เมื่อวานนี้ (3 มีนาคม) สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ออกคำแนะนำเรื่องการใช้หน้ากากเพื่อป้องกันการติดต่อโรคโควิด-19 โดยระบุรายละเอียดในคำแนะนำดังนี้
1.ผู้ที่มีอาการไข้หวัดทุกคน ใส่หน้ากากอนามัย ให้ติดเป็นนิสัย ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป แม้ปัญหาเรื่องโควิด-19 จะหมดไปแล้ว
2.ผู้ที่มีประวัติเดินทางไปสถานที่เสี่ยงหรือใกล้ชิดผู้ที่เสี่ยง ใส่หน้ากากอนามัย แม้จะไม่มีอาการ
3.ผู้ที่ต้องช่วยดูแลบุคคลในข้อ 2 ใส่หน้ากากอนามัย
4.ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ปิดที่มีคนอยู่แออัด ทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ เช่น รถสาธารณะ ร้านอาหาร โรงมหรสพ ใส่หน้ากากอนามัย
5.ผู้ที่จะไปติดต่อโรงพยาบาลด้วยเหตุใดๆ (ช่วงนี้ให้เลี่ยงไปโรงพยาบาลถ้าไม่จำเป็นจริงๆ) ใส่หน้ากากอนามัย
6.พนักงานขับรถสาธารณะหรือให้บริการสาธารณะอื่นที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก ใส่หน้ากากอนามัย
7.บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยทั่วไป ใส่หน้ากากอนามัย และถ้าเป็นผู้ป่วยมีอาการไข้หวัดหรือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ใส่หน้ากากอย่างน้อยเทียบเท่า N95 เพราะถ้าได้รับเชื้อแล้วจะไปแพร่ให้ผู้ป่วยอื่นได้ง่าย
ส่วนในกรณีอื่นๆ ถ้าจัดหาหน้ากากอนามัยได้ง่าย เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะใส่เมื่อออกไปที่สาธารณะเพื่อป้องกันตนเองหรือป้องกันผู้อื่น ยังไม่มีหลักฐานรองรับทั้งด้านคัดค้านและด้านสนับสนุนในเรื่องของประโยชน์ที่ได้กับผลที่เสีย เว้นแต่จะทำให้หน้ากากมีใช้ไม่เพียงพอ
ทั้งนี้หน่วยงานรัฐต้องจัดหา หน้ากากทุกประเภท ให้บุคลากรทางการแพทย์มีใช้อย่างเพียงพอตามสมควรก่อน แล้วจัดหา หน้ากากอนามัย ให้เพียงพอสำหรับประชาชนทั่วไปใช้งานเท่าที่จำเป็น แล้วจึงไปทำการแจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชนแบบหวังผลทางการเมือง และต้องให้ความรู้กับประชาชนว่า การใส่หน้ากากอนามัยเป็นเพียงมาตรการหนึ่งในการป้องกันการติดเชื้อ ต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพทั่วไป การให้ข้อมูลการเจ็บป่วยอย่างเปิดเผย การหลีกเลี่ยงไปที่ชุมนุมชน การระมัดระวังไม่สัมผัสวัตถุและวัสดุและส่วนหนึ่งส่วนใดของผู้อื่นในที่สาธารณะ และหมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล
การใส่ การถอด และการทิ้ง หน้ากากทุกประเภท ต้องทำให้ถูกวิธี เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า