×

ยานเทียนเวิ่น-1 (天问一号) เข้าสู่วงโคจรดาวอังคารสำเร็จ เปิดทางสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้แวดวงอวกาศจีน

โดย Mr.Vop
11.02.2021
  • LOADING...
ยานเทียนเวิ่น-1 (天问一号) เข้าสู่วงโคจรดาวอังคารสำเร็จ เปิดทางสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ให้แวดวงอวกาศจีน

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ยานเทียนเวิ่น-1 (天问一号) ของจีน สร้างผลงานที่น่าภาคภูมิใจให้ชาวจีน ด้วยการเข้าสู่วงโคจรสำเร็จในครั้งแรกที่เดินทางตามหลังยาน ‘อัล อามัล’ ของ UAE เพียงวันเดียว แต่มีทีเด็ดกว่ายานทุกลำจากทุกชาติในอดีต ตรงที่ เทียนเวิ่น-1 ถือเป็นยานอวกาศครบ 3 ส่วนลำแรกที่ทำสถิตินี้ได้
  • ในรอบนี้จีนทำทุกอย่างเองหมด ตั้งแต่การออกแบบยานไปจนถึงการส่งออกจากโลกด้วยจรวดนำส่ง Long March 5 ของจีนเอง และที่สำคัญ ยานเทียนเวิ่น-1 นี้ไม่เหมือนยานสำรวจดาวอังคารทุกลำในอดีต ตรงที่มันมีส่วนประกอบสำคัญทั้ง 3 ส่วนครบในลำเดียว นั่นคือส่วนของยานออร์บิเทอร์หรือยานโคจร ยานแลนเดอร์หรือยานลงจอด และส่วนของยานโรเวอร์ซึ่งเป็นยานติดล้อที่ใช้วิ่งไปบนผิวดาวอังคาร
  • ถ้าสังเกตจากชื่อของยานจะเห็นว่ามีเลข 1 ต่อท้ายอยู่ นั่นคือสัญลักษณ์ที่บอกกับเราว่า ยานลำนี้คือลำดับแรกในโครงการเท่านั้น เราจะได้เห็นยานลำต่อไปออกเดินทางไปดาวอังคารในอีกไม่กี่ปีจากนี้อย่างแน่นอน

เทียนเวิ่น-1 จากประเทศจีน กลายเป็นยานอวกาศครบ 3 ส่วนลำแรกที่เข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารสำเร็จ ช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา (10 กุมภาพันธ์ 2021)

 

หลังยานโฮป หรือ ‘อัล อามัล’ ( الأمل) ของ UAE สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้ชนชาติอาหรับ ด้วยการเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารได้สำเร็จในครั้งแรกที่เดินทางไปถึงเพียงวันเดียว ยานเทียนเวิ่น-1 (天问一号) ของจีน ก็สร้างผลงานที่น่าภาคภูมิใจให้ชาวจีน ด้วยการเข้าสู่วงโคจรสำเร็จในครั้งแรกที่เดินทางไปถึงเช่นเดียวกัน แต่มีทีเด็ดกว่ายานทุกลำจากทุกชาติในอดีต ตรงที่เทียนเวิ่น-1 ถือเป็นยานอวกาศครบ 3 ส่วนลำแรกที่ทำสถิตินี้ได้

 

การเดินทางไปสำรวจดาวอังคารไม่ใช่เรื่องง่าย นับจากปีแรกคือ 1960 จนถึงปี 2019 มีการส่งยานอวกาศไปดาวอังคารถึง 55 ภารกิจ แต่มีเพียง 25 ภารกิจเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ เรียกว่าอัตรารอดต่ำกว่า 50% ดังนั้นประเทศหน้าใหม่ที่เข้าสู่สนามแข่งขันในการพิชิตดาวอังคารอย่างอินเดีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือแม้แต่จีน ที่ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่วงโคจรดาวอังคารสำเร็จในครั้งแรกเลยนั้นถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี โดยเฉพาะกับจีนนั้น แม้ยานเทียนเวิ่น-1 จะไม่ใช่ภารกิจแรกของประทศ แต่เราก็อาจไม่นับภารกิจแรกของจีนนั่นคือการฝากยาน Yinghuo (萤火) เกาะไปกับภารกิจโฟบอส-กรันท์ (Фобос-Грунт) ของรัสเซียในปี 2011 ด้วยก็ได้ เพราะรอบนั้นจีนไม่ได้ทำเองทั้งหมด แถมจรวดนำส่งในภารกิจนั้นออกไปไม่พ้นวงโคจรโลกด้วยซ้ำ

 

แต่ในรอบนี้จีนทำทุกอย่างเองหมด ตั้งแต่การออกแบบยานไปจนถึงการส่งออกจากโลกด้วยจรวดนำส่ง Long March 5 ของจีนเอง และที่สำคัญ ยานเทียนเวิ่น-1 นี้ไม่เหมือนยานสำรวจดาวอังคารทุกลำในอดีต ตรงที่มันมีส่วนประกอบสำคัญทั้ง 3 ส่วนครบในลำเดียว นั่นคือส่วนของยานออร์บิเทอร์หรือยานโคจร ยานแลนเดอร์หรือยานลงจอด และส่วนของยานโรเวอร์ซึ่งเป็นยานติดล้อที่ใช้วิ่งไปบนผิวดาวอังคาร

 

ชื่อยานเทียนเวิ่น-1 (天问一号) นั้น หมายความถึง ‘คำถามต่อสรวงสวรรค์’ ซึ่งเป็นชื่อของบทกวีอันโด่งดังฝีมือ ชวีหยวน ขุนนางผู้ภักดีแห่งรัฐฉู่ในยุคจ้านกว๋อ ชื่อนี้อาจมีนัยถึงการที่ชาวจีนจะส่งคำถามถึงความจริงของโลกหล้าสู่สรวงสวรรค์ และแน่นอนว่าจีนหมายมั่นปั่นมือถึงความสำเร็จในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะหากยานโรเวอร์ 6 ล้อที่ติดไปกับยานเทียนเวิ่น-1 สามารถลงไปวิ่งอยู่บนผิวดาวอังคารได้เมื่อไร จีนจะกลายเป็นประเทศที่ 2 ของโลกแซงหน้ารัสเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย ยุโรป ฯลฯ ไปตีคู่กับสหรัฐฯ ทันที เพราะทุกวันนี้มีเพียงยานโรเวอร์จากสหรัฐฯ ประเทศเดียวเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการไปหมุนล้อวิ่งอยู่บนผิวดาวอังคาร

 

ยานเทียนเวิ่น-1 ออกเดินทางจากโลกเมื่อเวลา 11.41 น. ของวันที่ 23 กรกฎาคม 2020 ตามเวลาในประเทศไทย ผ่านระยะทางกว่า 500 ล้านกิโลเมตร ตลอดระยะเวลายาวนานถึง 7 เดือน ผ่านขั้นตอนการติดเครื่องยนต์ย่อยเพื่อปรับทิศทาง ปรับมุม และความเร็วหลายครั้ง จนในที่สุดก็เดินทางมาถึงจุดที่เสี่ยงอันตรายที่สุดด่านแรก คือการติดเครื่องยนต์นาน 14 นาที เพื่อ ‘เบรก’ หรือลดความเร็วของยานลง จนแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารสามารถจับยึดตัวยานเอาไว้ได้ ขั้นตอนนี้หากผิดพลาดเพียงนิดเดียว หากไม่เลี้ยวลงไปชนดาว ก็จะปลิวหายไปในอวกาศตลอดกาล

 

ยานเทียนเวิ่น-1 เริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการติดเครื่องยนต์ชะลอความเร็วเพื่อเข้าสู่วงโคจรดาวอังคาร หรือ MOI (Mars Orbit Insertion) Burn เมื่อเวลา 19.03 น. ตามเวลาในประเทศไทย ขั้นตอนทั้งหมดจะเป็นไปโดยอัตโนมัติจากการสั่งการของคอมพิวเตอร์ประจำยาน เนื่องจากดาวอังคารและโลกอยู่ไกลเกินระยะที่จะส่งสัญญาณรีโมตไปควบคุมด้วยมนุษย์ได้ แต่ยังคงติดตามตำแหน่งและพฤติกรรมของานเทียนเวิ่น-1 ได้สดๆ ผ่านทางจานสายอากาศ 20 เมตรของหอดูดาว Bochum ในประเทศเยอรมนี 

 

สัญญาณจากเทียนเวิ่น-1 ขาดหายไป (Blackout) เมื่อเวลา 19.13 น. เนื่องจากเป็นช่วงที่ยานเคลื่อนไปด้านหลังดาวอังคาร ช่วงนั้นผู้ที่ติดตามผลการเดินทางของยานลำนี้แบบออนไลน์ต่างก็เกิดความกังวล แต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะในที่สุดจานสายอากาศที่หอดูดาว Bochum ก็กลับมารับสัญญาณจากยานเทียนเวิ่น-1 ได้อีกครั้งเมื่อเวลา 19.48 น. ตามเวลาในประเทศไทย นั่นหมายถึงตัวยานได้หมุนรอบดาวอังคารจนพ้นแนวบังคลื่น กลับมาในตำแหน่งที่มองเห็นจากโลก จนสัญญาณเดินทางกลับมาที่จานสายอากาศในเยอรมนีได้ ในเวลาต่อมาทางสำนักข่าวจีนก็ออกมายืนยันว่า ยานเทียนเวิ่น-1 สามารถชะลอความเร็วเข้าสู่วงโคจรรอบดาวอังคารที่ความสูง 400 กิโลเมตรได้สำเร็จ สร้างความยินดีแก่ชาวจีนทั้งประเทศ

 

นับจากนี้ ยานเทียนเวิ่น-1 จะโคจรรอบดาวอังคารไปอีก 3 เดือน จนถึงวันใดวันหนึ่งที่ยังไม่ระบุแน่ชัดในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ ทางจีนจะมีคำสั่งไปที่ยานเทียนเวิ่นเพื่อให้ทำการส่งยานอีก 2 ลำที่เดินทางไปด้วย นั่นคือยานแลนเดอร์และโรเวอร์ลงไปสู่ผิวดาวอังคาร เพื่อสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับจีนต่อไป

 

วัตถุประสงค์หลักๆ ในการเดินทางไปดาวอังคารในภารกิจนี้คือ การค้นหาร่องรอยหลักฐานของสิ่งมีชีวิตทั้งบนดินและใต้ดินในอดีตจวบจนปัจจุบัน, การสร้างแผนที่พื้นผิวของดาวแบบ 3 มิติ, การระบุลักษณะองค์ประกอบของดิน, การศึกษาการกระจายตัวของแหล่งน้ำและน้ำแข็ง, การตรวจสอบองค์ประกอบในชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์

 

เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ติดตั้งอยู่บนยาน ‘เทียนเวิ่น-1’ มีดังต่อไปนี้

 

ในส่วนของยานโคจร

  • กล้องถ่ายภาพความละเอียดปานกลาง Medium Resolution Camera (MRC) ครอบคลุมความละเอียดสัมพัทธ์ที่ระดับ 100 เมตร จากความสูง 400 กิโลเมตรบนวงโคจร
  • กล้องถ่ายภาพความละเอียดสูง High Resolution Camera (HRC) ครอบคลุมความละเอียดสัมพัทธ์ที่ 2 เมตร จากความสูง 400 กิโลเมตรบนวงโคจร
  • เครื่องวัดค่าสนามแม่เหล็ก Mars Magnetometer (MM)
  • สเปกโตรมิเตอร์ Mars Mineralogy Spectrometer (MMS) สำหรับระบุชื่อของธาตุในองค์ประกอบของวัตถุเป้าหมาย
  • เรดาร์ Orbiter Subsurface Radar (OSR)
  • เครื่องวิเคราะห์ไอออน Mars Ion and Neutral Particle Analyzer (MINPA)
  • เครื่องวิเคราะห์อนุภาค Mars Energetic Particle Analyzer

 

ในส่วนของยานโรเวอร์

  • เรดาร์ใต้ดิน Ground-Penetrating Radar (GPR) เพื่อสร้างภาพทางธรณีวิทยาในระดับความลึกถึง 100 เมตรจากผิวดาว
  • เครื่องวัดค่าสนามแม่เหล็กบนพื้นผิวดาว Mars Surface Magnetic Field Detector (MSMFD)
  • เครื่องวัดค่าทางอุตุนิยมวิทยา Mars Meteorological Measurement Instrument (MMMI)
  • เครื่องตรวจแยกสารประกอบบนผิวดิน Mars Surface Compound Detector (MSCD)
  • กล้องถ่ายภาพ Multi-Spectrum Camera (MSC)
  • กล้อง Navigation and Topography Camera (NTC)

 

สังเกตจากชื่อของยานจะเห็นว่ามีเลข 1 ต่อท้ายอยู่ นั่นคือสัญลักษณ์ที่บอกกับเราว่า ยานลำนี้คือลำดับแรกในโครงการเท่านั้น เราจะได้เห็นยานลำต่อไปออกเดินทางไปดาวอังคารในอีกไม่กี่ปีจากนี้อย่างแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X