คนโด มาริเอะ อันนั้นก็ดี อันนี้ก็เสียดาย ปัญหายอดฮิตที่ทำให้การจัดบ้านมักจะล้มเหลวอยู่บ่อยๆ เชื่อว่าหลายคนต้องเคยติดแหง็กอยู่กับการจัดข้าวของกองโตอยู่เป็นเวลานาน และไม่ว่าจะจัดเท่าไรก็ดูเหมือนจะรกกว่าเดิมซะงั้น มารู้จักกับการจัดบ้านแบบ ‘คนมาริ’ (KonMari) ที่จะช่วยให้เรารับมือกับภูเขาลูกโตเหล่านั้นกันดีกว่า
แต่ก่อนอื่น มาทำความรู้จักกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังทริกการจัดบ้านเจ๋งๆ นี้กันก่อน คนโด มาริเอะ สาวญี่ปุ่นวัย 34 ปี ผู้หลงใหลการจัดระเบียบตั้งแต่ 5 ขวบ และเจ้าของทฤษฎีการจัดบ้านแบบคนมาริที่ปรากฏในหนังสือชื่อ The Life-Changing Magic of Tidying Up ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก จนนิตยสาร ไทม์ ยกย่องให้เป็นหนึ่งในบุคคลที่ทรงอิทธิพลในปี 2015 นอกจากนี้ เธอยังรับสอนจัดบ้านให้กับคนทั่วโลกอีกด้วย เพราะสิ่งที่เธอรักและโปรดปรานคือความยุ่งเหยิงที่ท้าทาย
จากหนังสือขายดีสู่ซีรีส์สร้างแรงบันดาลใจ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ซีรีส์เรื่อง Tidying Up with Marie Kondo ได้ถูกเผยแพร่ลงบน Netflix ด้วยทริกสุดเจ๋งและง่ายของมาริเอะ ทำให้หลายครอบครัวที่กำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆ ได้กลับมากระชับความสัมพันธ์ในบ้านหลังเดิมที่ดูจะน่าอยู่มากขึ้น โดยวิธีที่เธอใช้ส่วนใหญ่จะมาแก้ไขตัวการสำคัญที่ทำให้การจัดบ้านล้มเหลวบ่อยๆ นั่นก็คือ ‘ความเสียดาย’ หรือการ ‘ตัดใจทิ้งไม่ลง’
หัวใจหลักของวิธีการจัดบ้านแบบคนมาริ ที่เธอใช้ในซีรีส์ Tidying Up with Marie Kondo คือการไล่เก็บกวาดบ้านตามประเภทสิ่งของ ไม่ใช่สถานที่ THE STANDARD ได้ถอดบทเรียนที่เราเรียนรู้จากสาวคนนี้ โดยแบ่งสิ่งของออกเป็น 5 หมวดด้วยกันดังนี้
หมวด 1: เสื้อผ้า (Clothing)
สิ่งแรกที่มาริเอะมักจะแนะนำเวลาไปช่วยจัดบ้านคือการ ‘ระเบิดตู้เสื้อผ้า’ โดยการนำเสื้อผ้าทุกตัวจากทุกแห่งหนในบ้านออกมากองรวมกันเป็นกองเดียว วิธีนี้จะทำให้เราเห็นชัดเลยว่าเรามีเสื้อผ้าอยู่มากมายขนาดไหน แล้วเราจะช็อกกับปริมาณเสื้อผ้าที่มี จนตัดสินใจได้ว่าของชิ้นไหนจำเป็นกับเราจริงๆ
ว่าแต่ชิ้นไหนล่ะ? มาริเอะได้คิดค้นวิธีที่เรียกว่า จุดประกายความสุข (Spark Joy) คือความรู้สึกเชิงบวกเมื่อเราหยิบหรือสัมผัสสิ่งของหรือเสื้อผ้าแต่ละชิ้น หากชิ้นไหนจุดประกายความสุขให้กับเราได้ ให้เก็บชิ้นนั้นไว้ แต่หากชิ้นไหนเราไม่รู้สึกถึงจุดประกายความสุขนั้นเลยก็โยนทิ้งไป แต่ก่อนจะทิ้ง ให้เราพูดขอบคุณเสื้อผ้าชิ้นนั้นที่สอนให้เรารู้ว่าเราไม่ชอบสวมใส่เสื้อผ้าแบบนี้ วิธีนี้จะทำให้เราไม่รู้สึกผิดและสามารถตัดสินใจทิ้งไปได้ง่ายๆ และด้วยทริกเล็กๆ น้อยๆ อย่างการเปลี่ยนการพับผ้าหรือการจัดเรียงผ้า ที่จะช่วยทำให้ตู้เสื้อผ้าของเราเป็นระเบียบมากขึ้นจนแปลกตาไปเลยอีกด้วย
หมวด 2: หนังสือ (Books)
มาริเอะยังแนะนำอีกว่าให้หยิบหนังสือขึ้นมาทีละเล่ม จากนั้นให้ถามตัวเองว่าเล่มไหนที่เราต้องการจะนำติดตัวไปด้วยในอนาคต นั่งคัดเลือกทีละเล่ม ใช้เวลาสัมผัสถึงจุดประกายความสุข แล้วเราจะรู้ได้ว่าเล่มไหนที่เราต้องการเก็บไว้จริงๆ และเล่มไหนที่เราต้องการจะส่งต่อให้กับผู้อื่นได้อ่าน พร้อมพูดขอบคุณหนังสือเล่มนั้นก่อนจะปล่อยทิ้งไป วิธีนี้จะคล้ายๆ กับวิธีการเลือกเสื้อผ้าข้างต้นนั่นเอง
หมวด 3: เอกสาร (Paper)
คุณมีเอกสารกองเป็นพะเนินหรือเปล่า? มาริเอะแนะนำให้เราจัดการกับกองภูเขาเอกสาร โดยแบ่งออกเป็น 3 หมวด ดังนี้
- เอกสารรอการดำเนินการ เช่น จดหมาย ใบเรียกเก็บเงิน ฯลฯ
- เอกสารสำคัญ ที่จำเป็นต้องเก็บไว้เป็นการถาวร เช่น สัญญา แบบฟอร์มประกัน
- เอกสารจิปาถะ ที่เราอ้างอิงถึงบ่อยๆ หรือหยิบขึ้นมาดูบ่อยๆ เช่น สูตรอาหารจากนิตยสาร
วิธีเหล่านี้จะทำให้กองเอกสารเป็นระเบียบและง่ายต่อการค้นหามากขึ้น
หมวด 4: โคโมโนะ (Komono) หรือของจิปาถะ
โคโมโนะเป็นหมวดที่ใหญ่ที่สุด เพราะของจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ แทบจะกินพื้นที่ทั้งหมดภายในบ้าน แต่การจะจัดการกับของเหล่านี้ก็ช่างยากเสียเหลือเกิน นอกจากการโยนสิ่งของที่ไม่จุดประกายความสุขทิ้งไป มาริเอะก็มีทริกเจ๋งๆ อย่างการเก็บของเหล่านั้นให้เป็นระเบียบด้วยการนำ ‘กล่อง’ เข้ามาช่วย อย่างเช่นกล่องใส ที่จะช่วยให้เรามองเห็นสิ่งของข้างในได้อย่างชัดเจน เพราะบางครั้งเราเก็บของไว้ในลักษณะที่มองไม่เห็น เราเลยลงเอยด้วยการซื้อของเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้บ้านรกไปโดยไม่รู้ตัว หรือจะเป็นการใช้กล่องใบเล็กๆ ซ้อนกันในลิ้นชัก เพื่อช่วยจัดแบ่งของเป็นส่วนๆ ให้ง่ายต่อการหาและการเก็บให้เป็นระเบียบ
หมวด 5: ของที่มีคุณค่าต่อใจ (Sentimental Items)
ความทรงจำเก่าๆ อย่างจดหมายหรือภาพถ่ายเป็นอะไรที่ยากต่อการตัดใจทิ้ง มาริเอะแนะนำให้จัดการกับหมวดนี้เป็นลำดับสุดท้าย เพราะเราจะเสียเวลาไปกับการนั่งดูและระลึกถึงความหลัง ปกติแล้วเรามักจะจัดการกับของเหล่านี้เร็วเกินไป จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกติดขัด เพราะความสามารถในการตัดสินใจว่าอะไรคือจุดประกายความสุขในตอนนั้นยังไม่ได้รับการขัดเกลาอย่างเพียงพอ แต่หลังจากที่เราได้จัดการกับ 4 หมวดก่อนหน้านี้แล้ว เราจะเชื่อในความสามารถของตัวเองที่จะรู้ว่าอะไรจุดประกายความสุขให้กับคุณ และเราก็จะจัดการกับของที่มีคุณค่าต่อใจเหล่านี้ได้อย่างสบายๆ นั่นเอง
เห็นไหมว่าอุปสรรคใหญ่ในการจัดบ้านให้เป็นระเบียบคือ ‘ความรู้สึกผิด’ หรือ ‘เสียดาย’ สิ่งของที่มีอยู่ มาริเอะจึงพยายามสอดแทรกความซาบซึ้งใจเข้าไปในทุกกระบวนขั้นตอนการจัดบ้าน เธอมักจะพูดคุยและขอบคุณสิ่งของอยู่เป็นประจำ เพราะเธอเชื่อว่าการแสดงความซาบซึ้งใจจะช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดที่เรามีเวลาทิ้งสิ่งของไปได้
โยนทิ้งไปไม่ต้องเสียดาย ถ้าไม่จุดประกายความสุข อยากรู้ต้องลองแล้วล่ะ!
ภาพ: Courtesy of Netflix
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ต้องรีบซื้อตุน? เหตุยุค ‘เงินเยน’ อ่อนค่าอาจจบแล้ว! หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ แผ่วกว่าคาด ดึงดอลลาร์อ่อน
- ราคาห้องพักและโรงแรมใน ญี่ปุ่น พุ่งขึ้นแล้ว 10-20% จากนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและเงินเฟ้อ
- ญี่ปุ่นจ๋าพี่มาแล้ว! นี่คือ 5 เซอร์ไพรส์เล็กๆ จากญี่ปุ่นที่เปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง
- หากอยากรู้ทริกการจัดบ้านเจ๋งๆ อื่นๆ อีกมากมาย ตามไปอ่านได้ในหนังสือ The Life-Changing Magic of Tidying Up โดยคนโด มาริเอะ หรือรับชมได้ในซีรีส์ Tidying Up with Marie Kondo ทาง Netflix