×

5 ทีมนักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลผลิตคลิป TikTok การเมือง เสริมความรู้เท่าทันข่าวปลอม

โดย THE STANDARD TEAM
11.12.2022
  • LOADING...
TikTok

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับไทยพีบีเอส มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดงานประกวดการผลิตสื่อ TikTok รู้เท่าทันข่าวปลอมทางการเมืองในสื่อสังคมออนไลน์ ภายใต้โครงการการเมืองเยาวชนร่วมสมัยกับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม 

 

โดยมีกรรมการตัดสินประกอบด้วย ฐปณีย์ เอียดศรีไชย The Reporters, กนกพร ประสิทธิ์ผล Thai PBS, ธนกร วงษ์ปัญญา THE STANDARD, ขจร เจียรนัยพานิชย์ The Zero Publishing เป็นผู้ตัดสินและวิพากษ์ผลงาน TikTok เยาวชนการเมืองข่าวปลอม จาก 18 ทีม 13 มหาวิทยาลัย ได้แก่ 

  • มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา 
  • มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ 
  • มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม 
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา 
  • มหาวิทยาลัยบูรพา 
  • มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร 
  • มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

 

ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม หัวหน้าโครงการการเมืองเยาวชนร่วมสมัยกับการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม กล่าวว่า ทีมบูมีตานี จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ประเด็น สำนึกท้องถิ่น-อัตลักษณ์: ซอฟท์พาวเวอร์หรือภัยความมั่นคง? ได้รางวัล Exclusive Content ข้อมูลเชิงลึกหรือมีประโยชน์ โดยนำเสนอคลิปที่มีข้อมูลเชิงลึก เป็นประโยชน์ หรือมีความแปลกใหม่ที่ผ่านการรวบรวม ค้นคว้า และนำมาเรียบเรียงใหม่จนกลายเป็นผลงานที่มีประโยชน์ต่อผู้ชม 

 

ส่วนทีม TNK TEEM จากมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ประเด็น กัญชาฮารอมหรือไม่ฮารอม ได้รางวัล Creative Content Specialist ความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม ผู้ชนะสามารถนำเสนอคลิปที่มีความสร้างสรรค์ในวิธีการนำเสนอที่แปลกใหม่ หรือโดดเด่นจากการนำเสนออย่างชัดเจน

 

ทีม Sarakham Fact Check จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประเด็น บุหรี่ไฟฟ้า ได้รางวัล Unique Editor การตัดต่อหรือเทคนิคการนำเสนอยอดเยี่ยม โดยสามารถนำเสนอคลิปที่มีการใช้เทคนิคการตัดต่อที่แตกต่าง โดดเด่น สร้างเอกลักษณ์ ที่ทำให้คลิปไม่น่าเบื่อ ดูสนุก ทีม มศว จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประเด็น ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับซีอุย ได้รางวัล Excellent Word ภาษาสร้างสรรค์ โดยมีการใช้ภาษาที่สร้างสรรค์ ไม่ก่อให้เกิดการสร้างอคติและความเกลียดชัง 

 

ทีม The Movement จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเด็น เยาวชนกับข่าวปลอมทางการเมือง ได้รางวัล Smiling World เนื้อหาสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะให้กับคนดู ที่สามารถทำให้คนดูสนุกสนานไปจนตลอดคลิปและได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์

 

ผศ.ดร.วิไลวรรณกล่าวต่อไปว่า กิจกรรมดังกล่าวทีมวิจัยเล็งเห็นความสำคัญของคำ 3 คำ คือคำว่า เยาวชน การเมือง และข่าวปลอม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทีมวิจัยเห็นพลังเยาวชนออกมามีส่วนร่วมทางการเมือง ขณะเดียวกันเราเห็นข่าวปลอมแพร่กระจายในสื่อสังคมออนไลน์อย่างน่าหวั่นวิตก เราจึงมามองว่าในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ หรือที่หลายคนมักเรียกแทนด้วยคำว่า ‘ข่าวปลอม’ นั้น เยาวชนถือว่ามีส่วนสำคัญมากในการต่อสู้กับข่าวปลอม เพราะพฤติกรรมการเสพข่าวสารของเยาวชนอยู่กับสื่อสังคมออนไลน์มากที่สุด และในสื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่ที่แพร่กระจายข่าวปลอมในรูปแบบต่างๆ กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสื่อสาร ดังนั้นเยาวชนถือเป็นหนึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักของผู้แพร่กระจายข่าวปลอม 

 

โดยเฉพาะข่าวปลอมที่เกี่ยวกับการเมือง ที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองในมิติลบ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทยตลอด พ.ศ. 2563-2565 เป็นปรากฏการณ์ที่สังคมไทยไม่ควรมองข้าม ควรพิเคราะห์ถึงต้นตอของการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน และค้นหาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าว

 

“เกิดคำถามว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนไทย ถือเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือไม่ เกิดคำถามอีกว่าข่าวปลอมที่เกี่ยวกับการเมืองในสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะทวิตเตอร์ มีผลต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนหรือไม่ เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามเบื้องต้นในการค้นหาคำตอบ เพื่อนำไปสู่การสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมืองรู้เท่าทันข่าวปลอม ผ่านกิจกรรมความรู้การมีส่วนร่วมทางการเมืองและการรู้เท่าทันข่าวปลอม” ผศ.ดร.วิไลวรรณกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X