×

ธงชัย วินิจจะกูล และ ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น ‘ประเทศไทยต้องปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกคุมขังเดี๋ยวนี้’

โดย THE STANDARD TEAM
30.04.2021
  • LOADING...

ไทเรลล์ ฮาเบอร์คอร์น ศาสตราจารย์จากภาควิชาภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน และ ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราจารย์กิตติคุณจากภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน เผยแพร่บทความ ‘Thailand must free student hunger strikers now.’ ในเว็บไซต์ Nikkei Asia เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2021 และต่อไปนี้คือเนื้อหาที่เรียบเรียงมาจากบทความดังกล่าว

 

นักศึกษาสองรายคือ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้อดอาหารประท้วงระหว่างถูกฝากขังเพื่อรอพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในปลายเดือนพฤษภาคม โดยทั้งคู่อดอาหารเพื่อประท้วงสิทธิในการประกันตัว

 

ที่ผ่านมาการร้องขอประกันตัวจำนวนมากถูกยื่นในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งพริษฐ์เป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ชั้นปีที่ 4 และปนัสยาเป็นนักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาชั้นปีที่ 3 โดยผู้พิพากษากล่าวว่าไม่เคยมีการโน้มน้าวให้ทั้งคู่หยุดการเคลื่อนไหวหรือท้าทายใดๆ ทั้งสิ้น

 

พริษฐ์เริ่มอดอาหารประท้วงเมื่อวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา และปนัสยาเข้าร่วมในอีก 15 วันให้หลัง สุขภาพของทั้งคู่จึงเสี่ยงมากขึ้นทุกวันๆ ตราบเท่าที่เจ้าหน้าที่ยังเมินเฉยการประท้วงอย่างสันติและปฏิเสธสิทธิในการประกันตัวของทั้งสอง และยังเสี่ยงต่อความมั่นคงของรัฐบาลไทย ซึ่งวุ่นวายมาตั้งแต่การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่นำโดยเยาวชนมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2020

 

ครึ่งปีหลังของ 2020 กลุ่มผู้ประท้วงลงถนนพร้อมเสนอข้อเรียกร้อง 3 ประการ หนึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพรรคพวกต้องลาออก, สอง ต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ด้วยความเห็นชอบจากประชาชน, สาม สถาบันกษัตริย์ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

 

ทางด้านประยุทธ์นั้นขึ้นมาดำรงตำแหน่งหลังรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2014 พร้อมคณะรัฐประหารในนาม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และแต่งตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งยังอยู่ในตำแหน่งเรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้งเมื่อปี 2019 ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่โปร่งใสและไม่ยุติธรรม ทั้งนี้ คสช. เป็นผู้อยู่เบื้องหลังการร่างรัฐธรรมนูญของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นฉบับที่ 20 แล้วหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี 1932 และแม้รัฐธรรมนูญฉบับนั้นจะผ่านประชามติครั้งใหญ่เมื่อปี 2016 แต่ก็มีประชาชนจำนวนมากที่รู้สึกว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกฎหมายที่ใช้ในการปกครองประเทศ

 

ทั้งการออกมาเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้ทั้งพริษฐ์และปนัสยากลายเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวที่ต้องโดนฟ้องคดีอาญา พวกเขาถูกแจ้งข้อหาด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการหมิ่นประมาทและคุกคามกษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยมีกำหนดความผิดการจำคุกที่ 3-15 ปี ซึ่งการตีความอาจกว้างหรือมากกว่านั้น

 

แต่สิ่งที่นักเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำมิได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือคุกคามสถาบันพระมหากษัตริย์ อันที่จริงแล้วพวกเขากล้าที่จะเรียกร้องให้มีการอภิปรายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในไทยอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ข้องเกี่ยวกับกฎหมาย ตุลาการ การทหาร และทรัพย์สิน

 

ตัวพริษฐ์นั้นถูกฟ้องข้อหาละเมิดมาตรา 112 อย่างน้อย 20 ครั้งขณะที่ปนัสยาถูกฟ้องไม่ต่ำกว่า 9 ครั้ง จากการแถลงการณ์ในการชุมนุมอย่างสันติที่ผ่านมาและการโพสต์ข้อความลงบนโซเชียลมีเดีย นับเป็นการพิสูจน์ว่ารัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นหวาดกลัวในการถูกวิพากษ์วิจารณ์มากเพียงใด

 

โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า มีประชาชนอย่างน้อย 82 รายที่ถูกแจ้งข้อหาด้วยมาตรา 112 และมีอีก 581 รายที่ถูกแจ้งข้อหาอื่นๆ เช่น การปลุกระดม, การชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายและความผิดอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาจากการชุมนุมประท้วงโดยสันติเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างเดือนกรกฎาคม 2020 ถึงเดือนมีนาคม 2021

 

ทั้งนี้คดีแรกที่จะได้รับการพิจารณาในชั้นศาลคือคดีของพริษฐ์และปนัสยาจากการชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 และ 20 กันยายน เช่นเดียวกับประชาชนอีก 20 รายที่ถูกแจ้งข้อหาจากการชุมนุมในวันดังกล่าว โดยมีอีก 7 คนที่ถูกแจ้งมาตรา 112 ขณะที่อีก 13 รายที่เหลือซึ่งไม่โดนแจ้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพได้รับการประกันตัวแล้วทั้งหมด

 

สิทธิในการประกันตัวนั้นมีอยู่ในกฎหมายไทยและภายใต้เงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย แต่มักถูกปฏิเสธการประกันตัวผู้ต้องหามาตรา 112 ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศและประเด็นที่ว่า เมื่อบทลงโทษนั้นรุนแรงก็อาจทำให้ผู้ต้องหามีโอกาสหลบหนีได้มากขึ้น การไม่ให้ประกันตัวผู้นำของการชุมนุมจึงเป็นการหยุดการเคลื่อนไหวของการประท้วงด้วย ทั้งยังทำให้เกิดบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวขึ้นในหมู่ผู้คน

 

เมื่อครั้งที่พริษฐ์ประกาศอดอาหารในวันที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา เขาได้ถามว่า “เหตุใดศาลยุติธรรมซึ่งเป็นสถานที่แห่งความสัตย์ และต้องสร้างความจริงให้เกิดขึ้น กลับจองจำความจริง ไม่ให้ประกันตัว ทำไมจึงไม่ให้ประกันตัวเพื่อให้ความจริงได้พิสูจน์ตัวเอง หรือเป็นเพราะคุณชิงชังและหวาดกลัวความจริงมากเสียจนต้องกักขังมันให้เจ็บปวด โดยหวังว่าการกักขังนี้จะบดขยี้และทำลายความจริงจนกว่าความจริงนั้นจะสลายหายไปเอง”

 

ทั้งนี้ผู้พิพากษากล่าวว่าพริษฐ์ได้ดูหมิ่นศาล ทั้งยังไม่เชื่อฟังเมื่อศาลสั่งให้เงียบ

 

ในสัปดาห์ต่อมา มีนักกิจกรรมพากันไปชุมนุมด้านหน้าศาลฎีกาโดยไม่ได้พูดสิ่งใดอยู่ทุกวันเพื่อเรียกร้องให้มีการประกันตัว และทุกบ่ายวันเสาร์ แม่ของผู้ที่ยังถูกคุมขัง นำโดย สุรีย์รัตน์ แม่ของพริษฐ์ ออกมายืนประท้วงหน้าเรือนจำ โดยสวมเสื้อยืดและถือโปสเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีใบหน้าของลูกๆ ทั้งยังสัญญาว่าจะประท้วงต่อไป ขณะที่จำนวนคดีที่รอการดำเนินคดีนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

 

“แต่ความจริงก็คือความจริง ไม่ว่ามันจะถูกคุมขัง หรือถูกทรมาน หรืออยู่บนแท่นประหาร” พริษฐ์กล่าวต่อหน้าผู้พิพากษา “ความจริงก็ยังเป็นความจริง ไม่ว่าคุณจะกักขังผมไว้นานแค่ไหน ไม่ว่าจะทำให้ผมเจ็บปวดมากเท่าใด ความเจ็บปวดนั้นก็ไม่อาจทำลายความจริงได้”

 

การร้องขอการประกันตัวแต่ละครั้งนั้นล้วนแล้วแต่ได้รับการปฏิเสธ เป็นที่ชัดเจนว่ามีการป้องกันไม่ให้ประชาชนพูดถึงสถาบันกษัตริย์อย่างเปิดเผย และให้ความสำคัญแก่เจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าชีวิตของประชาชน พริษฐ์, ปนัสยา และคนอื่นๆ ที่ยังถูกคุมขังจากคดีทางการเมืองนั้นต้องได้สิทธิในการประกันตัวคืนมา

 

พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising