“วงการแฟชั่นที่เธอทำงานเป็นอย่างนี้เหรอ?” คือหนึ่งในคำถามที่มีคนถามผมมา หลังจากดูรายการ This Is Me Vatanika ที่กำลังเป็นกระแสตั้งแต่จบอีพีแรก เป็นคำถามที่ทำให้ผมต้องนั่งคิดอยู่นาน เพื่อหาคำตอบที่สมเหตุสมผลและจริงที่สุด เพราะจริงๆ แล้ววงการแฟชั่นมีหลายเลเยอร์ หลายบทบาท และภาคส่วน ที่จะมาเหมารวมว่าทุกคนเปรียบเสมือนตัวละครถอดแบบ มิแรนดา พรีสต์ลี จาก The Devil Wears Prada ก็ไม่ใช่ แต่ถามว่าบางคนเยอะไหม? ก็เยอะ, แปลกไหม? ก็แปลก, สู้ชีวิตไหม? ก็สู้, เป็นแรงบันดาลใจได้ไหม? ได้แน่นอน, แต่อย่างไรก็ตาม เราควรหยุดที่จะคิดว่าหนึ่งอุตสาหกรรมต้องเป็นแบบ A, B, C, D และบางครั้งก่อนที่เราจะตัดสินอะไรทันทีจากรายการแค่หนึ่งตอน โดยยังไม่เข้าใจกลไกของมัน ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัว
ตอนที่พีอาร์เชิญผมไปงานเปิดตัวรายการนี้ ซึ่งมีดาราตบเท้ามาร่วมให้กำลังใจ แพร-วทานิกา ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา มากกว่างานแจกรางวัลที่กำหนดมาแล้วว่าใครชนะถึงค่อยเชิญมา ก็ต้องยอมรับว่าผมเองก็ตั้งคำถามในใจเยอะมาก เพราะผมเป็นคนหนึ่งที่ดูรายการ Keeping Up With The Kardashians ทุกตอน ตั้งแต่ซีซันแรกจนถึงซีซัน 15 อีพี 2 (อีพี 3 จะมาวันจันทร์นี้ตามเวลาบ้านเรา) ผมเลยค่อนข้างคุ้นเคยกับรายการรูปแบบนี้ และคงไม่ผิดถ้าจะบอกว่ารายการ This Is Me Vatanika ก็เป็นรายการที่ดึงโครงสร้างและอยากสร้างสีสันเหมือนที่ตระกูลคาร์ดาเชียนทำไว้ไม่มากก็น้อย
https://www.youtube.com/watch?v=dLq2AcwyeGc&feature=youtu.be
https://www.youtube.com/watch?v=SVxuInPlZI0&feature=youtu.be
แต่คนดูต้องเข้าใจก่อนว่า This Is Me Vatanika, Keeping Up With The Kardashians, The Osbournes หรือ The Real Housewives เป็นเรียลิตี้โชว์รูปแบบ ‘Scripted Reality Show’ ทั้งนั้น คือมีการวางแผนก่อนว่าในแต่ละวันจะถ่ายอะไร มีกิจกรรมอะไร ไปสถานที่ไหน และมีการแทรกสัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นตรงไหนของรายการ ซึ่งในแต่ละซีนก็จะให้ทุกคนเล่นเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าพอคุณมีกล้องอยู่ตรงหน้าคุณ มันก็เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่ต้องปรุงแต่ง และทำให้ตัวเองเด่นขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพูด กิริยามารยาท หรือชุดที่เลือกใส่ เช่น ชุดยูนิฟอร์มของพี่สา แม่บ้านคุณแพรที่เป็นไฮไลต์สำหรับผม และตอนนี้ได้กลายเป็นบุคคลเทรนดิ้งไปแล้วในโลกออนไลน์ พร้อมแฮชแท็ก #สาจ๋า
ผมเชื่อว่า ทางคุณแพรและทีมงานวางคอนเซปต์ This Is Me Vatanika ว่าอยากเน้นเรื่องราวไลฟ์สไตล์ แฟชั่น และแบรนดิ้งภาพลักษณ์ตัวเอง ที่สวยหรูเหมือนที่เธอทำผ่านโซเชียลมีเดียและการสร้างแบรนด์ Vatanika มาตลอด 7 ปี โดยการทำรายการนี้ก็เหมือนการต่อยอดและทำ Media Synergies ที่ใช้สื่อรูปแบบใหม่ๆ ให้คนได้รู้จักเธออย่างกว้างขวาง และเปิดช่องทางให้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ สนใจทำงานด้วยทั้งกับแบรนด์ของเธอหรือรายการ ซึ่งก็เหมือนที่เราได้เห็นดีไซเนอร์อย่าง โอลิวิเยร์ รูสแตง แห่ง Balmain หรือเวอร์จิล แอบโลห์ ได้ทำมากมายในแพลตฟอร์มที่ต่างกันออกไป หรืออีกหนึ่งตัวอย่างก่อนหน้านี้ก็คือ ดีไซเนอร์คิโมรา ลี ซิมมอนส์ กับแบรนด์ Baby Phat ที่ทำรายการเรียลิตี้โชว์ Life In The Fab Lane กับช่อง E!
