×

TIDLOR เตรียมลุยปล่อยกู้ช่วยธุรกิจ MSMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด หลังได้สินเชื่อจาก IFC ‘3 พันล้าน’ เสริมแกร่งเงินทุน

26.08.2021
  • LOADING...
เงินติดล้อ

ปิยะศักดิ์ อุกฤษฎ์นุกูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน) (TIDLOR) เปิดเผยว่า บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบสินเชื่อวงเงิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท) แก่บริษัท โดยการให้สินเชื่อของ IFC ครั้งนี้จะช่วยให้ TIDLOR สามารถเพิ่มปริมาณการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการฟื้นตัวทางธุรกิจ การจ้างงาน และการเข้าถึงความช่วยเหลือการเงินของกลุ่ม MSMEs ในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

 

ปิยะศักดิ์ระบุว่า ปัจจุบัน MSMEs ในประเทศไทยมีสัดส่วนการจ้างงานคิดเป็น 86% ของแรงงานในระบบ และมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจคิดเป็น 45% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยก่อนเกิดโรคโควิด ธุรกิจเหล่านี้ยังขาดการเข้าถึงทางการเงินประมาณ 41,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 10.3% ของ GDP ของประเทศ และต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด เช่น การยกเลิกคำสั่งซื้อ ยอดขายที่ลดลง ห่วงโซ่อุปทานที่หยุดชะงัก และการขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน อีกทั้งการปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย ของธนาคารยังมีความเข้มงวดขึ้น จากอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่สูงขึ้น

 

“ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน การให้สินเชื่อของ IFC จะช่วยให้ TIDLOR มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุนมากยิ่งขึ้น และสามารถดำเนินการตามกลยุทธ์ของเรา ที่มุ่งเน้นการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลและการใช้ข้อมูลมากขึ้นในการให้สินเชื่อ ทั้งนี้ TIDLOR นับเป็นสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (NBFI) ในประเทศไทยแห่งแรกที่ได้รับสินเชื่อจาก IFC อีกด้วย” ปิยะศักดิ์กล่าว

 

ปิยะศักดิ์กล่าวว่า NBFI ส่วนใหญ่ยังมีขนาดเล็ก คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 5% ของสินทรัพย์รวมของระบบการเงินของประเทศไทย สาเหตุหลักนั้นมาจากสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารเหล่านั้นไม่สามารถรับเงินฝาก ขาดแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย โดยมีเป้าหมายการให้สินเชื่อแก่แรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ไม่มีสินทรัพย์ถาวรมาค้ำประกันและถูกมองว่ามีความเสี่ยงสูง ดังนั้น การให้สินเชื่อของ IFC จึงช่วยให้ TIDLOR มีความแข็งแกร่งด้านเงินทุนมากยิ่งขึ้น

 

Jane Xu ผู้จัดการ IFC ประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ IFC ในประเทศไทย การให้สินเชื่อของ IFC จะช่วยเพิ่มบริการทางการเงินที่เข้าถึงได้ สะดวก และเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมการจ้างงานและการพัฒนาที่ยั่งยืน การสนับสนุนของ IFC จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติที่มีศักยภาพ ในขณะเดียวกันก็จะส่งผลต่อการแข่งขันของคู่แข่งและเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศไทย

 

IFC เป็นสมาชิกและหนึ่งในหน่วยงานภายใต้กลุ่มธนาคารโลก ที่มุ่งเน้นการทำงานกับภาคเอกชนในประเทศตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก โดยในปี 2563 IFC ได้อนุมัติความช่วยเหลือเงินทุนระยะยาวกว่า 31,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่บริษัทเอกชนและสถาบันการเงินในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ โดยใช้ศักยภาพของภาคเอกชนเพื่อช่วยสร้างความเจริญและขจัดความยากจน เพื่อต่อสู้กับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด 

 

สำหรับประเทศไทย ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2564 ระบุว่า IFC เป็นผู้สนับสนุนทางการเงินและการให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภาคเอกชนของประเทศไทย เป็นจำนวนเงินสูงถึง 875 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 


 

เตรียมพบกับฟอรัมที่ผู้บริหารต้องดูก่อนวางแผนกลยุทธ์ปีหน้า! The Secret Sauce Strategy Forum คัมภีร์กลยุทธ์ฝ่าวิกฤตปี 2022

 

📌 เฟรมเวิร์กกลยุทธ์ใช้ได้จริง

📌 ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยโลก

📌 เทรนด์ผู้บริโภคการตลาด

📌 เคสจริงจากผู้บริหาร

 

พิเศษ! บัตร Early Bird 999 บาท วันนี้ถึง 27 สิงหาคมนี้เท่านั้น

 

ซื้อบัตรได้แล้วที่ www.zipeventapp.com/e/the-secret-sauce

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising