ราคาหุ้น บมจ.เงินติดล้อ หรือ TIDLOR ปรับตัวลดลงต่ำกว่าราคา IPO เป็นครั้งแรกตั้งแต่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยลดลงมาอยู่ที่ 36.25 บาทต่อหุ้น ขณะที่ราคาเสนอหุ้น IPO อยู่ที่ 36.50 บาท
อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้น TIDLOR ลดลงต่ำกว่าราคา IPO ไม่นานนัก จากนั้นมีแรงซื้อเข้ามาหนุนราคาอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ (13 สิงหาคม) ปิดการซื้อขายที่ระดับ 36.50 บาท -0.50 บาทจากวันก่อนหน้า หรือ -1.35% มูลค่าการซื้อขาย 626.87 ล้านบาท
ทั้งนี้ TIDLOR เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันแรกเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 โดยราคาหุ้นเปิดการซื้อขายวันแรกอยู่ที่ 53.50 บาท เพิ่มขึ้น 17 บาท จากราคา IPO หรือคิดเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น 46.57% ก่อนจะย่อตัวลงมาปิดการซื้อขายในวันเดียวกันที่ 45.75 บาท +25.34% จากราคา IPO
กรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจัยกดดันที่ทำให้ราคาหุ้น TIDLOR ช่วงที่ผ่านมาปรับลดลงต่อเนื่องราว 4-5 วันทำการ มี 2 ปัจจัย เรื่องแรกคือความกังวลต่อผลประกอบการไตรมาส 2/64 หลังจากที่ MTC ซึ่งเป็นหุ้นในกลุ่มเดียวกันประกาศงบออกมาแล้วมีกำไรลดลง
อย่างไรก็ตาม มองว่าปัจจัยนี้เป็นความกังวลระยะสั้นเท่านั้น เพราะสาเหตุที่กำไรของ MTC ลดลงมาจากการแข่งขันกับตลาดด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่ง TIDLOR ไม่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด
อีกปัจจัยกดดันคือ นโยบายลดอัตราค่าธรรมเนียมในการทวงถามหนี้ ซึ่งขณะนี้มีการพูดคุยกันถึงระดับสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งหากมีการใช้นโยบายดังกล่าวกับกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อด้วย ก็ดันผลประกอบการของ TIDLOR ในปี 2565 โดยคาดว่าน่าจะกระทบกำไรของบริษัทราว 3-5%
“สำหรับคำแนะนำลงทุน ยังแนะนำให้เข้าซื้อจากกำไรไตรมาส 2 ที่จะออกมาดีต่อเนื่อง และแนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะรักษาอัตราการเติบโตที่ดีได้ เมื่อราคาใกล้เคียงกับ IPO หรือต่ำกว่านั้น ก็ยิ่งเป็นโอกาสดีในการเข้าลงทุน”
ฝ่ายวิจัย บล.เคทีบีเอสที ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 ของ TIDLOR ไว้ที่ 824 ล้านบาท เติบโตขึ้น 193% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 5% จากไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยหนุนจากรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน, สินเชื่อขยายตัว 10% จากปีก่อน ประกอบกับ Loan Yield ที่เพิ่มขึ้น ตามสัดส่วนลูกหนี้ที่ให้ความช่วยเหลือลดลงเป็น 3% ของสินเชื่อรวม
นอกจากนี้ อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดําเนินงานต่อรายได้รวม (Cost to Income) ลดลงทั้งเทียบปีก่อนและไตรมาสก่อน โดย TIDLOR ไม่มีมาตรการผ่อนปรน VAT เหมือนปีก่อน
ขณะที่ฝ่ายวิจัย บล.โนมูระ พัฒนสิน ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 2/64 ของ TIDLOR ไว้ที่ 820 ล้านบาท เติบโตขึ้น 192% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 4% จากไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยหนุนจาการเติบโตของสินเชื่อรวม และไม่ได้มีการยกเว้นดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้าในช่วงการแพร่ระบาดโควิดเหมือนปีก่อน
ส่วนสาเหตุของกำไรสุทธิที่เติบโตขึ้นจากไตรมาสก่อน มีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตของสินเชื่อรวม และการเพิ่มขึ้นของ Yield on Loan จากไม่ได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงเหมือนคู่แข่ง ด้านคุณภาพสินทรัพย์ (NPL Ratio) คาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 1.55% เทียบไตรมาสก่อนอยู่ที่ 1.50%
ด้าน บล.เอเซีย พลัส ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 3/64 ของ TIDLOR มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงกว่าไตรมาส 2/64 เนื่องจากสินเชื่อของ TIDLOR ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ประกอบกับยังได้รับปัจจัยหนุนจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลง หลังนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO บางส่วนไปชำระคืนเงินกู้ แต่จะถูกชดเชยด้วย Credit Cost ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวตามการแพร่ระบาดโควิด