เราต้องเข้าใจว่าในยุคนี้ดีไซเนอร์ก็เหมือนเป็นดาราและเป็นหน้าเป็นตาของแบรนด์ตัวเองที่มี PR Value มหาศาล ซึ่งในยุคที่ยอดขายแกว่งไปมาและคาดเดาไม่ได้ วงการแฟชั่นไทยก็ยังถือว่าเล็กและต้องอยู่รอดให้ได้ เพราะไม่เพียงแต่เจอปัญหาการโดนลอกเลียนแบบจากผู้ผลิตสินค้าราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว แต่ในห้างดังก็มีแบรนด์ Fast Fashion ต่างประเทศหลายเจ้าที่ดึงคนไปช้อปอีก ซึ่งการทำเรียลิตี้โชว์ก็เป็นกลยุทธ์ที่แบรนด์ Vatanika เลือกทำเพื่อให้ตัวเองยังคงเป็นที่พูดถึง
ถ้าจะถามว่ารายการ This Is Me Vatanika ทำสำเร็จไหม? ผมมองว่า ‘ฉลาด’ แต่ก็ ‘เสี่ยง’
คำว่าฉลาดในบริบทของผมอย่างแรกคือ ทางทีม Vatanika เข้าใจว่าในยุค Disruption ที่มีตัวเลือกคอนเทนต์มากมาย คุณต้องทำรูปแบบสื่อที่ยังคงโดดเด่นท่ามกลางตัวเลือกอื่นและเป็นที่พูดถึงทันที ซึ่งในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Cut Through The Noise โดยการที่ทำรายการเรียลิตี้โชว์แบบเน้นความสนุก ความแซ่บ ความชิค หรือคำอะไรก็แล้วแต่ที่ใช้กันในยุคนี้ ก็เป็นสิ่งที่เข้าถึงคนง่ายแบบไม่ Niche เกินไป สามารถกวาดยอดวิวได้รวดเร็ว และยิ่งคุณแพรมีความสัมพันธ์ที่ดีกับดาราระดับแม่เหล็ก การจะให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของรายการหรือช่วยโปรโมตก็ไม่ยาก ซึ่งก็แปลว่า คุณออกสตาร์ทได้เร็วกว่ารายการอื่นที่อาจต้องใช้เวลาปลุกปั้นกว่าจะให้คนรู้จัก
แถมการทำรายการเรียลิตี้โชว์รูปแบบนี้ก็การันตีว่าต้องเป็นที่พูดถึงในคนหมู่มากทันที ซึ่งเราเชื่อว่า ก็มีหลายคนที่จิกกัดและต่อว่านั่นโน่นนี่ แต่ถามว่าจะดูต่อไหม? ผมก็เชื่อว่าหลายคนได้ Subscribe ช่อง Vatanika เพื่อดูตอนต่อไปไว้แล้ว ซึ่งสิ่งนี้คล้ายกับตระกูลคาร์ดาเชียนในช่วงแรกๆ ที่ครอบครัวโดนโจมตีสารพัด แต่คนดูก็เพิ่มขึ้น เพราะจะได้ดูไปเมาท์มอยไปในกรุ๊ปไลน์กับเพื่อนเพื่อตามกระแสให้ทัน ซึ่งมันก็เป็นสิ่งดี ส่งผลให้รายการดังขึ้นเรื่อยๆ
