×

รื้อปมปัญหา ‘โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา’ ทำไมชาวบ้านถึงต้องค้านยิบตา!

29.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • แผนเรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ แผนพัฒนาภาคใต้ ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดจากส่วนกลาง ซึ่งไม่ได้กำหนดเพียงรายละเอียดของสิ่งที่จะต้องทำ แต่ได้ลงรายละเอียดไปถึงขั้นที่ตั้งของการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้า คำถามจากชาวบ้านในท้องที่จึงเกิดขึ้นว่า ทำไมต้องเลือกที่นี่ ทำไมต้องเป็น ‘เทพา’
  • คนที่จำเป็นต้องอยู่อาศัยรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างจำใจในรัศมี 1 กิโลเมตร มีมากถึง 4,000 คน และรัศมี 5 กิโลเมตรมีร่วม 20,000 คน อาจแสดงถึงการเลือกที่ตั้งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  • กระบวนการ EHIA ในการรับฟัง และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในโครงการนี้ ถูกตั้งคำถามจากภาคประชาชนมากที่สุด นำมาซึ่งความไม่สบายใจของขั้นตอนการมีส่วนร่วมและรายละเอียดที่ไม่ตรงข้อเท็จจริงในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านต้องเคลื่อนไหว ยังไม่นับรวมถึงคำถามในมิติอื่นๆ ที่คาใจไม่ชัดเจน

 

ประเด็นเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กลับมาอยู่ในความสนใจของสื่ออีกครั้ง หลังเกิดเหตุการกระทบกระทั่งกัน ระหว่างชาวบ้านกลุ่มคัดค้านกับเจ้าหน้าที่ ในช่วงที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมคณะ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อประชุม ครม.สัญจร

 

 

หลังชาวบ้านกลุ่มคัดค้านทราบข่าวการมาในพื้นที่สงขลาของนายกฯ ได้มีการกำหนดท่าทีการเคลื่อนไหว โดยรวมตัวกันในวันที่ 24 พ.ย. เพื่อจะออกเดินเท้าจาก อ.เทพา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อมายื่นหนังสือให้กับนายกฯ ในวันที่ 28 พ.ย. ระยะทาง 75 กิโลเมตร

 

ตลอดการเดินทางชาวบ้านต้องเจออุปสรรค เมื่อฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ก็พยายามที่จะขอความร่วมมือไม่ให้มีการเคลื่อนไหว รวมทั้งมีรายงานถึงความยากลำบากที่เกิดจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ กระทั่งนำมาสู่การจับกุมชาวบ้านจำนวน 16 ราย และขยายเป็นกระแสในโลกโซเชียล ที่มีการกล่าวถึงจำนวนมาก

 

ขณะที่ล่าสุด พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “เรื่องพลังงาน โดยเฉพาะกรณีโรงไฟฟ้าเทพา ขอยืนยันว่าขณะนี้ ยังไม่ได้ตัดสินใจใดๆ เพื่อเริ่มโครงการ” พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินทุกขั้นตอนตามกฎหมาย และพร้อมยินดีรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายก่อนการตัดสินใจ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทั้งในและนอกพื้นที่โครงการ

 

 

จุดเริ่มต้นของปัญหา เมื่อจะสร้าง ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’

แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 (PDP 2015) ของกระทรวงพลังงาน เน้นการสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ด้วยการกระจายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด และตามแนวทางการจัดทำแผน PDP 2015 พบว่า พื้นที่ภาคใต้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง และมีปริมาณความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมในช่วงปี 2562-2567

 

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เป็นหนึ่งในแผนการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเทคโนโลยีสะอาด เพื่อสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศและเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคใต้ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิตติดตั้ง (Gross Capacity) ประมาณ 1,100 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง มีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เครื่องที่ 1 ในปี พ.ศ. 2564 และ เครื่องที่ 2 ในปี พ.ศ. 2567

 

