor และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าที่คิดว่าความเป็นส่วนตัวเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้ iPhone ซึ่งการตัดสินใจของ Cook ไม่เพียงสร้างความเสียหายน้อยที่สุด แต่ยังสร้างสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้คนจำนวนมากที่สุดในสังคม รวมถึงบริษัทด้วย

 

สั่งเมื่อต้องสั่ง

คำแนะนำที่รายงานนี้สรุปไว้คือ รูปแบบการเป็น ‘ผู้นำแบบออกคำสั่ง’ ที่ Tim Cook ใช้นั้นได้ผลดี เนื่องจากความเป็นส่วนตัวและข้อมูลส่วนบุคคลเป็นปัจจัยที่ละเอียดอ่อน ซึ่งไม่ควรปล่อยให้พนักงานตัดสินใจเองว่าจะทำอย่างไรกับประเด็นนี้ สไตล์ความเป็นผู้นำของ Cook จึงช่วยเสริมความพร้อมของพนักงานที่ต่ำกว่า และเป็นผลให้แบรนด์มีคุณค่าเพิ่มขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าและผู้ถือหุ้น

 

รายงานตั้งข้อสังเกตอีกว่า หาก Cook ตัดสินใจให้ข้อมูลลับๆ กับ FBI ก็จะเป็นการนำในรูปแบบการออกคำสั่งเช่นกัน โดยการตัดสินใจอีกแบบอาจจะทำให้ FBI พบข้อมูลที่ช่วยในการสอบสวนและปลอบโยนครอบครัวของเหยื่อ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยในการสืบสวน และป้องกันการโจมตีของผู้ก่อการร้ายในอนาคตได้

 

ดังนั้น บทสรุป 1 ย่อหน้าของรายงานฉบับนี้คือ ลักษณะความเป็นผู้นำของ Tim Cook สามารถระบุโดยใช้ทฤษฎีเชิงสถานการณ์และทฤษฎีเชิงพฤติกรรม ซึ่งแม้รูปแบบความเป็นผู้นำของ Cook ตามทฤษฎีพฤติกรรมจะเป็นรูปแบบการจัดการ ‘ทีมงาน’ ที่มุ่งทั้งงานและคนสูง 

 

แต่พบว่า Cook เลือกใช้รูปแบบ ‘คำสั่ง’ และแนวทาง ‘เน้นประโยชน์’ เมื่อต้องจัดการกับความท้าทายทางสังคมของ Apple ทั้งหมดนี้ทำให้ Cook สามารถรักษานโยบายความเป็นส่วนตัวของลูกค้าที่แข็งแกร่งของ Apple ไว้เหนียวแน่น ทำให้สามารถดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น และทำให้โอกาสในอนาคตของบริษัทสดใสยิ่งขึ้นแบบที่เราเห็นทุกวันนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X