การบริหารจัดการวิกฤตโควิด-19 อยู่ในพื้นที่สื่อมานานนับปี ทั้งเรื่องของการดูแลผู้ป่วย การจัดหาวัคซีน การเยียวยา รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ล้วนเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณซึ่งมาจากภาษีของประชาชนคนไทยอย่างเราทุกคน
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ของ GDP เพื่อให้สอดคล้องกับการกู้เงินจาก พ.ร.ก. กู้เงินช่วยโควิด 1 ล้านล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
เมื่อย้อนดูสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศไทย รายงาน ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 แจ้งว่ามียอดหนี้จำนวน 8,909,063 ล้านบาท หรือ 55.59% ของ GDP เพิ่มจากสิ้นปี 2563 ที่ประมาณ 52.1% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจาก GDP ที่หดตัวลง ประกอบกับรัฐบาลต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาพยุงเศรษฐกิจที่โดนผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 และซบเซามานานนับปี
คำถามสำคัญที่คนไทยอยากรู้คือ การปรับเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการคลังได้จริงหรือ การจัดสรรงบประมาณที่ผ่านมาตรงเป้าแค่ไหน คนไทยจะเป็นหนี้เพิ่มกันทุกคนหรือไม่ ศักยภาพของประเทศไทยตอนนี้อยู่ในระดับใด และจะแบกรับภาวะเช่นนี้ไปได้นานแค่ไหน มีอะไรที่ต้องจับตา
THE STANDARD NOW ชวนพูดคุยกับสองผู้เชี่ยวชาญด้านงบประมาณ ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษานโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ พร้อมด้วย ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคฝ่ายนโยบาย พรรคก้าวไกล
พบกันเวลา 20.00 น. เป็นต้นไป ชมสดทาง Facebook Live และ YouTube Live ของ THE STANDARD