×

‘อิดลิบ’ สมรภูมิสุดท้ายกับสภาวะ ‘มหาอำนาจหลายขั้ว’ ในตะวันออกกลาง

02.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS. READ
  • ‘อิดลิบ’ ในฐานะสมรภูมิสุดท้ายของสงครามกลางเมืองซีเรียนับว่ามีความสำคัญยิ่งกับทุกฝ่าย รวมถึงตัวแสดงจากภายนอกอย่างตุรกีที่หนุนหลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาล 
  • สำหรับซีเรียแล้ว เมืองนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เพราะตั้งอยู่ติดพรมแดนทางตอนเหนือของตุรกี หากรัฐบาลซีเรียสามารถยึดคืนอิดลิบได้ นอกจากจะทำลายฐานที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายกบฏแล้ว ยังสามารถตัดเส้นทางลำเลียงกำลังพลและอาวุธจากตุรกีที่ส่งมาให้ฝ่ายกบฏได้อีกด้วย
  • ปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสังเกตคือ การเปลี่ยนแปลงของสถานะและอำนาจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในขณะที่สถานะของสหรัฐฯ เริ่มเสื่อมคลายลง แต่รัสเซียกำลังเข้ามาเติมเต็มช่องว่างแห่งอำนาจที่สหรัฐฯ ได้ปล่อยทิ้งไว้
  • การที่ตุรกีแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์หันไปสนิทชิดเชื้อกับรัสเซีย ทั้งๆ ที่ยังยืนยันความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และยังดำรงความเป็นสมาชิกของนาโตนั้น สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ตุรกีกำลังใช้ประโยชน์จากสภาวะมหาอำนาจหลายขั้วในภูมิภาคตะวันออกกลาง

 

 

สงครามกลางเมืองซีเรียที่ยืดเยื้อมากว่า 9 ปีแล้วนั้น ไม่ได้เป็นเพียงการต่อสู้กันระหว่างกองกำลังฝ่ายต่างๆ ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นสนามแข่งขันระหว่างตัวแสดงจากภายนอกอีกด้วย ระยะหลังกองทัพรัฐบาลซีเรีย ซึ่งหนุนหลังโดยรัสเซียและอิหร่าน สามารถรุกคืบยึดคืนดินแดนได้เกือบทั้งประเทศ ยกเว้นก็แต่เมืองอิดลิบ (Idlib) ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายกบฏที่มีตุรกีหนุนหลัง

 

‘อิดลิบ’ ในฐานะสมรภูมิสุดท้ายของสงครามกลางเมืองซีเรีย นับว่ามีความสำคัญยิ่งกับทุกฝ่าย สำหรับซีเรียแล้ว เมืองนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เพราะตั้งอยู่ติดพรมแดนทางตอนเหนือของตุรกี มีถนนทางหลวงพาดผ่านไปยังเมืองอเลปโปทางทิศใต้ แล้วทอดยาวไปจนถึงกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรีย ส่วนทางตะวันตกก็มีทางหลวงอีกเส้นที่เชื่อมต่อไปถึงเมืองลาตาเกีย (Latakia) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ด้วยเหตุนี้ หากรัฐบาลซีเรียสามารถยึดคืนอิดลิบได้ นอกจากจะเป็นการทำลายฐานที่มั่นสุดท้ายของฝ่ายกบฏแล้ว ยังสามารถตัดเส้นทางลำเลียงกำลังพลและอาวุธจากตุรกีที่ส่งมาให้ฝ่ายกบฏได้อีกด้วย

 

แต่สำหรับตุรกี ซึ่งแสดงบทบาทสนับสนุนฝ่ายต่อต้านรัฐนั้น การล้มครืนลงของอิดลิบหมายถึงหายนะ เพราะนอกจากจะทำให้ฝ่ายกบฏพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิงในทุกพื้นที่ของซีเรียแล้ว ยังจะทำให้ตุรกีถูกผลักออกไปจากโต๊ะเจรจา ไร้ซึ่งอำนาจการต่อรองที่จะมีส่วนกำหนดอนาคตการเมืองซีเรียหลังสงครามกลางเมืองอีกด้วย 

 

เรื่องนี้สร้างความเสียหายใหญ่หลวง อันจะหมายถึงความพ่ายแพ้ทางการทูตของตุรกีที่สู้อุตส่าห์ลงทุนลงแรงเข้ามาแสดงบทบาทในสงครามกลางเมืองซีเรียอยู่นานหลายปี ทั้งๆ ที่หลายปัญหาความมั่นคงที่ท้าทายตุรกียังคงไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายจากกลุ่มติดอาวุธชาวเคิร์ดในซีเรีย หรือปัญหาผู้ลี้ภัยซีเรีย ซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในตุรกีมากกว่า 3.6 ล้านคน

 

ด้วยความสำคัญของอิดลิบทำให้นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2019 กองทัพของซีเรีย ได้รุกโจมตีเมืองติดชายแดนตุรกีแห่งนี้ หวังยึดคืนพื้นที่จากฝ่ายกบฏที่มีตุรกีหนุนหลัง ยังผลให้ชาวเมืองกว่า 1 ล้านคน ต้องทิ้งถิ่นฐาน ขณะที่ตุรกีก็ได้ส่งทหารหลายพันนายและยุทโธปกรณ์หนักเข้าสู่ซีเรีย ประธานาธิบดีของตุรกีออกมาเตือนว่า “ตุรกีจะเปิดการรุกโจมตีเต็มรูปแบบ เพื่อขับไล่ทหารซีเรียหากไม่ยอมถอนกำลังออกจากที่ตั้งตรวจการณ์ของตุรกีในพื้นที่นั้น” 

 

แม้ตุรกีจะออกมาแสดงท่าทีดุดันดังกล่าว แต่กองทัพซีเรียก็หาได้สนใจไม่ ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีข่าวการโจมตีทางอากาศที่อิดลิบอีกครั้ง ส่งผลให้ทหารตุรกีเสียชีวิต 33 นาย และบาดเจ็บอีก 32 นาย ทำให้จำนวนทหารตุรกีที่สังเวยชีวิตในการสู้รบมียอดสะสมรวม 54 นายแล้ว (เฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์) และเพื่อตอบโต้การสังหารทหารของตน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของตุรกีได้ออกมาแสดงท่าทีว่า “ตุรกีจะไม่ขัดขวางผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่ต้องการเดินทางไปยังยุโรปอีกต่อไป นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศจัดตั้งเขตห้ามบินเหนือเมืองอิดลิบอีกด้วย”

 

สถานการณ์ที่พัฒนาไปเช่นนี้ในด้านหนึ่งได้สะท้อนให้เห็นวิกฤตสงครามกลางเมืองซีเรียที่กำลังปรับเปลี่ยนรูปโฉมใหม่ จากสงครามภายในที่มีตัวแสดงภายนอกเข้ามาแทรกแซง จนทำให้ซีเรียกลายเป็นสนามสู้รบของสงครามตัวแทน (Proxy War) อาจกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ตัวแสดงภายนอกเข้ามาทำสงครามโดยตรง หรือพูดอีกอย่างคือ สมรภูมิซีเรียกำลังจะกลายเป็นสมรภูมิการปะทะเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับรัฐ อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่พึ่งประสงค์หลายประการ ทั้งปัญหาการไหล่บ่าของผู้ลี้ภัย ปัญหาการก่อการร้ายที่อาจฟื้นคืนกลับ  และปัญหาด้านมนุษยธรรม ฯลฯ 

 

แต่ประเด็นที่บทความชิ้นนี้ต้องการให้น้ำหนักคือ การวิเคราะห์สภาวะ ‘มหาอำนาจหลายขั้ว’ ในบริบทตะวันออกกลางใหม่ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดเหนือดินแดนอิดลิบขณะนี้ โดยศึกษาผ่านความสัมพันธ์ระหว่างตุรกี รัสเซีย และสหรัฐฯ 

 

 

สภาวะ ‘มหาอำนาจหลายขั้ว’ ในบริบทตะวันออกกลางใหม่

กว่าหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา หลังอาหรับสปริง นักวิชาการส่วนใหญ่ที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคตะวันออกกลางมักอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแบบกว้างๆ จุดสำคัญของแนวการวิเคราะห์ดังกล่าวมักเน้นศึกษาประเด็นการแปรเปลี่ยนของอำนาจรัฐ หรือไม่ก็ศึกษาแบบแผนความเปลี่ยนแปลงจากการเป็นพันธมิตรสู่ความเป็นศัตรูคู่ขัดแย้ง และรวมถึงการศึกษาอิทธิพลของตัวแสดงที่เป็นมหาอำนาจจากภายนอก 

 

แต่น้อยคนนักที่จะให้ความสนใจแนวการวิเคราะห์ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภูมิภาคตะวันออกกลาง ผ่านจุดเชื่อมต่อระหว่างการเมืองภายในของรัฐกับการเมืองระดับภูมิภาค อันจะทำให้สามารถเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นได้อย่างลุ่มลึกและรอบด้านมากขึ้น

 

ปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสังเกตคือ การเปลี่ยนแปลงของสถานะและอำนาจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง หลังสงครามเย็นเราเห็นได้ชัดว่า สหรัฐฯ คืออภิมหาอำนาจหนึ่งเดียวที่กำหนดชะตากรรมความเป็นไปของตะวันออกกลาง แต่สถานะดังกล่าวของสหรัฐฯ ในปัจจุบันกำลังเสื่อมคลายลง การรุกรานอิรักของสหรัฐฯ เมื่อปี 2003 ก่อให้เกิดความหายนะใหญ่หลวง จนทำให้สหรัฐฯ ต้องถอนตัวออกไปจากอิรักบางส่วน 

 

ขณะเดียวกัน การที่รัสเซียได้เบียดกับสหรัฐฯ เข้ามาเป็นตัวแสดงหลักของภูมิภาค โดยเฉพาะจากสถานการณ์สงครามกลางเมืองซีเรีย เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายสรุปตรงกันว่า “รัสเซียกำลังเข้ามาเติมเต็มช่องว่างแห่งอำนาจที่สหรัฐฯ ได้ปล่อยทิ้งไว้” 

 

ในอีกด้านหนึ่ง จีนก็แผ่ขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจทะลวงลึกเข้าไปถ้วนทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง ลักษณะเช่นนี้พอสรุปได้ในระดับหนึ่งว่า สถานะของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลางขณะนี้กำลังถูกท้าทาย สหรัฐฯ เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ มหาอำนาจที่กำลังแสดงบทบาทในตะวันออกกลางอยู่ขณะนี้

 

แต่ในอีกทางหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า รัฐส่วนใหญ่ในตะวันออกกลางยังคงยืนยันแสดงความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ แต่ที่น่าสนใจคือ ในขณะเดียวกันประเทศเหล่านี้กลับเชื่อมต่อความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอื่นที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ ไม่ว่าจะเป็นรัสเซียหรือจีน โครงสร้างที่มีมหาอำนาจหลายขั้วในตะวันออกกลางดังกล่าวทำให้รัฐใหญ่ๆ ในภูมิภาคมีอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้น หรือบางครั้งก็สามารถกดดันให้มหาอำนาจจากภายนอกจัดการกับคู่แข่งของตนเองภายในภูมิภาค 

 

กล่าวอีกอย่างคือ แทนที่รัฐต่างๆ ในตะวันออกกลางขณะนี้จะถูกกดดันและถูกบีบบังคับให้ทำตามคำสั่งของมหาอำนาจภายนอกอย่างที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้หรืออย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่วันนี้รัฐใหญ่ๆ ในตะวันออกกลางอาจเป็นฝ่ายที่ใช้มหาอำนาจเป็นเครื่องมือ เพื่อดำรงผลประโยชน์ของตนในภูมิภาค เพราะบริบทใหม่ของตะวันออกกลางที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ สภาวะ ‘มหาอำนาจหลายขั้ว’ ไม่ใช่สภาวะมหาอำนาจขั้วเดียวเหมือนแต่ก่อน

 

ย้อนวิเคราะห์ความสัมพันธ์รัสเซีย-ตุรกี

เมืองอิดลิบถือเป็น 1 ใน 4 เมืองที่ตุรกี อิหร่าน และรัสเซีย ได้ทำข้อตกลงระหว่างกันในปี 2017 ที่จะสร้าง ‘เขตปลอดความรุนแรง (De-Escalation Zone)’ อันประกอบด้วยเมืองอิดลิบ อเลปโป ลาตาเกีย และฮอมส์ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ฝั่งตะวันตกของซีเรียเกือบทั้งหมด แต่ในช่วงเวลาไม่ถึงปีที่ผ่านมา กองทัพซีเรียกลับใช้ปฏิบัติการทหารยึดคืนพื้นที่ 3 เมืองข้างต้น จากฝ่ายกบฏได้สำเร็จ โดยไม่สนใจข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น เหลือเฉพาะแต่เมืองอิดลิบที่ยังอยู่ในการควบคุมของฝ่ายต่อต้านรัฐ ปฏิบัติการทางทหารแต่ละครั้งของซีเรียยังผลให้เกิดปัญหาผู้ผลัดถิ่นไหลไปรวมตัวกันอยู่ในเมืองอิดลิบเป็นจำนวนมาก

 

เพื่อไม่ให้อิดลิบถูกยึดคืนเหมือนอีก 3 พื้นที่ดังกล่าว ในปี 2018 ตุรกีจึงได้ทำข้อตกลงกับรัสเซียใหม่ ลงนามกันที่เมืองโซจิ เพื่อจัดตั้งเขตปลอดทหารในเมืองอิดลิบ ฝ่ายตุรกีให้คำมั่นที่จะปลดอาวุธและขับไล่กลุ่มฮายัต ตะห์รีร อัช-ชาม (Hay’et Tahrir al-Sham: HTS) ซึ่งเป็นเครือข่ายของขบวนการอัลกออิดะห์ในซีเรียให้ออกไปจากเมืองอิดลิบ ขณะเดียวกันตุรกีก็ได้รับ ‘ใบเบิกทาง’ ให้กองกำลังทหารของตนเข้ามาตั้งด่านตรวจการณ์ 12 จุด เพื่อป้องกันกองทัพซีเรียที่อาจรุกคืบเข้ามาในอิดลิบ 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่เคยถูกนำไปปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง เพราะตุรกีเองก็ไม่สามารถบังคับ HTS ให้ออกไปจากเขตปลอดทหารได้ ขณะที่รัสเซียเองก็ไม่ได้หยุดยั้งกองกำลังซีเรียจากการโจมตีและยึดคืน ‘เขตปลอดภัย’ ในเมืองอิดลิบ จนกลายเป็นวิกฤตการเผชิญหน้าระหว่างตุรกีกับซีเรีย (ซึ่งกระทำการในนามของรัสเซีย) ในสมรภูมิอิดลิบอย่างที่เป็นข่าวปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

 

ตุรกีเองพยายามหลีกเลี่ยง ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับรัสเซีย ประสบการณ์ครั้งที่แล้วตอนที่ตุรกียิงเครื่องบินรบรัสเซียตกใกล้พรมแดนตุรกี-ซีเรียเมื่อปี 2015 ยังคงอยู่ในความทรงจำของตุรกีมาตลอด ครั้งนั้นแม้รัสเซียไม่ได้ใช้ปฏิบัติการทหารตอบโต้ แต่ก็ใช้มาตรการกดดันทางเศรษฐกิจ ห้ามนำเข้าสินค้าจากตุรกี และประกาศไม่ให้พลเมืองรัสเซียเข้ามาท่องเที่ยวในตุรกี เท่านี้ก็กระทบต่อเศรษฐกิจของตุรกีอย่างใหญ่หลวงแล้ว อีกทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปขณะนั้นกลับไม่ได้มีท่าทีสนับสนุนตุรกีในการเผชิญหน้ากับรัสเซียแต่อย่างใด สิ่งที่ทำให้ตุรกีผิดหวังอย่างมากคือ พันธมิตรเดิมของตนอย่างสหรัฐฯ กลับมีท่าทีวางเฉยต่อความพยายามในการรัฐประหารรัฐบาลตุรกีเมื่อปี 2016 

 

แต่ถึงอย่างนั้นระบบโครงสร้างระหว่างประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ไม่ได้มีมหาอำนาจหนึ่งเดียวเหมือนแต่ก่อน ก็ทำให้ตุรกีมีทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องพึ่งพิงสหรัฐฯ แต่เพียงฝ่ายเดียว หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น ตุรกีได้เลือกเส้นทางการโน้มเอียงเข้าหารัสเซีย เริ่มจากการที่ประธานาธิบดีตุรกีออกมาแสดงความรับผิดชอบ และขอโทษรัสเซียที่เกิดความผิดพลาด จนทำให้เครื่องบินรบรัสเซียถูกยิงตก อันเป็นการปูทางไปสู่ความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซียในท้ายที่สุด

 

ระยะหลังตุรกีมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัสเซียมากขึ้น รัสเซียกลายเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ การค้าระหว่าง 2 ประเทศ มีมูลค่ามากกว่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่วันนี้ รัสเซียก็กลายเป็นประเทศหลักที่ส่งจ่ายพลังงาน ทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันให้แก่ตุรกี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน และปิดกั้นอิหร่านไม่ให้สามารถส่งออกพลังงานน้ำมันออกไปขายในตลาดโลก ทำให้ตุรกีต้องหันไปพึ่งพลังงานจากรัสเซียมากขึ้น

 

นอกจากนี้ตุรกียังกลายเป็นประเทศศูนย์กลางที่เชื่อมต่อการส่งจ่ายก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเข้าไปในยุโรป เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาผู้นำตุรกีและรัสเซียเพิ่งร่วมกันเปิดงานโครงการ ‘Turk Stream’ อันเป็นโครงการท่อส่งก๊าซจากทะเลดำทางฝั่งรัสเซียเข้าไปยังภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ก่อนที่จะถูกส่งเข้าไปขายให้ยุโรปอีกทีหนึ่ง ในอีกทางหนึ่งตุรกีเองก็คาดหวังว่า รัสเซียจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่สนับสนุนตนเองสำรวจและขุดเจาะก๊าซธรรมชาติทางด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งยังคงเป็นพื้นที่แย่งชิงกับประเทศกรีซอยู่ และดูเหมือนว่าสหรัฐฯ จะให้การหนุนหลังกรีซ

 

แต่ที่สำคัญซึ่งทำให้สหรัฐฯ ไม่พอใจตุรกีอย่างยิ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่างตุรกีกับรัสเซียในด้านการทหาร ที่ผ่านมาตุรกีได้ซื้อระบบป้องกันขีปนาวุธ S-400 จากรัสเซีย (แม้ว่าตุรกียังคงสถานะเป็นพันธมิตรในองค์การนาโตอยู่ก็ตาม) อีกทั้งยังมีการหารือกับรัสเซียในความเป็นไปได้ที่ตุรกีจะซื้อเครื่องบินรบแบบ Su-35 และ Su-57 ในอนาคตจากรัสเซียอีกด้วย

 

การที่ตุรกีแปรเปลี่ยนความสัมพันธ์หันไปสนิทชิดเชื้อกับรัสเซียทั้งๆ ที่ยังยืนยันความเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และยังดำรงความเป็นสมาชิกของนาโต สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ตุรกีกำลังใช้ประโยชน์จากสภาวะมหาอำนาจหลายขั้วในภูมิภาคตะวันออกกลาง อันมีเป้าหมายที่จะดำรงบทบาทและผลประโยชน์ของตนในสงครามกลางเมืองซีเรีย

 

ตุรกี-รัสเซียจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ท่ามกลางแรงกดดันที่ถาโถมเข้าใส่ตุรกีหลังจากที่กองทัพซีเรียใช้ปฏิบัติการทางทหารหมายยึดคืนพื้นที่เมืองอิดลิบ นักวิเคราะห์อย่าง มาร์วาน คาบาลัน ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและวิจัยโลกอาหรับ ได้คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ว่าอาจเป็นไปได้อย่างน้อย 3 ทางด้วยกัน

 

ในทางแรก ซึ่งฝ่ายตุรกีคงคาดหวังอยากเห็นสถานการณ์ให้เป็นไปตามแนวทางนี้คือ การที่รัสเซียจะหันกลับมาเจรจากับตุรกี ยอมที่จะย้อนกลับไปยึดถือข้อตกลง เพื่อสร้างเขตปลอดภัยตามที่เคยตกลงกันเอาไว้ ขณะเดียวกันก็ผลักดันให้กองกำลังซีเรียถอยออกไปจากด่านตรวจการณ์ของตุรกีในเมืองอิดลิบ พร้อมๆ กันนั้นก็ให้เดินหน้ากระบวนการทางการเมืองที่ตุรกี อิหร่าน และรัสเซีย ได้เริ่มต้นเอาไว้ นั่นคือการฟื้นคืนแนวทางแก้ไขปัญหาสงครามกลางเมืองซีเรียด้วยสันติวิธี จัดประชุมคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับที่ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลซีเรีย ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และประชาคมโลกให้การยอมรับ 

 

แนวทางอย่างนี้ก็อาจเป็นไปได้ เพราะถึงแม้ตุรกีจะออกมาข่มขู่ซีเรียที่จะใช้กำลังทางทหารเต็มรูปแบบจากสถานการณ์ล่าสุด แต่ตุรกีคงไม่ปรารถนาเช่นนั้น เพราะตุรกีรู้ดีว่าเบื้องหลังซีเรียคือ กองทัพอันทรงอำนาจของรัสเซีย 

 

แนวทางที่ 2 ซึ่งอาจเกิดขึ้นคือ ตุรกียอมรับสภาพความเป็นจริง และปล่อยให้กองกำลังซีเรียสามารถควบคุมทางหลวงสาย M4 และ M5 ไป แต่ขณะเดียวกันตุรกีก็จะใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อขัดขวางกองทัพซีเรียไม่ให้ยึดคืนพื้นที่อื่นๆ พร้อมทั้งพยายามสร้าง ‘เขตปลอดภัย’ ในเมืองอิดลิบ โดยการเพิ่มกองกำลังทหารตุรกีเข้าไปเพื่อป้องกันการรุกคืบของกองทัพซีเรีย พร้อมกันนั้นก็จัดหาอาวุธหนักให้ฝ่ายต่อต้านรัฐ โดยเฉพาะขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน หากดูตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นปัจจุบัน ดูเหมือนว่าตุรกีได้นำนโยบายนี้ไปใช้แล้ว เนื่องจากเฮลิคอปเตอร์ของรัฐบาลซีเรีย 2 ลำถูกโจมตีในเมืองอิดลิบด้วยอาวุธต่อต้านอากาศยาน

 

แนวทางสุดท้าย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ตุรกีต้องการหลีกเลี่ยงมากสุดคือ การเผชิญหน้าปะทะต่อสู้กับรัสเซีย การติดตั้งระบบป้องกันอากาศยานในเมืองอิดลิบและบริเวณโดยรอบ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่เครื่องบินรัสเซียอาจถูกยิงตก จริงๆ แล้วทางตุรกีก็คงใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงพัฒนาการอันตรายที่อาจเกิดขึ้นในลักษณะนี้ แต่การเพิ่มกำลังทางทหารของตุรกีและการติดตั้งขีปนาวุธ ป้องกันอากาศยานขณะนี้ต้องเรียกได้ว่า เป็นสถานการณ์ล่อแหลมที่ทำให้การปะทะเผชิญหน้าระหว่างตุรกี-รัสเซียมีโอกาสเกิดขึ้นเหมือนเหตุการณ์ที่เครื่องบินรบรัสเซียถูกยิงตกเมื่อปี 2015 

 

ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นไปในแนวทางใด ความตึงเครียดที่เกิดขึ้นระหว่างตุรกีกับรัสเซียขณะนี้เป็นเรื่องที่ตุรกีต้องใช้ความระมัดระวังอย่างหนัก ยังดีที่สภาวะหลายขั้วอำนาจในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทำให้ตุรกียังพอมีช่องทางที่จะกดดันต่อรองกับรัสเซีย นั่นคือการกลับไปพึ่งพันธมิตรเดิมอย่างสหรัฐฯ และการใช้ความเป็นพันธมิตรนาโต 

 

ล่าสุด ตัวแทนระดับสูงของสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงท่าทีหลังจากที่ได้ปรึกษากับตุรกีว่า “ตุรกีมีสิทธิ์ที่จะตอบโต้การถูกคุกคามในอิดลิบ และเรายังคงสนับสนุนตุรกี” นอกจากนั้นยังกล่าวอีกว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นในอิดลิบวันนี้ ถือเป็นการโจมตีหนึ่งในพันธมิตรนาโตของเรา”

 

ท้ายนี้คงต้องติดตามต่อไปครับว่า ตุรกี รัสเซีย และสหรัฐฯ จะตัดสินใจในสถานการณ์ความตึงเครียดเหนือดินแดนอิดลิบอย่างไร แต่เชื่อได้เลยว่า ก้าวย่างที่แต่ละฝ่ายจะเลือกเดินต่อไป ย่อมส่งผลให้ภูมิทัศน์สงครามกลางเมืองในซีเรียเปลี่ยนแปลง

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X