นี่คือหลักการและความจำเป็นที่ถูกระบุไว้ในแผนดังกล่าว แต่ทว่าปัญหาในเรื่องของการจัดการไม่ได้ง่าย เมื่อชาวบ้านมองว่าวิถีชีวิตของพวกเขากำลังถูกรุกล้ำและตั้งคำถามต่ออนาคตในแผ่นดินที่เขาอยู่อาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และนั่นเป็นเหตุผลจริงๆ หรือไม่ที่รัฐต้องดำเนินนโยบายนี้

 

Photo: www.greennewstv.com

 

‘สุภาภรณ์ มาลัยลอย’ ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ซึ่งติดตามการเคลื่อนไหวและประเด็นนี้มาโดยตลอด อธิบายให้ THE STANDARD ฟังเพิ่มเติมว่า

 

แผนพัฒนาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นแผนเรื่องกำลังการผลิตไฟฟ้า หรือแผนพัฒนาภาคใต้ ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดจากส่วนกลาง ซึ่งไม่ได้กำหนดเพียงรายละเอียดของสิ่งที่จะต้องทำ แต่ได้ลงรายละเอียดไปถึงขั้นที่ตั้งของการดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้า คำถามจากชาวบ้านในท้องที่ จึงเกิดขึ้นว่า ทำไมต้องเลือกที่นี่ ทำไมต้องเป็น ‘เทพา’

 

แน่นอนว่าปัญหาที่ตามมาไม่ใช่แค่การตั้งคำถามว่าทำไมต้องเป็น ‘เทพา’ ข้อห่วงใยอื่นๆ ของประชาชนที่เกิดขึ้นตามมายังดังขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านมลพิษที่จะเกิดตามมา ปัญหาการเคลื่อนย้ายอพยพครอบครัวออกจากรัศมี 1 กิโลเมตร ที่ติดกับสถานที่ก่อสร้าง และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนจะต้องเผชิญ

 

สุภาภรณ์ บอกว่า การที่คนเราต้องอพยพเคลื่อนย้ายทั้งถิ่นฐานที่อยู่ และตัวบุคคลออกไป ถือว่าเป็นการอพยพโยกย้ายที่ใหญ่มาก ที่สำคัญคือ “ประชาชนเขารู้สึกว่าไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจเลย”

 

 

“กระบวนการทางกฎหมายก็ไม่มีความชอบธรรม ไม่ได้เปิดพื้นที่การรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน แม้ว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นถึง 3 ครั้ง แต่นั่นก็ไม่ใช่การรับฟังความคิดเห็นอย่างแท้จริง เป็นเหมือนให้ชาวบ้านไปนั่งฟังคำชี้แจง ไม่มีการเปิดพื้นที่ให้แถลงถกเถียงแต่อย่างใด ซึ่งปรากฏเป็นข้อสรุปที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง รวมทั้งกระบวนการรับฟัง และการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่หลายประการด้วย

 

“เมื่อชาวบ้านรู้สึกว่าเสียงของเขาไม่มีความหมาย ที่จะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา หรือมีการทบทวนโครงการ อีกทั้งได้ยื่นไปหลายช่องทางแล้ว หน่วยงานที่รัฐบอกให้ชาวบ้านไปยื่นก็ไปมาหมดแล้ว เขาก็ต้องการไปหานายกฯ เพื่อให้ฟังเสียงของพวกเขาบ้าง” สุภาภรณ์ กล่าว

 

แม้ว่าการเรียกร้องให้รัฐหันกลับมาทบทวนเรื่องนี้ของชาวบ้าน จะมีมาตั้งแต่ก่อนรัฐบาลปัจจุบัน ชาวบ้านก็ยังคงต่อสู้เรื่อยมา เกิดการรวมกลุ่มและเคลื่อนไหวในหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมเพื่อสันติภาพ, เครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน, เครือข่ายนักวิชาการภาคใต้คัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมทั้ง เครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน

 

 

หลายคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างทางของการสร้างโรงไฟฟ้า

