×

ศึกชิง TikTok: เสรีภาพ vs. ความมั่นคง ชะตากรรมของ 170 ล้านผู้ใช้งานในมือสหรัฐฯ และจีน

15.03.2024
  • LOADING...

สงครามการค้าระหว่างสองชาติมหาอำนาจในโลกซีกตะวันตกและตะวันออกมีแนวโน้มที่จะตึงเครียดมากขึ้น เมื่อสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (US House of Representatives) มีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎหมายที่บีบบังคับ ByteDance บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่สัญชาติจีนยอมจำนนขายหุ้น TikTok ภายใน 6 เดือนเพื่อปลดปล่อยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจากเงื้อมมือของรัฐบาลจีน แต่หากไม่ทำตามสหรัฐฯ จะแบนการใช้งาน TikTok กับชาวอเมริกัน ซึ่งจะกระทบผู้ใช้งานไม่ต่ำกว่า 170 ล้านคนที่อยู่บนแพลตฟอร์ม

 

แม้ร่างกฎหมายจะผ่านแล้ว แต่การอนุมัติจากสภาสูงและการลงนามจาก โจ ไบเดน ยังอยู่ระหว่างพิจารณา ซึ่งประธานาธิบดีคนปัจจุบันของสหรัฐฯ ก็กล่าวว่าเขาพร้อมจะอนุมัติทันทีเมื่อกระบวนการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อย แต่จีนเองก็ยืนกรานว่าจะไม่มีการขายเกิดขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะถ้าถูกบังคับอย่างที่กำลังเป็นตอนนี้

 

อ้างมานาน แต่หลักฐานค้านยังไม่ชัดเจน

 

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่ผู้คุมกฎหมายของสหรัฐฯ มีท่าทีเป็นปรปักษ์กับอำนาจของรัฐบาลจีนที่มีต่อ TikTok เนื่องจาก ByteDance เป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลกับกฎหมายของประเทศจีนที่สามารถสั่งให้บริษัทต่างๆ ต้องรายงานข้อมูลกับภาครัฐหากมีการเรียกขอ

 

อย่างไรก็ตาม ทางสหรัฐฯ เองก็ยังไม่เคยเปิดเผยหลักฐานต่อสาธารณะที่สนับสนุนคำกล่าวอ้างว่า TikTok ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสอดแนมหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน มีเพียงแต่การกล่าวหาที่ชี้ความเป็นไปได้เท่านั้น

 

“พวกเขายังไม่เคยแสดงหลักฐานให้เห็นเลยว่า TikTok มีส่วนอย่างไรกับการทำให้ความมั่นคงของชาติอเมริกันสั่นคลอน แต่ถึงจะอย่างนั้นก็เถอะ พวกเขาก็ไม่เลิกที่จะหยุดไล่ล่าและคุกคาม TikTok เสียที” – Wang Wenbin โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนกล่าวกับ CNN

 

เขายังบอกอีกว่าการกระทำเช่นนี้โดยประเทศอย่างสหรัฐฯ คือ ‘การบูลลี่’ ในสถานการณ์ที่ตัวเองไม่สามารถบรรลุเป้าหมายธุรกิจในตลาดที่แข่งขันกันอย่างยุติธรรมได้ และถ้าสหรัฐฯ เลือกที่จะเดินหน้าแบบนี้ต่อไปจริงๆ สุดท้ายผลกระทบเชิงลบจะวนกลับมาสร้างปัญหาให้กับพวกเขาอย่างแน่นอน

 

ประเด็นร่างกฎหมายฉบับนี้เกิดเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์บน Weibo แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียยอดฮิตของจีน ทำให้ผู้ใช้งานหลายคนออกมาสนับสนุนการโต้แย้งและกล่าวหาว่าการทำแบบนี้ของสหรัฐฯ ไม่ต่างจากการเสแสร้งในการเคารพสิทธิเสรีภาพอย่างที่คนทั่วโลกรับรู้กัน

 

“ขอเล่าเรื่องตลกอันหนึ่ง เรื่องนั้นคือความเชื่อที่ว่าสังคมอเมริกันเป็นสังคมเสรีนิยม มีความเป็นประชาธิปไตย และมีระบบเศรษฐกิจอยู่บนพื้นฐานกลไกตลาด” ผู้ใช้งานรายหนึ่งโพสต์แสดงความเห็นที่กำลังเสียดสีกับความเป็นจริงและอุดมคติของสหรัฐฯ โดยข้อความนี้มีผู้คนกด Upvote หรือเห็นด้วยกว่า 2,000 ครั้ง

 

ทั้งนี้ ยังมีสื่อ Global Times ของจีนที่ระบุว่าภาพลักษณ์ของเสรีทางความคิดและโครงสร้างกฎหมายของสหรัฐฯ กำลังเสื่อมลง ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายกับ TikTok ก็เป็นหลักฐานที่ชี้ให้เห็นถึงการถดถอยนี้

 

รัฐบาลอยากแบน แต่ครีเอเตอร์ชาวอเมริกันส่ายหน้า

‘ข้อมูล’ เป็นทรัพย์สินที่มีค่าอย่างมากในโลกยุคดิจิทัล และ TikTok ก็เป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่มีการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานด้วยเช่นกัน ทำให้สหรัฐฯ ไม่ไว้วางใจกับคำว่า ‘ความมั่นคงของชาติ’ จากรัฐบาลจีนที่สามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ตลอดตามต้องการ

 

Mike Gallagher หนึ่งในผู้ร่วมร่างกฎหมายระบุว่า สหรัฐฯ “ไม่สามารถที่จะรับความเสี่ยงในการให้ช่องทางการรับข้อมูลภายในประเทศถูกควบคุมโดยบริษัทที่อยู่ใต้อาณัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีน”

 

ด้าน Jake Sullivan กล่าวเสริมว่า จุดประสงค์ที่แท้จริงมิใช่การแบน TikTok แต่เป็นการยุติความเป็นเจ้าของจากบริษัทที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลจีน

 

อย่างไรก็ดี เหล่าอินฟลูเอ็นเซอร์และครีเอเตอร์ที่ใช้ TikTok เป็นช่องทางในการสร้างรายได้กลับเห็นต่างกับผลโหวตกฎหมายฉบับดังกล่าว เนื่องจากพวกเขามองว่าการที่สภาอาจพิจารณาให้ TikTok ถูกแบนจะส่งผลกระทบกับธุรกิจกว่า 5 ล้านรายที่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มในการเข้าถึงผู้คน 

 

ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ กลุ่มคนที่กำลังถกเถียงเกี่ยวกับ TikTok ในสหรัฐฯ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้วหลักๆ คือ 

 

  1. ผู้คุมกฎหมายที่ให้เหตุผลว่าการแบนเป็นไปเพื่อความมั่นคงของชาติ หากจีนไม่ยอมทำตามข้อเสนอสหรัฐฯ ที่ ByteDance ต้องขายหุ้นเพื่อสละอิทธิพลที่มีต่อบริษัท

 

  1. ผู้ใช้งานที่ต่อต้านการแบนโดยให้เหตุผลว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ 1 (First Amendment) ของประเทศ

 

“การระงับ TikTok จะกระทบเราอย่างมาก เพราะฉันคิดว่าไม่มีแพลตฟอร์มไหนที่มาแทน TikTok ได้แล้ว มันเป็นช่องทางที่ทำให้ฉันเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจได้โดยตรงและเป็นกันเองกับลูกค้ามาก” Lynda Truong และ Paul Tran สองครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 140,000 คนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC

 

ทางฝั่งของ Shou Zi Chew ซีอีโอ TikTok ก็ออกมาไลฟ์ชี้แจงผ่านแพลตฟอร์มว่า เขาและทีมงานยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลให้ปลอดภัยจากการถูกบิดเบือนโดยบุคคลหรือองค์กรภายนอก พร้อมทั้งกล่าวย้ำเตือนถึงผลเสียที่จะตามมากับเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากการสูญเสียแหล่งทำมาหากินของประชาชนบางกลุ่มหากแอปพลิเคชันถูกระงับ 

 

ณ ปัจจุบันรายได้โฆษณาของ TikTok เพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ โดย eMarketer ประเมินว่าแพลตฟอร์มมีศักยภาพที่จะสร้างรายได้ในส่วนของค่าโฆษณาจากฝั่งสหรัฐฯ ได้มากถึง 8,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ หรือกว่า 3.1 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2020 ที่ตอนนั้นทำได้ยังไม่ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเลย

 

จากนี้คงต้องดูกันต่อว่าความกดดันทางสังคมของชาวอเมริกันที่ใช้แพลตฟอร์ม TikTok หารายได้ จะเพียงพอต่อการทำให้สภาสูงเปลี่ยนใจได้หรือไม่แม้ว่าร่างกฎหมายผ่านแล้วก็ตาม

 

ภาพ: Anna Moneymaker / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising