×

‘ยกเลิกการตกชั้น ไม่อย่างนั้นไม่แข่ง’ คำขู่จาก 8 ทีมกบฏที่จะนำพรีเมียร์ลีกไปสู่ทางตัน

04.05.2020
  • LOADING...

แผนการในการเตรียมกลับมาแข่งต่อของ ‘พรีเมียร์ลีก’ อาจพบกับอุปสรรคสำคัญอีกขั้น เมื่อปฏิกิริยาจากกลุ่มสโมสรที่เชื่อว่ามีมากถึง 8 ทีมที่ไม่เห็นด้วยกับการแข่งต่อในสนามกลาง จนนำไปสู่การยื่นคำขาดว่าจะรับรองแผนดังกล่าวต่อเมื่อ ‘ยกเลิกการตกชั้น’ ในฤดูกาลนี้ก่อนเท่านั้น

 

ย้อนหลังกลับไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาในการประชุมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกซึ่งเป็นนัดสำคัญ เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการพูดคุยถึงแผนการกลับมาทำการแข่งขันต่ออย่างจริงจังภายใต้ชื่อ Project Restart โดยมีการสนับสนุนจากรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการให้เกมฟุตบอลกลับมาดำเนินการต่ออีกครั้งให้จบฤดูกาล เพราะสำคัญต่ออุตสาหกรรมวงการฟุตบอลทั้งระบบ และยังสามารถช่วยทำให้ขวัญกำลังใจของคนในชาติที่ซึมเศร้ากับการล็อกดาวน์ดีขึ้นได้อีกด้วย

 

ในการประชุมนัดดังกล่าวมีบทสรุปตามการแถลงของพรีเมียร์ลีกว่า ‘ทุกฝ่ายย้ำความตั้งใจที่จะแข่งให้จบฤดูกาล’ อีกครั้ง

 

อย่างไรก็ดี มีหลายประเด็นที่มีเครื่องหมายคำถาม ซึ่งหนึ่งในเรื่องสำคัญที่เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากถึงความเหมาะสมคือการที่จะให้การแข่งขันมีขึ้นใน ‘สนามปิด’ และไม่มีการใช้สนามเหย้าของตัวเอง แต่จะต้องแข่งใน ‘สนามกลาง’ ที่คาดว่าจะใช้จำนวน 8-10 แห่ง เพื่อทำการแข่งขันที่เหลืออีก 92 นัด

 

ประเด็นการแข่งในสนามกลางเป็นสิ่งที่สโมสรหลายแห่งยังไม่ยอมรับ และเสียงสะท้อนดังกล่าวเริ่มดังขึ้นตามรายงานล่าสุดในอังกฤษที่ระบุว่ามีการรวมตัวกันของสโมสรถึง 8 ทีมที่ยื่นคำขาดที่ทำให้อีกฝ่ายต้องหนักใจ

 

สนามเวมบลีย์เป็นหนึ่งในสนามที่ถูกเสนอให้เป็นสนามกลางที่ใช้ทำการแข่งขัน

 

ข้อเรียกร้องและเหตุผลของเหล่ากบฏ

แม้จะไม่มีการเปิดเผยชื่อ 8 สโมสรกบฏออกมา แต่เชื่อว่า 1 ใน 8 ทีมจะมีชื่อของ ไบรท์ตัน แอนด์​ โฮฟ อัลเบียน รวมอยู่ด้วยอย่างแน่นอน เนื่องจากเป็นสโมสรแรกๆ ที่มีการออกมาแสดงความเห็นต่อต้านแนวคิดของการแข่งในสนามกลาง

 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในโปรแกรมการแข่งขันที่เหลือจนจบฤดูกาล ไบรท์ตัน สโมสรในอันดับที่ 15 ยังเหลือเกมในบ้าน 5 นัด ซึ่งใน 4 นัดนั้นเป็นการเจอกับทีมระดับท็อปอย่างอาร์เซนอล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ซิตี้

 

การที่ทีมที่ต้องลุ้นหนีตกชั้นจะต้องเล่นในสนามที่ไม่มีแฟนบอลของตัวเองนั้นมันแย่อยู่แล้ว การที่ต้องไปเตะในสนามกลางที่ไม่ใช่สนามที่ตัวเองคุ้นเคย ยิ่งทำให้ความได้เปรียบที่พึงมีหายไปนั้นเป็นสิ่งที่แย่ยิ่งกว่าในความเห็นของ พอล บาร์เบอร์ ประธานบริหารไบรท์ตัน

 

“ความเสียเปรียบของเราที่จะไม่สามารถเล่นกับทีมระดับท็อปในบ้าน ในบรรยากาศที่คุ้นเคย แม้แต่แฟนบอลอัลเบียน 27,000 คนในสนามเอเม็กซ์มันชัดเจนมาก

 

“แน่นอนว่าเราต้องยอมรับว่ามันก็มีข้อดีอยู่บ้างกับการที่เราจะได้เล่นเกมนอกบ้านที่เหลืออีก 4 นัดในสนามกลาง แต่โปรแกรมมันก็ไม่ได้มีความเท่าเทียมกันอยู่แล้วในช่วงเวลานี้ของฤดูกาล และเราก็ไม่ได้เล่น 29 นัดที่ผ่านมาของฤดูกาลเพื่อแบบนี้ ดังนั้นในความเห็นของเรา สิ่งหนึ่งมันไม่ควรที่จะมาลบล้างอีกสิ่งหนึ่งได้”

 

ไบรท์ตันไม่ใช่สโมสรเดียวที่ไม่พอใจในการแก้ปัญหาแบบนี้ ในรายงานข่าวคาดว่ามีถึง 8 สโมสรที่เห็นตรงกัน ซึ่งเรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง

 

ที่สำคัญ เพราะในการโหวตใดๆ ก็ตามของพรีเมียร์ลีกจะต้องใช้เสียงมากกว่า 2 ใน 3 หรืออย่างน้อย 14 ทีมเพื่อรับรองผล 

 

ถ้ามีสโมสร 7 แห่งหรือมากกว่าโหวตไม่เห็นด้วยกับการใช้สนามกลางแข่งในการโหวตครั้งสำคัญในวันจันทร์หน้า (11 พฤษภาคม) นั่นหมายถึงการแข่งที่สนามกลางจะถูกยกเลิก และจะนำไปสู่การต้องหาทางออกใหม่ในฤดูกาลที่เหลือ

 

นั่นทำให้ 8 สโมสรในเวลานี้จับมือกันเหนียวแน่นพร้อมกับข้อเรียกร้องที่ชัดเจน

 

พวกเขาจะยอมรับข้อเสนอทั้งหมดก็ต่อเมื่อ ‘ยกเลิกการตกชั้น’ เท่านั้น

 

เพราะถ้ามีการตกชั้น หมายถึงสโมสรมีความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียเงินในหลัก ‘ร้อยล้านปอนด์’ ซึ่งเป็นความเสี่ยงมากและยากจะยอมรับได้ง่ายๆ

 

และถ้าข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจะทำให้พรีเมียร์ลีกกลับมามีจำนวน 22 ทีมเหมือนในช่วงของการก่อตั้งเมื่อปี 1992 ส่วนในฤดูกาลอาจจะเพิ่มจำนวนทีมตกชั้นเป็น 5 ทีมแทนที่จะเป็น 3 ทีม แต่ทางเลือกนี้ยังไม่เคยมีการหารือร่วมกันมาก่อน

 

ลีกเอิงประสบปัญหาหนัก หลังตัดจบฤดูกาลทั้งการฟ้องร้องจากทีมที่เสียผลประโยชน์และเรื่องสัญญาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด

 

ถ้าไม่กลับมาแข่ง เกมฟุตบอลจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม

ทางด้าน สตีฟ พาริช ประธานสโมสรคริสตัล พาเลซ มองว่าการที่ทุกสโมสรยังมีโอกาสได้กลับมาทำการแข่งขันนั้นถือเป็นข้อเสนอที่ยุติธรรมที่สุดในเวลานี้แล้ว

 

เพราะอย่างน้อยทุกทีมก็ยังได้ตัดสินชะตาตัวเอง ‘ในสนาม’

 

“มันไม่มีคำตอบง่ายๆ ในเรื่องนี้ แต่เราจำเป็นต้องพยายามจะลงเล่น ถ้าเราสามารถทำให้มันปลอดภัยได้มากพอ

 

“ผมเชื่อว่าเราทำได้และควรจะแข่งต่อ ถึงแม้ว่ามันอาจจะมีอะไรที่ไม่สมบูรณ์บ้าง ไม่ว่าจะเป็นสนามกลาง สนามที่ไม่มีคนดู และอื่นๆ แต่ถ้าเราทำไม่ได้ ผมกลัวว่าในฤดูกาลหน้า เกมฟุตบอลมันอาจจะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป

 

“ผมอยากจะให้ฤดูกาลนั้นจบลงสมบูรณ์ด้วยเหตุผลของเรื่องหลักคือเกมกีฬา ผมอยากให้ลิเวอร์พูลได้เป็นแชมป์ และให้ทุกสโมสรได้มีโอกาสในการที่จะจบฤดูกาลด้วยอันดับที่ดีที่สุดที่พวกเขาสามารถทำได้ ผมไม่อยากจะต้องคุยกันในเรื่องการปิดฤดูกาล การโมฆะ หรือการคิดคะแนนเฉลี่ยต่อเกม

 

“ผลกระทบของเรื่องนี้มีความซับซ้อนและอาจจะนำไปสู่การดำเนินการทางกฎหมายที่อาจจะใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี แต่แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมันก็เกี่ยวกับเรื่องเงิน และเราทุกคนก็ควรใส่ใจกับเรื่องนี้”

 

ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดถึงตลอดคือเรื่องมูลค่าของความเสียหายในกรณีที่ไม่สามารถแข่งขันได้จบฤดูกาล ซึ่งเฉพาะในพรีเมียร์ลีกนั้นสูงถึง 1.1 พันล้านปอนด์ โดยส่วนใหญ่คือค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันที่สูงถึง 752 ล้านปอนด์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สโมสรทุกแห่งจะต้องรับผิดชอบร่วมกันหากแข่งต่อไม่ได้

 

ปัญหานี้เกิดขึ้นแล้วในประเทศฝรั่งเศส เมื่อมีการประกาศตัดจบฤดูกาลตามมาตรการของรัฐบาลที่ไม่อนุญาตให้แข่งฟุตบอลได้จนกว่าจะถึงเดือนกันยายน ทำให้ผู้ที่ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดอย่าง Canal+ และ beIN SPORTS ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่เหลือให้ โดย Canal+ ถึงขั้นยกเลิกสัญญาการถ่ายทอดสดด้วย

 

สำหรับในอังกฤษ พาริชเชื่อว่า Project Restart จะช่วยให้เกมฟุตบอลอังกฤษกลับมาเขี่ยบอลได้อีกครั้ง

 

นอกจากนี้ในแผนการที่พรีเมียร์ลีกได้เตรียมไว้ค่อนข้างมีแนวทางที่รัดกุม ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมหรือการแข่ง ซึ่งอาจจะปลอดภัยมากกว่าการเดินออกไปซูเปอร์มาร์เก็ตเพื่อซื้อของเข้าบ้านด้วยซ้ำ

 

“ผมได้เห็นข้อเสนอของการซ้อม การเดินทาง และแม้ว่ามันจะมีความท้าทาย ในเวลาเดียวกันข้อเสนอเหล่านี้ก็มอบการปกป้องนักฟุตบอล สตาฟฟ์ และเจ้าหน้าที่ ซึ่งผมเชื่อว่ามันจะเป็นการทำให้พรีเมียร์ลีกคือหนึ่งในที่ปลอดภัยที่สุดในเวลานี้ ปลอดภัยมากกว่าการเดินทางไปซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยซ้ำ” พาริชกล่าว

 

สำหรับทางออกอื่นที่เป็นไปได้คือการใช้คะแนนเฉลี่ยต่อเกมเพื่อตัดสินอันดับในลีกเหมือนลีกฝรั่งเศส แต่ในลีกเอิงก็มีปัญหา เมื่อสโมสรที่เสียผลประโยชน์อย่างลียงพร้อมฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และมีหลายฝ่ายชี้ว่าเป็นการด่วนตัดสินใจโดยพลการเกินไป

 

ขณะที่ลีกฟุตบอลในระดับท็อปแห่งอื่น ไม่ว่าจะเป็นบุนเดสลีกา, เซเรีย อา หรือลาลีกา ต่างมีความตั้งใจจะกลับมาทำการแข่งขันต่อเช่นกัน แต่ยังไม่มีลีกใดที่มีแนวโน้มจะกลับมาได้อย่างชัดเจน แม้แต่บุนเดสลีกาในประเทศเยอรมนีที่ตั้งท่าจะกลับมาแข่งต่อในวันที่ 16 หรือ 23 พฤษภาคม แต่ล่าสุดมี 3 คนในทีมโคโลญจน์ที่ติดเชื้อ (ไม่ระบุว่าเป็นนักฟุตบอลหรือสตาฟฟ์) และทำให้เริ่มมีการเรียกร้องว่าอย่าเพิ่งกลับมาทำการแข่งขันต่อในเวลานี้

 

การกลับมาของพรีเมียร์ลีกจึงไม่ใช่เรื่องง่าย มีอุปสรรคยากๆ ที่ต้องก้าวผ่านอีกมาก และมันจะไม่มีวันสำเร็จได้เลยหากไม่มีการร่วมมือร่วมใจกันของทุกฝ่าย

 

Key Dates ของเกมฟุตบอลอังกฤษ

10 พ.ค. นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน จะอัปเดตสถานการณ์ในเรื่องของการล็อกดาวน์

11 พ.ค. พรีเมียร์ลีกเปิดประชุมหลังได้รับการอัปเดตจากรัฐบาล

12 พ.ค. อนุญาตให้ทำการซ้อมกลุ่มเล็กและรักษาระยะห่าง

25 พ.ค. อนุญาตให้ทำการซ้อมที่สามารถสัมผัสกายกันได้

12 มิ.ย. พรีเมียร์ลีกกลับมาทำการแข่งอีกครั้ง จะไม่มีการแข่ง 2 แมตช์ในเวลาเดียวกันเพื่อให้มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ให้มากที่สุด

27 ก.ค. ปิดฤดูกาลพรีเมียร์ลีก 2019-20

3 ส.ค. หลังพัก 1 สัปดาห์ นักฟุตบอลกลับมารายงานตัวทำการฝึกซ้อม

8 ส.ค. นัดชิงเอฟเอคัพ แต่อาจจะจัดในช่วงกลางสัปดาห์วันที่ 5 สิงหาคมตอนนี้เหลือเกมอีก 7 นัด และทุกนัดจะแข่งที่เวมบลีย์

9 ส.ค. แชมเปียนส์ลีกและยูโรปาลีกกลับมาทำการแข่งต่อ และจบการแข่งภายใน 3 สัปดาห์

22 ส.ค. กำหนดการที่หวังว่าจะเริ่มต้นฤดูกาลใหม่พรีเมียร์ลีก 2020-21 โดยก่อนหน้านั้นคือการซ้อมพรีซีซัน 3 สัปดาห์

29 ส.ค. นัดชิงแชมเปียนส์ลีกที่อิสตันบูล

12 ก.ย. กำหนดการในแผนสำรองฉุกเฉินในการเปิดฤดูกาลพรีเมียร์ลีก หากทุกอย่างล่าช้ากว่าที่คาด

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X