×

กต. ยัน ยังไม่มีนโยบายนำแรงงานต่างด้าวกลับเข้าทำงานในไทย ห่วงสถานการณ์ระบาดโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
21.12.2020
  • LOADING...

อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงข่าวประจำสัปดาห์เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม ณ ห้องแถลงข่าว กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกล่าวถึงความร่วมมือกับประเทศ​เพื่อนบ้านในการบริหารจัดการแรงงานและกลุ่มเสี่ยงใน​บริบทของโควิด-19 

 

กระทรวงการต่างประเทศยืนยันว่า ไทยยังไม่มีนโยบายนำแรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานในไทยในเวลานี้ เพราะคำนึงว่าประเทศต้นทางของแรงงานต่างด้าวบางประเทศยังเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคฯ 

 

อย่างไรก็ดี กระทรวงแรงงานโดยการประสานงานใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มพิจารณาแนวทางการนำเข้าแรงงานในอนาคต เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายลงบ้างแล้ว

 

ส่วนความกังวลเรื่องการลักลอบหนีเข้าเมืองนั้น หน่วยงานความมั่นคงตามแนวชายแดนได้เพิ่มมาตรการสกัดกั้นการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมายตลอดแนวชายแดนมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงแรกที่มีการระบาดทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งบังคับใช้มาตรการคัดกรองและลงโทษผู้ลักลอบข้ามแดนที่เข้มงวดมากขึ้น

 

นอกจากนี้ไทยได้อำนวยความสะดวกการเดินทางกลับไทยของคนไทยในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจากเมียนมา อย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยพยายามกระชับความร่วมมือกับรัฐบาลเมียนมาในการอำนวยความสะดวกให้แรงงานไทยที่อยู่ในเมียนมาและต้องการเดินทางกลับไทย ให้สามารถเดินทางกลับผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย แทนการลักลอบข้ามแดน เพื่อให้สามารถคัดกรองโรคฯ ได้ถี่ถ้วนมากขึ้น

 

ส่วนประเด็นความร่วมมือระหว่างไทยกับเมียนมาในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ไทยและเมียนมาร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดและเข้มข้นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหานี้ โดยกระทรวงการต่างประเทศมีการติดต่อประสานงาน แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกันอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังช่วยประสานงานความร่วมมือระหว่างส่วนราชการต่างๆ ของไทยกับส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อมีเหตุฉุกเฉินต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างดี มีการหารือกันในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับผู้นำรัฐบาลลงมาจนถึงระดับปฏิบัติ โดยการปฏิบัติของไทยเป็นการปฏิบัติต่อการแพร่ระบาดในเฉพาะพื้นที่ หรือ Area-Based คือจังหวัดสมุทรสาคร หรือพื้นที่ที่มีการระบาด โดยให้ความสำคัญกับการระงับการแพร่ระบาด ทั้งในคนไทยและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน

 

ด้าน ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้หารือกับ จ่อ ติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือระหว่างประเทศเมียนมาวานนี้ โดยทั้งสองฝ่ายย้ำความสำคัญที่จะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มข้นขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยจะให้ความสำคัญกับการป้องกันแนวชายแดน สกัดกั้นขบวนการลักลอบนำแรงงานเมียนมาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย 

 

ทั้งสองฝ่ายรับทราบถึงกระบวนการนายหน้านำเข้าแรงงานเมียนมาที่ผิดกฎหมายและจะต้องร่วมมือกันอย่างเคร่งครัดในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ สำหรับการรับแรงงานเมียนมาเพิ่มเติม จะต้องปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน (MoU) ที่มีร่วมกัน ทั้งนี้ ฝ่ายเมียนมาแจ้งว่า การระบาดที่เกิดขึ้นในเมียนมาที่ผ่านมา มีต้นเหตุมาจากการแพร่ระบาดในพื้นที่รัฐยะไข่ 

 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขอความร่วมมือจากฝ่ายเมียนมาผ่าน ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของเมียนมา ระหว่างหารือทางไกลทางโทรศัพท์ว่า ขอให้ทั้งสองฝ่ายประสานงานใกล้ชิดกันมากขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาแรงงานข้ามแดนผิดกฎหมาย ซึ่ง ออง ซาน ซูจี ก็ตอบรับด้วยดี

 

ส่วนการประสานงานในระดับอื่นๆ นั้นหน่วยงานในพื้นที่ชายแดนของสองประเทศจะประสานกันอย่างใกล้ชิดถึงสถานการณ์ต่างๆ ตามพื้นที่ชายแดนร่วมที่อาจส่งผลต่อการแพร่ระบาดของโรคฯ เช่น ระหว่าง สตม. ระหว่างกองทัพ และระหว่างคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee – TBC) ของไทยและเมียนมา ซึ่งทั้งสามเป็นกลไกติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุด

 

ส่วนในกรอบของกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีการประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจากไทยเข้าเมียนมาและจากเมียนมาเข้าไทยผ่าน National Focal Point ภายใต้ International Health Regulation ของ WHO ซึ่งทั้งไทยและเมียนมาเป็นสมาชิกอยู่

 

กต. ย้ำว่า ไทยตระหนักถึงบทบาทสำคัญของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในการมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย และที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยก็ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อดูแลแรงงานเหล่านี้ในด้านสาธารณสุขในระหว่างที่พำนักทำงานอยู่ในประเทศไทย รัฐบาลไทยขอย้ำว่า มีการดูแลแรงงานต่างด้าวเทียบเท่ากับการดูแลแรงงานไทย ทั้งเรื่องค่าจ้าง ชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงการดูแลรักษาโควิด-19

 

ต่อคำถามเกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานเมียนมาเข้ามาตามโครงการความร่วมมือ มีโควตาหรือไม่ อย่างไร และจะเพียงพอที่จะส่งผลให้เกิดปัญหาการลักลอบเข้ามาทำงานหรือไม่ อธิบดีกรมสารนิเทศย้ำว่า กระบวนการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านควรจะต้องดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วย ความร่วมมือด้านแรงงาน (MoU) ที่มีร่วมกัน ซึ่งถือเป็นนโยบายของเราที่ส่งเสริมให้มีการนำเข้า/จ้างแรงงานต่างชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้แรงงานเหล่านั้นผ่านการตรวจโรค และมีระบบประกันสุขภาพและสวัสดิการต่างๆ รองรับ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง: 

  • กระทรวงการต่างประเทศ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X