วันนี้ (20 กันยายน) หากเป็นไปตามแผนของกลุ่มแกนนำ #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จะมีการเคลื่อนขบวนของกลุ่มผู้ชุมนุมเดินทางออกจากบริเวณสนามหลวงไปยังทำเนียบรัฐบาล
ผมกดดูเส้นทางใน Google Mapa ที่จะเดินเท้าผ่านถนนราชดำเนินใน-กลาง-นอก รวมเป็นระยะทางประมาณ 2.5 กิโลเมตร พร้อมคำนวณให้ด้วยว่าจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยใช้อัตราเร็วในการเดินเท้าของมนุษย์ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
แต่ในความเป็นจริงคาดว่าใช้เวลานานกว่านั้น เพราะอัตราเร็วนี้ (คิดเป็น 1.4 เมตรต่อวินาที น่าจะเห็นภาพชัดขึ้น) อาจเร็วไปสำหรับการเดินขบวน และอาจมีฝนตกร่วมด้วยระหว่างเส้นทาง ผมอยากชวนผู้ชุมนุมคิดว่าระหว่างการเดินทางน่าจะมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้น และสามารถป้องกันได้อย่างไร
ความเสี่ยงระหว่างการเดินเท้า
ถ้ามองด้วยกรอบความคิดที่แพทย์ใช้เป็นประจำ ความเสี่ยงจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือโรคติดเชื้อและอุบัติเหตุ โดยโรคติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคฉี่หนู เพราะอาจเดินผ่านบริเวณที่มีน้ำขังซึ่งมีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และหากผิวหนังของเรามีบาดแผลก็จะเป็นช่องทางในการติดเชื้อได้ วิธีการป้องกันคือหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำ และหากมีแผลก็ควรปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ยาแบบกันน้ำได้
ส่วนอุบัติเหตุอาจเกิดขึ้นได้จากทั้งผู้ชุมนุมเอง เช่น ข้อเท้าพลิก หรือจากการควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ สาเหตุแรกควรป้องกันด้วยการเดินอย่างระมัดระวัง สังเกตลักษณะทางเดิน และคนที่เดินนำหน้าเรา หากเกิดอุบัติเหตุ ควรประเมินอาการเบื้องต้นว่าสามารถเดินลงน้ำหนักได้หรือไม่ ถ้า ‘ไม่ได้’ ควรขอความช่วยเหลือเพื่อให้พาไปยังหน่วยปฐมพยาบาล
การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับข้อเท้าพลิกมีหลักการเป็นภาษาอังกฤษว่า ‘RICE’ คือ Rest พัก แยกออกมานั่งพักข้างทางก่อน, Ice ประคบเย็นด้วยผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งหรือเจลประคบเย็น, Compression รัดด้วยผ้ายืด และ Elevation ยกส่วนที่บาดเจ็บให้สูงขึ้นเพื่อลดอาการบวม หากยังมีอาการปวดมากควรพบแพทย์เพื่อประเมินอาการอีกครั้ง
ในขณะที่สาเหตุที่สองจากการควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่จะต้องเริ่มจากการสำรวจความพร้อมก่อน อย่างแรกคือ ‘สติ’ เพราะสถานการณ์จริงอาจชุลมุนวุ่นวายที่ทำให้ตกใจจนไม่มีสติ อย่างที่สองคือ ‘สุขภาพ’ หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหืด ควรร่วมกิจกรรมอื่นแทน และอย่างที่สามคือ ‘น้ำดื่ม’ หรือน้ำสะอาดสำหรับล้างสารเคมี
ที่สำคัญคือ ‘การตรวจสอบข่าวลือ’ ที่ยั่วยุให้เกิดความรุนแรงว่าเป็นข่าวจริงหรือไม่
หากมีการใช้แก๊สน้ำตา ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการแสบตา ไอ หายใจลำบาก ผื่นแดงที่บริเวณผิวหนัง ร่วมกับอาการคลื่นไส้อาเจียน ข้อปฏิบัติหากสัมผัสคือ
- ตั้งสติ
- อย่าจับใบหน้าหรือขยี้ตา เพราะมืออาจเปื้อนสารเคมี
- ใช้น้ำสะอาดที่พกมาล้างตาและกลั้วคอ
- หากใส่คอนแทคเลนส์อยู่ให้เอาออกทันที
- ถอดเสื้อชั้นนอกที่เปื้อนสารเคมีออก หรือเปลี่ยนเป็นชุดสะอาด
นอกจากนี้ยังมีโรคที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น โรคลมแดด หรือฮีตสโตรกจากการอยู่ในสภาพที่มีอากาศร้อนเป็นเวลานาน อาการมักเริ่มต้นจากอ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หน้ามืด ควรป้องกันด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพอ และสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี แต่ช่วงนี้มีฝนตก จึงควรเตรียมอุปกรณ์กันฝนรวมถึงหน้ากากอนามัยสำรองไว้เปลี่ยนเมื่อเปียกชื้นด้วย
ระบบบัดดี้ระหว่างการทำกิจกรรม
ผู้ชุมนุมควรใช้ ‘ระบบบัดดี้’ ซึ่งเป็นการจับกลุ่ม 2-3 คนในการดูแลกันและกัน โดยบัดดี้จะต้องทราบข้อมูลที่จำเป็นของสมาชิกคนอื่น ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล เบอร์ติดต่อญาติกรณีฉุกเฉิน และโรคประจำตัว คอยเช็กว่าแต่ละคนยังเกาะกลุ่มอยู่ และให้ความช่วยเหลือหากคนใดคนหนึ่งบาดเจ็บหรือเกิดเหตุที่ต้องการความช่วยเหลือ
วันนี้ ถ้าเป็นไปตามอย่างที่ทุกฝ่ายคาดหวังว่าผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่จะมีความอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง เหตุการณ์จะหยุดอยู่แค่การ ‘ป้องกัน’ โรคเท่านั้น แต่ถ้ากลับตรงกันข้าม สิ่งที่ตามมาคือการ ‘ปฐมพยาบาล’ ซึ่งหากต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เบอร์โทรศัพท์ที่สำคัญที่สุดคือ ‘1669’ ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินครับ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- What Is the RICE Method for Injuries? https://www.webmd.com/first-aid/rice-method-injuries
- Facts About Riot Control Agents https://emergency.cdc.gov/agent/riotcontrol/factsheet.asp
- คู่มือการจัดการการชุมนุมโดยสงบเพื่อความหวังของพรุ่งนี้ https://www.amnesty.or.th/files/9416/0040/8427/ptffinal.pdf