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาถูกเคาะมาแล้วในแผนข้างต้น โดยที่ตั้งของโรงไฟฟ้า อยู่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีพื้นที่ประมาณ 2,960 ไร่ โดยจะมีการพัฒนาท่าเทียบเรือด้านหน้าโครงการเพื่อรองรับการขนส่งถ่านหินบิทูมินัส/ซับบิทูมินัส ที่นำเข้าจากต่างประเทศ สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

 

นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างแนวสายส่งไฟฟ้าขนาด 500 กิโลวัตต์ ระยะทางประมาณ 70-80 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อจากโครงการไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงหาดใหญ่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา

 

กระบวนการรับฟัง และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ผ่านการรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว 3 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อ 2 พ.ย. 2557 ผ่านมาแล้ว 3 ปี ครั้งที่ 2 (การประชุมกลุ่มย่อย) คือ ก.พ. และ มิ.ย. 2558 ครั้งที่ 3 27-28 ก.ค. 2558 ซึ่งกระบวนการนี้ได้เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 2558

 

ในแง่ของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ก็มีการตั้งคำถามต่อขั้นตอนนี้เช่นเดียวกัน เมื่อ 6 ส.ค. 2558 เครือข่ายภาคประชาชนที่คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ได้เคยออกจดหมายเปิดผนึก กรณีความขัดแย้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่-เทพา เพื่อให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับขั้นตอนการรับฟังความเห็น โดยระบุตอนหนึ่งในจดหมายว่า

 

 

“โครงการโรงไฟฟ้าเทพา ก็ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.3) โดยมีการใช้กำลังทหารปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการ และภาพข่าวที่ปรากฏต่อสาธารณะแสดงให้เห็นว่า ในการจัดเวทีรับฟังความเห็นทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา (เวที ค.1 และ ค.3) มีการใช้วิธีไม่โปร่งใส และขัดต่อหลักธรรมาภิบาลอย่างโจ่งแจ้ง เช่น การแจกสิ่งของเพื่อให้ประชาชนที่สนับสนุนเซ็นชื่อเข้าร่วมเวที ในขณะที่ประชาชนฝ่ายคัดค้านกลับถูกขัดขวางไม่ให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี”

 

ซึ่งเป็นเหตุผลในเวลาต่อมาที่กลุ่มคัดค้านไม่เห็นด้วยกับกระบวนการรับฟัง และต้องการให้มีการทบทวนการรับฟังความคิดเห็นใหม่ เพราะยังคงคาใจกับรายงานที่เกิดจากกระบวนการเหล่านี้ ว่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ ประหนึ่งเป็นพิธีกรรมเพื่อให้ครบขั้นตอนเท่านั้น

 

ด้าน กฟผ. ได้ชี้แจงว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียของโครงการโรงไฟฟ้าเทพาทั้งการ จัด ค.1 ค.2 และ ค.3 นั้น กฟผ. ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด และสื่อสารช่องทางการสื่อสารสาธารณะไม่น้อยกว่า 3 ช่องทาง ได้แก่ วิทยุชุมชน ป้ายประกาศ เว็บไซต์ของ กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษา เป็นต้น จึงไม่มีการปิดกั้นชาวปัตตานีหรือจังหวัดใกล้เคียงตามที่กล่าวอ้าง

 

ในหนังสือที่เตรียมยื่นให้นายกฯ ในการประชุม ครม.สัญจร ที่สงขลา ตั้งข้อสังเกตถึง พื้นที่ทำโครงการเกือบ 3,000 ไร่ ที่ต้องมีการบังคับโยกย้ายคนบ้านบางหลิงและคลองประดู่ออกจากพื้นที่แผ่นดินเกิดกว่า 180 หลังคาเรือน ร่วม 1,000 คน ว่า “แล้วจะให้ชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน?” ซึ่งนับเป็นการบังคับโยกย้ายครั้งใหญ่ในยุคนี้ ซึ่งขัดกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ขณะที่คนที่จำเป็นต้องอยู่อาศัยรอบโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างจำใจในรัศมี 1 กิโลเมตร มีมากถึง 4,000 คน และรัศมี 5 กิโลเมตรมีร่วม 20,000 คน อาจแสดงถึงการเลือกที่ตั้งที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

