ก่อนที่จะถึงเกมนัดชิงชนะเลิศยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกเมื่อคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ค่อนข้างชัดเจนครับว่าคนที่ถูกสาดแสงไฟสปอตไลต์ใส่มากกว่าทุกคนคือ โจเซฟ หรือ เป๊ป กวาร์ดิโอลา
นั่นเพราะมันมีเรื่องราวบางอย่างที่มีความสำคัญและมีความหมายกับเขามากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการพาแมนเชสเตอร์ ซิตี้มาถึงที่สามารถมองเห็นปลายทางที่พยายามเดินทางมายาวนานหลายปีอยู่ตรงหน้า รวมถึงคำครหาที่ไม่เคยพาทีมใดคว้าแชมป์รายการนี้ได้เลยนับตั้งแต่การพาบาร์เซโลนาคว้าแชมป์เมื่อ 2010-11 ซึ่งเป็นสิ่งที่ติดค้างในใจของยอดกุนซือชาวคาตาลันมาโดยตลอด
หากสามารถพาแมนเชสเตอร์ ซิตี้พิชิตแชมป์รายการนี้ได้ ภารกิจแห่งชีวิตของเขาก็จะเสร็จสิ้นลง แทบไม่เหลืออะไรให้ค้างคาในใจอีก
แต่บทสรุปที่เกิดขึ้นกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามครับ ไม่มี Blue Moon (เพลงเชียร์ประจำทีมเรือใบสีฟ้า) มีแต่เพลง Blue Day (เพลงเชียร์ของทีมเชลซี) สำหรับ โธมัส ทูเคิล ที่ทำในสิ่งที่ไม่มีใครอยากเชื่อด้วยการสยบทีมของเป๊ป กวาร์ดิโอลา ได้เป็นคำรบที่ 3 ในช่วงระยะเวลาแค่เพียง 4 เดือนเท่านั้น
ในมุมของฟุตบอลแล้วเป๊ปเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำให้แก่ทูเคิลในทุกกระบวนท่า ตั้งแต่นาทีแรกจนนาทีสุดท้ายไม่มีสักช่วงที่โค้ชชาวเยอรมันวัย 47 ปีจะเปิดโอกาสให้มีความผิดพลาดเกิดขึ้น
ประตูชัยจาก ไค ฮาเวิร์ตซ์ มาจากการกำหนดวิธีการเล่นที่ถูกต้องในการเล่นงานแนวรับของแชมป์พรีเมียร์ลีก ออกบอลเร็ว แม่นยำ ตัวรุกอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ซึ่งประตูนี้เป็นการเล่นที่สมบูรณ์แบบของ เมสัน เมาท์ อดีตเด็กน้อยที่เคยเฝ้ามองฮีโร่รุ่นพี่คว้าแชมป์ทางหน้าจอทีวีเมื่อปี 2012 ที่จ่ายให้กองหน้าทีมชาติเยอรมนีที่ประสบปัญหาการปรับตัวในการเล่นพรีเมียร์ลีกอย่างยากลำบาก แต่ทุกอย่างเป็นอดีตไปแล้วหลังเขาแตะหลบเอแดร์สันและส่งบอลเข้าไปกองก้นตาข่ายได้
และมันก็เป็นชัยชนะที่สมบูรณ์แบบสำหรับทูเคิล คนที่เคยชื่นชมเป๊ปในฐานะกุนซือต้นแบบด้วยเช่นกัน
การคว้าแชมป์รายการนี้ได้สำเร็จหลังจากที่อกหักมากับปารีส แซงต์ แชร์กแมงเมื่อฤดูกาลที่แล้ว คือเครื่องหมายรับประกันคุณภาพสำหรับกุนซือที่ขึ้นชื่อว่าเป็นอีกหนึ่ง ‘นักประดิษฐ์’ (Innovator) ของวงการฟุตบอลว่าเขาคือหนึ่งในโค้ชที่เก่งที่สุดของโลก
เป็นการเดินทางที่ยาวไกลสำหรับคนหนุ่มคนหนึ่งที่ต้องผ่านการต่อสู้ชีวิตมาอย่างหนักหน่วงและยาวนานกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้
ย้อนหลังกลับไปในปี 1998 ในช่วงเวลาเดียวกับที่เป๊ปกำลังจะคว้าแชมป์ลาลีกาสมัยที่ 6 ในฐานะผู้เล่นกับบาร์ซา วันนั้นทูเคิลใช้ความพยายามอย่างหนักในการเดินหางานตามบาร์และคาเฟ่ในเมืองสตุ๊ตการ์ตเพื่อหารายได้พิเศษหล่อเลี้ยงชีวิต
มันเป็นช่วงเวลาของความเจ็บปวดสำหรับเด็กหนุ่มวัย 25 ปีที่ถูกบังคับให้เลิกเล่นฟุตบอลอาชีพหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บอย่างหนักที่เข่า และเงินรายได้ที่เขาเก็บรวบรวมจากการทำงานในฐานะนักเตะถูกนำมาใช้จ่ายเพื่อการรักษาตัวเอง ซึ่งที่สุดแล้วเขาก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่าการยอมรับชะตากรรมของตัวเอง
เพื่อให้ชีวิตมีทางเดินต่อทูเคิลตัดสินใจสมัครเรียนทางด้านเศรษฐศาสตร์ และนั่นทำให้เขาไม่เหลือเงินมากนัก การทำงานพิเศษเหมือนเด็กคนอื่นๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้มีชีวิตรอด
สุดท้ายเขาได้งานที่ Radio Bar เริ่มจากคนเก็บแก้วในร้าน แล้วค่อยเรียนรู้วิธีการเทเบียร์ ผสมค็อกเทล และเก็บกวาดร้านช่วงตี 3 ก่อนจะกลับบ้านไปพักผ่อน ทำแบบนี้อยู่ 2 ปีกว่าที่จะได้โอกาสเข้าไปทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์จริงๆ
ช่วงเวลานี้ไม่ง่าย โดยเฉพาะสำหรับคนที่เคยเป็นนักฟุตบอล อาชีพที่มีสถานะทางสังคมค่อนข้างสูงแต่ต้องมาทำงานในบาร์แทน (ซึ่งโชคดีที่คนในร้านไม่รู้จักเขา)
แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่ทูเคิลยอมรับว่าเป็นช่วงที่ดีที่สุดในชีวิต มันคือ ‘ต้นทุน’ ที่ทำให้เขาเป็นคนสู้ชีวิตที่พร้อมจะรับมือกับทุกเรื่องบนโลก เพราะเขาเอาชนะได้แม้กระทั่งความรู้สึกเขินอายในใจของตัวเองในการมาเร่หางานทำ
อย่างไรก็ดี ยังมีต้นทุนอีกอย่างที่ทำให้เขาเดินทางมาได้ไกลถึงจุดนี้
ต้นทุนดังกล่าวคือการเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้ของทูเคิลไม่ได้อยู่แค่เรื่องของการทำงาน เรื่องของเกมฟุตบอล หรือศาสตร์ลูกหนังต่างๆ แต่ยังรวมถึงการเรียนรู้วิธีที่จะใช้ชีวิต วิธีที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น วิธีที่จะดูแลความรู้สึกคนรอบข้าง
ครั้งยังเป็นกุนซือคนหนุ่มไฟแรงที่เริ่มต้นการทำงานกับเอาก์สบวร์กที่ทำให้เขาได้เดินตามรอย เจอร์เกน คล็อปป์ (อีกหนึ่งต้นแบบสำหรับเขา) ทั้งในทีมไมนซ์ 05 (ในปี 2009) และโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ (ในปี 2015) ภาพจำของทูเคิลที่ทุกคนนึกออกคือกุนซือผู้พร้อมระเบิดอารมณ์ความรู้สึกออกมา
คนบุคลิกนี้เป็นคนที่คนทั่วไปรับมือได้ยาก และนั่นเป็นหนึ่งในปัญหาในการทำงานของเขาด้วยเช่นกัน
แต่ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนแปลงความคิดของเขาไปตลอดชั่วชีวิตที่เหลือ นั่นคือเหตุการณ์ที่มีคนวางระเบิดรถบัสของทีมดอร์ทมุนด์ก่อนเกมแชมเปียนส์ลีกนัดที่พบกับโมนาโก
แม้ตัวเขาจะไม่บาดเจ็บแต่ มาร์ค บาทรา ปราการหลังลูกทีมของเขาและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ซึ่งถึงทูเคิลจะยืนยันว่าเขาไม่ได้รับผลกระทบทางจิตใจมากนักจากเหตุการณ์นี้ แต่ในความจริงในสายตาของคนที่รู้จักเขาดีที่สุดอย่างภรรยา ตัวเขาได้รับผลกระทบไม่น้อย
ในวันที่เกิดเหตุการณ์เขาส่งข้อความบอกภรรยาว่า “ทุกอย่างโอเค” แต่ในความจริงแล้วเขากลับถึงบ้านช้ากว่าภรรยา ซึ่งก็เดินทางไปดูที่เกิดเหตุที่สนามแข่งเหมือนกัน และเมื่อกลับมาถึงบ้านเขาเริ่มพูดน้อยลงเรื่อยๆ ทำตัวเหมือนหุ่นยนต์ นั่งดูฟุตบอลเงียบๆ จนภรรยารู้สึกว่าแปลก
จนกระทั่งทูเคิลเดินทางไปทำงานในเช้าวันรุ่งขึ้นและพบว่านักเตะรอเขาอยู่จึงได้รู้สึกว่าเขาพยายามเก็บซ่อนความรู้สึกเอาไว้ ซึ่งแม้มันจะไม่ได้ส่งผลมากแต่มันยังอยู่จนถึงทุกวันนี้
เหตุการณ์นี้และอาจรวมกับวัยที่เพิ่มมากขึ้นทำให้ทูเคิลจอมสติแตกคนนั้นดูค่อยๆ สงบและนิ่งขึ้น แม้ว่าเขาจะเปิดสงครามกับคนในสโมสรจนทำให้ต้องระเห็จออกจากทั้งดอร์ทมุนด์ และล่าสุดคือปารีส แซงต์ แชร์กแมงที่ปลดเขาในวันคริสต์มาสอีฟ
ช่วงระยะเวลาหลังการโดนปลดจนถึงวันที่ได้รับตำแหน่งโค้ชเชลซีแทนที่ของแฟรงก์ แลมพาร์ด โดยมีสัญญาระยะเวลาที่สั้นมากเพียง 18 เดือน ซึ่งสะท้อนถึงความไม่มั่นใจของฝ่ายบริหารของสโมสรในตัวเขา เป็นช่วงที่ทูเคิลเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างน่าตกใจ
และเขาก็สามารถจัดการปัญหาทุกอย่างของเชลซีที่แลมพาร์ดก่อเอาไว้ได้อย่างรวดเร็ว
อะไรบ้างที่ทูเคิลทำ?
ทูเคิลไม่ได้ลงสนามแต่ก็เป็นผู้เล่นคนที่ 12 ที่ช่วยปลุกเร้าเสียงเชียร์อยู่ข้างสนามตลอดเวลา
1. โอกาสและความยุติธรรม
ในช่วงที่เขาเข้ามารับตำแหน่ง เชลซีเริ่มเข้าสู่สภาวะสั่นคลอนอย่างหนักจากภายในเนื่องจากแลมพาร์ดได้สร้างปมในใจให้กับผู้เล่นจำนวนมาก มีการแยกกลุ่มผู้เล่นคนโปรดกับคนที่ไม่มีประโยชน์อย่างชัดเจน
เมื่อทูเคิลเข้ามาเรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่เขาจัดการแก้ไข โดยสิ่งที่เขาทำคือการให้โอกาสกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เคยโดนมองข้ามอย่าง อันโตนิโอ รูดิเกอร์, คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย, มาร์กอส อลอนโซ ฯลฯ ซึ่งได้โอกาสลงเล่นก่อน จากนั้นคือกลุ่มดาวรุ่งในทีมที่นำมาโดย เมสัน เมาท์, รีซ เจมส์ และนักเตะใหม่อย่าง ติโม แวร์เนอร์ กับ ไค ฮาเวิร์ตซ์
วิธีนี้ได้ผล เพราะทูเคิลบอกกับทุกคนอย่างชัดเจนว่าจะได้รับโอกาสในการพิสูจน์ตัวเองทั้งในสนามซ้อมและสนามจริง สิ่งที่เหลือก็อยู่ที่ความพยายามของแต่ละคนแล้วว่าจะทำได้ไหม
2. การสื่อสารแห่งประเทศใจ
ปัญหาคลาสสิกของที่ทำงานทุกที่คือเรื่องการสื่อสาร และจุดนี้เป็นสิ่งที่ทูเคิลทำได้ดี เขาจะบอกกับลูกทีมอย่างชัดเจนว่าเขาต้องการอะไรจากพวกเขา อยากเห็นทีมเล่นแบบไหน และคาดหวังอะไรบ้าง
มากกว่าแค่พูดหรือสั่ง นายใหญ่คนนี้ยังยินดีที่จะรับฟังด้วยว่าลูกทีมคิดเห็นอย่างไร ดังนั้นไม่ว่านักเตะเชลซีแต่ละคนจะเป็นซูเปอร์สตาร์หรือมีความแตกต่างทางนิสัยที่ต้องรับมือมากแค่ไหนก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับคนอย่างทูเคิล
กรณีตัวอย่างแรกคือเมาท์ ซึ่งโดนดรอปเป็นตัวสำรองในเกมแรกของทูเคิลและไม่พอใจในการตัดสินใจดังกล่าวและมีการพูดคุยกับทูเคิลกันอย่างตรงไปตรงมา ปะทะคารมกันหอมปากหอมคอในสนามซ้อม (กลายเป็น Talk of the Training Ground) แต่เมื่อเจ้าหนูวัย 22 ปีทำให้เห็นว่าเขาดีพอ เขาก็เป็นตัวหลักของทีมมาโดยตลอด
เช่นเดียวกับ เซซาร์ อัซปิลิกวยตา กัปตันทีมที่เริ่มถูกตัดจากทีมในยุคของแลมพาร์ด แต่เมื่อได้โอกาสจากทูเคิลก็กลับมาเป็นคนสำคัญในทีมอีกครั้ง
ประสบการณ์ในการทำงานกับเปแอสเชที่ต้องเจอกับสตาร์ระดับโลกอย่าง เนย์มาร์ และ คีเลียน เอ็มบัปเป้ (เอดินสัน คาวานี เช่นกัน) มีส่วนช่วยทำให้เขารู้วิธีที่จะรับมือกับลูกทีม รวมถึงการทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นในสโมสรโดยที่จะไม่ ‘งัด’ กันถ้าไม่จำเป็น เพราะรู้ว่าทำแบบนั้นไปก็เสียแรงและเสียใจกันเปล่าๆ
3. ใส่หัวใจลงไปในรายละเอียด
ในการทำทีมแบบทูเคิล รายละเอียดคือสิ่งสำคัญที่สุดซึ่งเขาก็สร้างความประหลาดใจให้แก่ทุกคนตั้งแต่นัดแรกด้วยระบบการเล่นใหม่ 3-4-3 (3-4-2-1) ที่ได้ผลดีตั้งแต่เกมแรก ก่อนที่จะต่อยอดความสำเร็จมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นระบบการเล่นที่ยอดเยี่ยมที่สุดในรอบหลายปีของเชลซี
ที่ระบบนี้ได้ผลดีเพราะทูเคิลได้วิเคราะห์ขุมกำลังที่มีในทีม มองเห็นจุดเด่นและจุดด้อยของผู้เล่นที่มีก่อนจะออกแบบระบบที่รองรับความสามารถของลูกทีมได้อย่างสมบูรณ์ ก่อนจะค่อยๆ มีการอัปเดต Patch ให้สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ
ถึงจะมีเกมที่พวกเขาน่าผิดหวังอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นการแพ้เวสต์ บรอมวิช อัลเบียน คาบ้าน 2-5 (เป็นการแพ้นัดแรกของทูเคิล) การแพ้เลสเตอร์ ซิตี้ในนัดชิงเอฟเอคัพ หรือการแพ้แอสตัน วิลลาในเกมสุดท้ายของฤดูกาล แต่ภาพรวมแล้วเชลซีเป็นทีมที่มีระบบการเล่นดีที่สุดทีมหนึ่งของอังกฤษ ซึ่งก็มาจากการทำงานอย่างเนี้ยบทุกกระเบียดของนายใหญ่ชาวเยอรมัน
และในนัดชิงชนะเลิศทูเคิลก็เตรียมทีมอย่างดีที่สุด เริ่มจากการสั่งให้ลูกทีมซ้อมเบาๆ ในวันจันทร์ ได้กลับบ้านเร็วขึ้นและให้พักเพิ่มอีก 1 วันในวันอังคาร ทำให้นักเตะที่ล้ามาตลอดฤดูกาลได้ความสดชื่นกลับมาเป็นต้น
5. จิตวิทยากระตุ้นการทำงานของหัวใจ
สิ่งสุดท้ายที่ทูเคิลเก่งมากแต่คนอาจไม่ค่อยรู้คือเรื่องของจิตวิทยาที่สามารถกระตุ้นการทำงานของหัวใจของลูกทีมได้เป็นอย่างดี
กับคนที่พูดเก่งมีความมั่นใจสูงทูเคิลก็จะหาวิธีกระตุ้นแบบหนึ่ง แต่หากลูกทีมคนไหนเป็นคนเก็บตัวนิ่งๆ เงียบๆ เหมือนอย่าง รีซ เจมส์ เขาก็จะหาวิธีในการพูดเพื่อทำให้มีความเชื่อมั่นในตัวเองและมันได้ผลเป็นอย่างดี
รวมถึงในนัดชิงแชมเปียนส์ลีก ในขณะที่คนเชื่อว่าแมนเชสเตอร์ ซิตี้มีโอกาสที่จะได้แชมป์มากกว่า แทนที่จะโกรธทูเคิลกลับนำมาใช้เป็นการกระตุ้นลูกทีมและเชื่อว่าความเป็น Underdog นั้นเข้ากับเชลซีชุดนี้อย่างมาก
ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อถึงหน้างาน ทูเคิลแม้จะนิ่งขึ้นมากแต่ก็ไม่เหนียมอายที่จะระเบิดอารมณ์ร่วมกับทีมออกมา จะดีใจ เจ็บปวด เสียใจ เขาเป็นส่วนหนึ่งของทีมเสมอ แม้กระทั่งในเกมที่ปอร์โตเมื่อคืนที่ผ่านมา เขาจะกระตุ้นแฟนบอลให้ส่งเสียงเชียร์นักเตะในสนามตลอดเวลา ทำให้ทุกคนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และนั่นคือต้นทางของพลังงานที่ทำให้เชลซีมาถึงจุดนี้ได้
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ควรค่าที่โลกจะคารวะ เพราะทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้นแค่ 4 เดือนที่ทูเคิลสามารถเปลี่ยนเชลซีซึ่งอยู่ในอันดับที่ 9 ให้กลายเป็นสุดยอดทีมของอังกฤษและคว้าแชมป์ยุโรปมาครองได้
หลายคนมองว่าเรื่องราวมันคล้ายกับในวันที่ โรแบร์โต ดิ มัตเตโอ อดีตมิดฟิลด์ระดับตำนานแห่งเดอะ บริดจ์เข้ามาทำทีมต่อจาก อังเดร วิลลาส-โบอาส และพาทีมพิชิตยุโรปได้เป็นสมัยแรก และทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันก็อาจจะเป็นแค่ช่วงเวลาน้ำผึ้งพระจันทร์
แต่มันมีหลายอย่างบ่งชี้ว่าแชมป์ยุโรปไม่ใช่จุดสุดท้ายสำหรับเชลซีในยุคของเขา
มันน่าจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นสู่การกลับมาทวงความยิ่งใหญ่อีกครั้งของมหาอำนาจลูกหนังแห่งลอนดอนที่ปัจจุบันเปลี่ยนจากทีมเศรษฐีซื้อความสำเร็จมาเป็นทีมระดับ Elite ที่ได้รับการยอมรับจากใจจริง
ป.ล. ทูเคิลเพิ่งมีโอกาสได้พบกับ โรมัน อบราโมวิช เจ้าของสโมสรเชลซีเป็นครั้งแรกในช่วงหลังจบเกมนี่เอง! …และน่าจะมีข่าวดีเรื่องสัญญาฉบับใหม่นะ 🙂
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า