×

ปชป. ส่ง ‘เทอดพงษ์’ ร่วมกรรมการสมานฉันท์ เร่งออกกฎหมายประชามติให้ทันแก้รัฐธรรมนูญวาระ 3 ป้องกันปัญหาติดขัด

โดย THE STANDARD TEAM
06.12.2020
  • LOADING...
เทอดพงษ์ ไชยนันทน์

วันนี้ (6 ธันวาคม) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ขณะนี้ประธานรัฐสภาขอให้ฝ่ายต่างๆ ได้ส่งรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะเป็นตัวแทนของทั้ง 7 ฝ่าย ไปยังสภา โดยในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลได้มีการเตรียมรายชื่อไว้แล้ว 2 คน และในส่วนตัวแทนของรัฐบาลก็ได้เตรียมรายชื่อไว้แล้วอีก 2 คนเช่นกัน สำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้นจะได้ส่ง เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรค เป็นตัวแทนในการเข้าร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์ดังกล่าว

 

“ผมอยากเรียกร้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้เวทีคณะกรรมการชุดนี้เป็นเวทีในการที่จะแลกเปลี่ยนและเสนอความคิดเห็น เพื่อนำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจในการหาทางออกให้กับประเทศร่วมกัน ซึ่งก็ยังหวังว่าสำหรับบางฝ่ายที่ยังมีความเห็นว่า ยังไม่ประสงค์ที่จะเข้าร่วม ก็อยากให้เข้าร่วม เพราะตรงนี้ถือว่าเป็นเวทีกลางที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้ง 7 ฝ่าย ได้ไปแสดงความเห็นและหาทางออกประเทศร่วมกัน ถ้าไปปฏิเสธเวทีนี้ก็ยังนึกไม่ออกจนถึงขณะนี้ว่าเราจะไปใช้เวทีไหน เพราะว่าเวทีนี้เป็นเวทีที่ผมคิดว่าเปิดโอกาสทุกฝ่ายมากที่สุดแล้วเวทีหนึ่ง” จุรินทร์กล่าว 

 

พร้อมกันนี้ยังได้ย้ำอีกด้วยว่า ตนได้มอบหมายให้ผู้แทนของพรรคไปเสนอที่ประชุมถึงวิธีการหาข้อตกลงร่วมกันโดยให้ใช้วิธีการหาฉันทามติ หรือการให้ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เท่านั้น คือจะต้องไม่ใช้เสียงข้างมากไปบังคับเสียงข้างน้อย ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นการประชุมที่จะทำให้ความสมานฉันท์เกิดขึ้นได้จริง

 

“ไม่ต้องกังวลว่าฝ่ายไหนจะมากหรือน้อยกว่า เพราะแนวทางการดำเนินการผมก็จะได้มอบให้ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ได้ไปเสนอเมื่อได้มีการประชุมแล้วว่า ต้องไม่ใช้มติเสียงข้างมากไปบังคับเสียงข้างมาก ไปบังคับเสียงข้างน้อย แต่ต้องใช้มติที่เป็นฉันทามติ คือมีมติเป็นเอกฉันท์เท่านั้นจึงจะไปดำเนินการ ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฝ่ายหนึ่งมากกว่าบังคับคนน้อยกว่าต้องทำตาม ต้องไม่เกิดสิ่งนี้ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นมันก็สมานฉันท์ไม่ได้ ฝ่ายข้างน้อยก็จะมีความรู้สึกว่าใช้เสียงข้างมากบังคับ แต่เวทีนี้ไม่ควรเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นจึงอยากให้เข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม” จุรินทร์กล่าว 

 

สำหรับเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญนั้น จุรินทร์กล่าวว่า ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาขั้นรับหลักการวาระที่ 1 แล้ว และเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการในวาระที่ 2 ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 45 วัน หากผ่านการพิจารณาวาระที่ 2 แล้ว จึงจะนำกลับเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งเพื่อพิจารณาในวาระที่ 3 ซึ่งหากเป็นไปตามเงื่อนเวลาที่กำหนดเดิมก็คาดว่าคณะกรรมาธิการจะพิจารณาแล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าก็น่าจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 3 ได้ และหลังจากนั้นจะต้องนำไปทำประชามติตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ได้กำหนดไว้ ซึ่งจะต้องเกี่ยวพันกับกฎหมายประชามติด้วย ซึ่งจุรินทร์ระบุว่า มาถึงนาทีนี้กฎหมายประชามติยังไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านขั้นรับหลักการในวาระที่ 1 ของสภาไปแล้ว ซึ่งจะได้เข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 หากกฎหมายประชามติสามารถดำเนินการได้เร็วควบคู่ไปกับการแก้รัฐธรรมนูญ โดยจะสามารถมาบรรจบการบังคับใช้ได้ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน โดยเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านวาระที่ 3 แล้วจำเป็นต้องทำประชามติ กฎหมายประชามติก็สามารถบังคับใช้ได้ การทำประชามติก็จะสามารถเกิดขึ้นได้ 

 

“สำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้นพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ และพร้อมผลักดันเต็มที่ที่จะให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นได้จริง อะไรก็ตามที่เป็นปัญหา อุปสรรค และทำให้ต้องล่าช้าออกไปโดยไม่จำเป็น ประชาธิปัตย์ไม่สนับสนุนและไม่ประสงค์จะให้เกิดเหตุนี้ขึ้น เพราะถือว่าการแก้รัฐธรรมนูญเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาและผูกมัดคนทั้งประเทศไว้แล้วด้วย” จุรินทร์กล่าวในที่สุด 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X