 

 

ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเผาถ่านหินมากถึงวันละ 23 ล้านกิโลกรัมตลอด 24 ชั่วโมง ปล่อยควันพิษที่มองเห็นและสารพิษที่มองไม่เห็น ซึ่งเป็นฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนจะกระจายทั่วสงขลาและปัตตานี จะทำให้เกิดมลพิษทางอากาศตามมา

 

ซึ่งถูกมองว่าเป็นพลังงานที่ไม่สะอาด และอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้นด้วย โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายๆ มิติ เช่น ทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนที่อาศัยทรัพยากรท้องถิ่นในการดำรงชีพ ด้านมลภาวะที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว อีกทั้งยังสร้างความแตกแยกให้กับชุมชน เพราะถูกแบ่งเป็นฝ่ายที่สนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน

 

มีข้อมูลว่า ขณะที่ประเทศไทยกำลังจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่ในประเทศอังกฤษ ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’ โรงสุดท้าย กำลังจะถูกบังคับให้หยุดดำเนินการภายในปี พ.ศ. 2563 ตามแผนที่รัฐบาลประกาศไว้เมื่อปีที่ผ่านมาว่า จะดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ประเทศที่ปลอดเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างมลภาวะ

 

อย่างที่ได้อธิบายไปแล้วว่ามีหลายคำถามที่เกิดขึ้นกับกระบวนการนี้ เพราะการต่อสู้ดำเนินการมายาวนานหลายปี นี่จึงเป็นเพียงตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมาให้เห็นภาพปัญหานี้ชัดเจนขึ้น

 

 

สถานการณ์ปัจจุบันต่อกรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ย้อนกลับมาที่ ‘สุภาภรณ์ มาลัยลอย’ ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ที่ให้ข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) แล้ว เมื่อวันที่ 17 ส.ค. ที่ผ่านมา จากนั้นจึงจะนำเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาอนุมัติโครงการของคณะรัฐมนตรี ใช้ประกอบการออกใบอนุญาตก่อสร้าง

 

คำถามก็คือ ในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาตินั้น มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. นั่งเป็นประธาน ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีก็มีนายกฯ เป็นหัวหน้า จึงเป็นคำตอบที่คาดเดาได้ถึงผลการพิจารณาในอนาคต

 

 

ก่อนหน้านี้ พล.อ. ประยุทธ์ เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน เมื่อ 18 ก.พ. 2560 เกี่ยวกับโครงการนี้ว่า ให้ดำเนินการโดยให้เป็นไปตามกฎหมาย และได้พิจารณาจากหลักการเหตุผลและเทคโนโลยีเห็นว่าคุ้มค่าปลอดภัย ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมแล้วในการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เสียเวลาไป 2 ปีแล้ว ต้องปลดล็อกให้ดำเนินการได้ ยืนยันเป็นประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ ขอให้ฟังเหตุผลของรัฐบาล อย่าฟังอะไรที่ไม่เป็นข้อเท็จจริง

 

“หลักคือต้องการเข้าไปดูแลความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า ภาคใต้มีอัตราการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าทุกภาค แต่แหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าน้อยกว่าทุกภาค ทำให้ไม่เพียงพอ”

 

 

เมื่อกลางเดือน ก.พ. 2560 เครือข่ายภาคประชาชน ได้เดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้ยกเลิก EHIA ที่ได้ดำเนินการไป โดนยืนยันไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน และขอเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนพลังงานทดแทนที่ผลิตจากปาล์มน้ำมัน เพราะมีประสิทธิภาพเพียงพอมากกว่าพลังงานถ่านหิน และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเป็นการหมุนเวียนเศรษฐกิจในพื้นที่ มีการจับกลุ่มแกนนำ 5 คน และปล่อยตัวในเวลาต่อมา

 

ขณะที่กรณีเดินเท้าเพื่อเคลื่อนไหวมายื่นหนังสือให้นายกฯ ที่มาจัดประชุม ครม.สัญจร ที่สงขลา ก็เป็นการแสดงออกเพื่อต้องการให้ผู้มีอำนาจรับรู้ถึงปัญหาและความอัดอั้นในการดำเนินนโยบาย แต่ก็มีความรุนแรงเกิดขึ้น มีชาวบ้านถูกจับกุม 16 ราย ทั้งที่มีการขออนุญาตชุมนุมแล้วอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีหลายองค์กรออกแถลงการณ์และข้อเรียกร้องต่อเหตุการณ์ดังกล่าวจำนวนมาก

 

“แต่การยื่นข้อเสนอว่าขอพบนายกฯ เพื่อส่งเอกสาร ถามว่าเจตนาคืออะไร ถ้าเขามาก็เจอผมต่อหน้าสื่อก็จะทำให้เกิดปัญหาบานปลายไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญรัฐบาลพยายามผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายมาตลอด เพราะเห็นว่าเป็นประชาชน อย่างที่กล่าวอ้างกันมา แต่ท้ายที่สุดแล้วมีการใช้กำลังกับเจ้าหน้าที่ อันนี้ทุกคนรวมถึงสื่อต้องเข้าใจ ถ้าปล่อยไปอย่างนี้อีกหน่อยก็มีปัญหาหมดทุกที่ เจ้าหน้าที่ทำอะไรไม่ได้ เพราะต่อต้าน ใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าหน้าที่ ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า นี่ผมยังไม่ได้เอาความผิดเรื่องการชุมนุมเลย” พล.อ. ประยุทธ์ แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้

 

 

สุภาภรณ์ ตั้งคำถามต่อเรื่องนี้อีกว่า การสร้างโรงไฟฟ้านั้น มีความจำเป็นต้องใช้ถ่านหินซึ่งมาจากอินโดนีเซีย คำถามก็คือ ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ ใช่นายทุนหรือไม่ ขณะที่ปัญหาไฟฟ้าไม่พอ ก็ยังสามารถใช้วิธีอื่นได้ แต่การยืนยันจะสร้างโรงไฟฟ้าจึงเป็นข้อสังเกตว่า เป็นความต้องการเอื้อประโยชน์กลุ่มใด เพราะหากมองไปถึงแผนพัฒนาต่างๆ มีแต่เรื่องอุตสาหกรรมที่จะลงมา

 

“รัฐต้องทบทวน เอาตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดการปะทะกันล่าสุดมามองเรื่องความขัดแย้ง แล้วจะเห็นว่าในพื้นที่จะขัดแย้งรุนแรงขนาดไหน เป็นบทเรียนที่ไม่ดี การปล่อยให้เกิดอะไรขึ้นแบบนี้ ในระหว่างทางย่อมไม่ยั่งยืน มีการออกกฎหมายที่เป็นคำสั่งพิเศษในพื้นที่ ก็ยิ่งทำให้ความแคลงใจเกิดขึ้นมาอีก สะท้อนการใช้อำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน และการเดินหน้าแบบนี้มีแต่จะนำไปสู่ความขัดแย้งที่มากและรุนแรงขึ้น”

 

ในจดหมายที่ต้องการยื่นต่อนายกฯ ของเครือข่ายคนสงขลาปัตตานีไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ระบุในตอนท้ายถึงข้อเรียกร้องว่า

 

“ประเทศไทยมีทางเลือกที่จะไม่สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายทางเลือก จึงขอเพียงให้รัฐบาลมีนโยบายที่สอดคล้องกับประชาคมโลกตามที่รัฐบาลได้ไปลงนามไว้”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X