แต่สิ่งที่ ‘เสี่ยง’ คือ พอคุณตัดสินใจมาผลิตคอนเทนต์รูปแบบเรียลิตี้โชว์บนยูทูบที่ดูฟรีและคนคอมเมนต์ได้ตามสบาย (โดยใช้ชื่อแอ็กเคานต์ปลอม) มันก็แปลว่า คุณได้เดินเข้าสนามของการเป็นคนของประชาชนที่สปอตไลต์ส่องเบอร์แรงสุด โดยเฉพาะในสมัยนี้ที่รายการออนไลน์มี Engagement มากกว่ารายการทีวีด้วยซ้ำ และคนจะอินจนไปกระตุ้นต่อมความรู้สึกต่างๆ ซึ่งคุณแพรก็ต้องรับมือ เข้มแข็ง และทำใจให้ได้ ว่าต่อไปก็จะมีคนรักเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีคนหมั่นไส้ อิจฉา หัวเราะใส่ และมีคนวิจารณ์ทั้งแบบมีเหตุผลและแบบมันปากไว้ก่อน เพราะอยากได้ยอดไลก์ ยอดคอมเมนต์เยอะๆ จะได้รู้สึกดี
มากไปกว่านั้น ทุกรูปที่ถ่าย ทุกดีไซน์ที่ผลิต ต่อไปก็จะกลายเป็นประเด็นที่คำว่า ‘จรรยาบรรณ’ ของคนก็จะเลือนหายไป และคนก็จะไปขุดคุ้ยเรื่องเก่าๆ หรือเอาสิ่งที่พูดในรายการ (ที่ลบทิ้งไม่ได้ เพราะคนดาวน์โหลดเก็บไว้แล้ว) เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ทำในอนาคต พร้อมทำมีมโดนล้อเลียน แถมสำหรับแบรนด์ Vatanika เองก็ต้องระวัง เพราะมีฐานลูกค้าหลากหลาย นั่นก็ไม่ได้แปลว่าผู้หญิงทุกคนที่รักในสไตล์ คุณภาพเสื้อผ้าของแบรนด์ และอยากจะโดนมองว่าใช้ชีวิตเหมือนดีไซเนอร์เบื้องหลังแบรนด์เสมอไป ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คนอาจต้องแยกแยะให้ออก
ส่วนอะไรต้องปรับปรุง ผมมองว่า เนื้อหาหรือจริตของรายการไม่ต้องเปลี่ยนหรอก เพราะฉายแค่ตอนแรกก็เป็นกระแสที่คนพูดถึงมากมาย และทำยอดไปแล้วกว่าสามแสนวิว ภายใน 5 วัน แต่เรื่อง ‘โปรดักชัน’ นี่แหละที่ต้องพัฒนาและลงทุนเพิ่ม เพราะกว่ารายการอย่าง Keeping Up With The Kardashians จะทำเสร็จแต่ละตอน ก็ต้องมีตากล้อง 3-4 คน เพื่อตามเหล่าสมาชิกตลอดวัน พร้อมมีกล้องและไฟแบบฟูลสตรีม, มีกล้องติดในรถ ติดในห้องน้ำ ติดในบ้านโดยเฉพาะ, ทุกคนที่อยู่ในซีนต้องติดไมค์, ใส่ฟุตเทจ B-Roll เพื่อการตัดต่อระหว่างซีน, เลือกเพลงที่แนวและจังหวะเข้ากัน และตรวจซับไตเติลให้ถูกต้องหมดทุกคำ
สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก เพราะต่อไปเราเชื่อว่าคนจะหันมาทำรายการประเภทนี้อีกเยอะ ซึ่ง This Is Me Vatanika อาจกลายเป็นผู้นำในหมวดรายการนี้ที่ยังมีจำนวนน้อย สิ่งสำคัญคือ ความเป๊ะทุกองศาเหมือนซิงก์ล้างมือในห้องน้ำคุณแพร ที่พี่สาโดนคำสั่งว่า “ห้ามให้ใครมาใช้” ถ้าต่อไปปรับรายการให้ดีขึ้น ก็จะเป็นอีกหนึ่งมาตรฐานของรายการเรียลิตี้โชว์สไตล์นี้จริงๆ ถึงวันนั้นคุณแพรก็พูดได้ว่า “You Can’t Be Me” อย่างเต็มภาคภูมิ ถ้าใครจะมาเดินรอยตาม
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล