×

#ล่า2017 เมื่อละครดราม่า กลายเป็นของหวานที่อร่อยกว่าความพยาบาท

29.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • การดัดแปลงรายละเอียดในนิยายที่เขียนขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อนและดัดแปลงจากละครเวอร์ชันเก่าให้เข้ากับยุคสมัย เป็นโจทย์สำคัญของทีมเขียนบทและผู้กำกับ เพื่อให้ละครไม่หลงยุค และคาแรกเตอร์เซนเซย์ยูกิคือตัวอย่างที่เห็นชัดของการดัดแปลงรายละเอียดเหล่านี้
  • มีมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตอนนี้ยกให้มีมที่มาจากมธุสรในร่าง ‘ริต้า’ โสเภณีผิวสีที่ข้อมูลในพาสปอร์ตปลอมของเธอระบุว่าอายุ 34 ปี และมาจากยูกันดา เพราะโผล่มาเพียงแค่ไม่กี่ตอนก็มีมีมชนะร่างอื่นๆ ของมธุสรขาดลอยแล้ว

“จำไว้นะ…ความพยาบาทเป็นของหวาน”

 

ประโยคสั้นๆ จากละครเรื่อง ล่า เวอร์ชันปี 2537 ที่ ‘อุมะ’ ครูสอนแต่งหน้าชาวญี่ปุ่นย้ำกับ ‘มธุสร’ จนนำมาสู่การแก้แค้นทรชนทั้ง 7 ที่ทำลายชีวิตของเธอและลูกสาว และเป็นที่มาของเรื่องราวทั้งหมดในละครเรื่องนี้

 

เมื่อมาถึงเวอร์ชันปี 2560 ประโยคดังกล่าวก็กลับมาอีกครั้งในการโปรโมตที่ผ่านตาผ่านหูแบบถี่ๆ จนแทบจะเป็นแท็กไลน์ของละครเรื่องนี้ และทำให้คนดู โดยเฉพาะคนที่ยังจำเวอร์ชันที่แล้วคาดหวังว่า เมื่อถึงเวลาที่ประโยคนี้หลุดออกจากปากของตัวละคร มันจะต้องน่าขนลุก เพราะพลังความแค้นของมธุสรอย่างแน่นอน

 

แต่หลังจากที่ละครเดินทางมาถึงช่วงกลางๆ เรื่องอย่างตอนนี้ ล่า ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าความพยาบาทของตัวละครในเรื่องและความดราม่าที่ (ควรจะ) เข้มข้นกลับกลายเป็นของหวานสำหรับคนที่ติดตามละครเรื่องนี้ไปแทนเสียแล้ว

 

 

การปรากฏตัวของเซนเซย์ยูกิ และทีมงานโซเชียลอันขยันขันแข็งของเธอ

ช่วงแรกๆ ที่ละครเรื่อง ล่า ออกฉาย ความเป็นดราม่าคือส่วนผสมที่โดดเด่นมาก บางกระแสยกให้เป็นละครสะท้อนสังคม โดยเฉพาะฉากข่มขืน ที่ทำเอาคนดูจำนวนไม่น้อยจิตตกหดหู่ไปเป็นวันๆ ถึงขั้นที่มีคนมองว่าอาจเป็นฉากที่ทำให้เกิด Social Movement ในสังคมไทยได้เลยทีเดียว

 

แต่ในกระแสชื่นชมเชิงบวกนั้น ก็มีกระแสที่ไม่เห็นด้วยกับรายละเอียดในละคร ทั้งเรื่องการใส่แนวคิด ‘ข่มขืน = ประหาร’ เข้ามาแบบจงใจเกินไป หรือการที่มีนักกฎหมายบางกลุ่มออกมาวิพากษ์ว่าเป็นละครทำร้ายสังคม เพราะมีฉากการไต่สวนพยานในศาลที่ผิดไปจากความจริงจนเกรงว่าอาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนให้กับคนดูได้

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าลองตามอ่าน #ล่า2017 ในทวิตเตอร์ช่วงนั้นดูก็จะเห็นว่า ต่อให้มีกัด มีแซะ มีแซวบ้าง แต่ความเห็นส่วนใหญ่นั้นยังมีพื้นฐานมาจากความดราม่าของเรื่อง

 

จนกระทั่งตอนที่เซนเซย์ยูกิปรากฏตัว ล่า ก็กลายเป็นละครดราม่าที่ไม่ได้ทำให้คนดูเครียดจนจิตตกอีกต่อไป และเริ่มสนุกกับ ‘ของหวาน’ ที่รสชาติคาดไม่ถึง

 

 

คนที่ไม่ได้ดูเวอร์ชันที่แล้วอาจมีคำถามว่า เซนเซย์ยูกิในเวอร์ชันนี้ที่รับบทโดย รัดเกล้า อามระดิษ กับครูอุมะในเวอร์ชันก่อนที่แสดงโดย อรนภา กฤษฎี ต่างกันอย่างไร อธิบายสั้นสุดก็คือ เซนเซย์ยูกิเป็นร่าง evolution ของครูอุมะนั่นเอง

 

จากเดิมที่ครูอุมะเน้นสอนแต่งหน้า ช่วยสืบหาข้อมูลคนร้าย และสอนวิชาใช้อาวุธให้กับมธุสรผู้ไม่เคยจับอาวุธใดๆ เซนเซย์ยูกิพัฒนาไปถึงขั้นเทรนวิชาการฆ่าให้มธุสรอย่างเต็มขั้น เรียกว่าจัด bootcamp ให้โดยเฉพาะ เป็นนักฆ่ามืออาชีพ ที่เข้ามามีบทบาทเพื่อให้มธุสรมีความพร้อมในการล้างแค้นทั้งทางกายและจิตใจ

 

การดัดแปลงรายละเอียดในนิยายที่เขียนขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อนและดัดแปลงจากละครเวอร์ชันเก่าให้เข้ากับยุคสมัยเป็นโจทย์สำคัญของทีมเขียนบทและผู้กำกับ เพื่อให้ละครไม่หลงยุค และคาแรกเตอร์เซนเซย์ยูกิคือตัวอย่างที่เห็นชัดของการดัดแปลงรายละเอียดเหล่านี้

 

 

เริ่มตั้งแต่การติดต่อมธุสรทางเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอก่อน เมื่อมธุสรบล็อก ก็หันไปติดต่อทางไลน์แทน พร้อมส่งข้อมูลและคลิปวิดีโอผลงานการวางแผนฆ่าที่ผ่านมาให้ทางไลน์เสร็จสรรพ ซึ่งให้อารมณ์ใกล้เคียงกับการสร้างความเชื่อถือเพื่อหาดาวน์ไลน์ในยุคนี้ ก่อนจะต่อด้วยการบอกให้แอดไลน์กรุ๊ป เพื่อใช้เป็นช่องทางหลักในการติดต่อ

 

การพูดคุยกันทางไลน์ของมธุสรกับเซนเซย์ยังมีให้เห็นตามมาอีกหลายฉาก จนถ้าจะมีฉากเซนเซย์ส่งรูปดอกไม้สีเหลือง ‘สวัสดีวันจันทร์’ มาให้มธุสรเป็นการทักทายเพื่อเริ่มต้นสัปดาห์ก่อนจะออกไปฆ่าใคร หรือมีสติกเกอร์ของตัวเอง คนดูก็จะคงจะไม่แปลกใจแม้แต่น้อย

 

การดัดแปลงบทให้เข้ากับยุคสมัยครั้งนี้ยังขยายมาถึงการวางกลยุทธ์ให้มธุสรใช้เฟซบุ๊กสร้างหลักฐานให้ตัวเอง จะไปไหน นอนไหน ก็ต้องเซลฟี เช็กอินเก๋ๆ รวมไปถึงการมีทีมโซเชียลของเซนเซย์ด้วย ซึ่งทีมนี้เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและเป็นแอดมินของเพจ Rootbeer4diva เพจโชว์เซ็กซี่ที่เป็นหน้าร้านของมธุสรในคราบ ‘รูทเบียร์’

 

 

ผลงานชิ้นโบว์แดงของทีมโซเชียลมีเดียคือการปั่นยอดไลก์ให้พุ่งกระฉูดในเวลาสั้นๆ จนไปเข้าตาทรชนสาย SM อย่าง ‘แมน’ ที่ติดใจลีลาของรูทเบียร์จนอินบ็อกซ์ไปหา และตามมาด้วยการแลกไลน์ (อีกแล้ว) ไว้ติดต่อกัน

 

ทีมโซเชียลทีมเดียวกันนี้น่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคอร์สสัมมนาบุคลิกภาพเพื่อการขาย อีกอาชีพที่ดูน่าจะทำรายได้ให้เธอไม่น้อยและเดาว่าเป็นรายได้ที่เซนเซย์นำมาใช้ในการสร้างคอมมูนิตี้นักฆ่า ที่นอกจากจะสอนฮาวทูพื้นฐานของการเป็นฆาตกรและการวางแผนฆ่าแล้ว ในแพ็กเกจของมธุสรยังรวมบริการจัดหาที่พักและตกแต่งห้องพักในสไตล์มินิมัล พร้อมรูปถ่ายในสตูดิโอของทรชนทั้ง 7 เพื่อตอกย้ำเป้าหมายในการฆ่าล้างแค้น

 

 

#ล่า2017 เป็นละครดราม่า

ล่า เป็นละครดราม่า แต่ไม่ใช่ว่าละครดราม่าทุกเรื่องจะมีดราม่านอกจอเหมือนอย่างเรื่องนี้ เพราะหลังจากฉากในศาลตอนต้นเรื่องที่ทำให้เกิดการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันในโลกโซเชียล ระหว่างฝ่ายที่บอกว่ารายละเอียดไม่สมจริง กับฝั่งที่ดูแล้วรู้สึกว่าช่างบีบเค้นหัวใจ ก็ยังมีดราม่าอื่นๆ ตามออกมานอกจออีกเป็นระยะ

 

ดราม่าล่าสุดก็คือเรื่องของโลโก้พรรคธรรมนำไทย พรรคการเมืองสมมติในเรื่อง ซึ่งชาวเน็ตลงความเห็นว่าละม้ายโลโก้พรรคเพื่อไทยไปทุกจุด ทั้งฟอนต์และสีที่ใช้ ไปจนถึงตัวย่อชื่อพรรค ซึ่งแทนที่จะใช้ว่า ธนท ตามชื่อธรรมนำไทย ก็กลายเป็น พนท แทน แล้วยิ่งมีไดอะล็อกที่พูดถึงดูไบ ก็ยิ่งชวนให้ตีความว่าละครตั้งใจจะแซะการเมืองด้วยโลโก้นี้

 

ความใกล้เคียงนี้ส่งผลให้ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาทวงถามเรื่องนี้กับผู้ผลิตละคร จนทำให้ทีมงานต้องออกมากล่าวขอโทษและชี้แจงว่าเป็นความบังเอิญเหมือน ทั้งยังจบลงที่การตัดฉากที่เห็นโลโก้ออกไป เพื่อตัดปัญหา และยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ไม่ได้อธิบายถึงจุดที่ว่าทำไมในหน้าแสดงผลการค้นหาในกูเกิลที่เกี่ยวกับพรรคธรรมนำไทย ถึงได้มีลิงก์ที่ให้ข้อมูลของพรรคเพื่อไทยติดมาเป็นลิงก์แรกด้วย

 

 

อีกดราม่าหนึ่งที่เรียกว่าเป็นดราม่าเบาๆ แต่ก็มีการถกเถียงกันใน #ล่า2017 ก็คือ เรื่องหน้าตาของทรชนทั้ง 7 ในเวอร์ชันนี้ที่ส่วนใหญ่ดูจะหล่อเกินบทกันไปมาก และบางคนก็แต่งตัวมีสไตล์ทุกซีน อย่างเช่น ‘จั๊วะ’ ที่คีปลุคได้อย่างสม่ำเสมอ เพราะมาในชุดเสื้อฮาวายสไตล์ EXO ในเพลง Ko Ko Bop เกือบทุกฉาก ความหล่อเท่ของเดอะแก๊งนี้ทำให้ชาวเน็ตบางคนทวีตว่าสงสารตัวละครที่โดนฆ่าไปแล้ว ยังไม่อยากให้ตาย เพราะ ‘หวีด’ ตัวละครอย่าง ‘บิ๊ก’ หรือ ‘เต๋า’ แต่กลับไม่มีกระแสสงสารตัวละครอย่าง ‘แมน’ ทั้งที่แมนก็โดนฆ่าอย่างเหี้ยมโหดเช่นกัน จนมีคนแซะว่าเป็นเพราะแมนหน้าตาอย่างกับ ‘ข้อศอกหมา’ เหมือนอย่างที่ ‘แป๊ว’ หัวหน้าแก๊งทรชนพูดไว้ คนดูก็เลยไม่เอาใจช่วย

 

แน่นอนว่างานนี้มีฝั่งแก้ต่างออกมาอธิบายว่า ไม่ได้เชียร์เพราะหน้าตา และไม่ได้โปรคนชั่วที่ดูดี แต่เพราะแบ็กกราวด์ของคาแรกเตอร์ปูมาให้น่าสงสารกว่า ไม่เกี่ยวกับหน้าตาของคนแสดงจริงๆ นะ

 

 

มีมก็เป็นของหวาน

ความไวรัลน่าจะเป็นดัชนีอย่างหนึ่งที่บอกว่าละครยุคนี้เรื่องไหนที่ประสบความสำเร็จในแง่การเป็นที่รู้จัก และ ‘มีม’ ที่มาจากละครเรื่องนั้นๆ ก็คงถือเป็นดัชนีที่วัดความเป็นไวรัลอีกที ซึ่งถ้าใช้เกณฑ์นี้ก็ต้องเรียกว่า ล่า เป็นละครที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะทุกสัปดาห์จะมีมีมใหม่ๆ ออกมาให้ชาวเน็ตเซฟกันรัวๆ ชนิดที่ต้องยอมใจบรรดานักแคปในตำนานเลยทีเดียว

 

มีมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดตอนนี้ยกให้มีมที่มาจากมธุสรในร่าง ‘ริต้า’ โสเภณีผิวสีที่ข้อมูลในพาสปอร์ตปลอมของเธอระบุว่าอายุ 34 ปี และมาจากยูกันดา เพราะโผล่มาเพียงแค่ไม่กี่ตอน ก็มีมีมชนะร่างอื่นๆ ของมธุสรขาดลอยแล้ว

 

ริต้าใช้ความดีดเป็นตัวทำให้ต่างจากบุคลิกของมธุสร นอกเหนือไปจากวิกผมทรงแอโฟรขนาดย่อม การทาผิวสีเข้ม และเสื้อผ้าฉูดฉาดชะเวิกชะวาก ซึ่งริต้าก็ดีดได้สมบท เพราะแค่เดินเฉยๆ ก็ยังเริงร่าเหมือนอยู่ในเอ็มวีเพลง Music Lover ของมาช่าได้อย่างเนียนๆ และยังมีมีมริต้าที่เหมาะจะเอาไปใช้ในสถานการณ์อื่นๆ ในชีวิตอีกเพียบ ไม่ว่าจะเป็นการโต้ตอบเมื่อโดนถามว่า เมื่อไรจะมีแฟน เมื่อไรจะลดความอ้วน หรือเวลาโดนด่าเรื่องใดๆ แล้วอยากจะทำหน้าแบบโนสนโนแคร์ใส่คนด่า

 

 

รองลงมาจากมีมริต้า ก็คือมีมเซนเซย์ยูกิ ที่แม้ว่าช่วงนี้จะมีซีนไม่บ่อย แต่เพราะเป็นคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผมไปจนถึงไดอะล็อกที่พูด ก็ทำให้ขโมยซีนได้เสมอ ทั้งที่เป็นตัวแทนของความดาร์กไซด์อย่างสุดกู่ เพราะอยากเห็นคนที่ถูกกระทำใช้การฆ่าเพื่อแก้แค้นตาม motto ประจำตัวที่บอกว่า ‘ความพยาบาทเป็นของหวาน’ และเห็นว่าความลังเลคือหลักฐานของความอ่อนแอ แต่มีมของเซนเซย์ทุกอันห่างจากความเป็นดาร์กไซด์อย่างพร้อมเพรียง ทั้งยังมีการนำเซนเซย์ยูกิไปเปรียบเทียบกับคนดังอีกหลายคน ซึ่งพอเห็นรูปของแต่ละคนที่เอามาเทียบกันแล้วก็ต้องบอกว่าเหมือนเวอร์! จนถ้าบอกว่าทีมงานได้อินสไปเรชันจากคนเหล่านั้น คนดูก็คงเชื่อสนิทใจ

 

 

ว่ากันตามตรง ล่า ในเวอร์ชันที่ออกอากาศอยู่นี้อาจเลยจุดที่จะนำมาเปรียบเทียบกับเวอร์ชันก่อนหน้าไปแล้ว เพราะต้องยอมรับว่าการตีความที่แตกต่างกันทำให้ละครที่สร้างจากนิยายเรื่องเดียวกันดูเป็นคนละเรื่องคนละแนวกันได้

 

ส่วนความพยายามที่จะสะท้อนสังคมนั้น แม้จะยังมีอยู่แต่ก็อาจไม่ชัดตามความตั้งใจ ด้วยรสชาติของละครเองที่ทำให้ความพยาบาทเป็นของหวานในรูปแบบที่ต่างออกไปจากความคาดหวังของคนดู จนคนเลือกโฟกัสที่เรื่องอื่นมากกว่าแกนหลัก แต่หากคิดว่าหน้าที่ของของหวานคือการทำให้คนกินอารมณ์ดีขึ้นและลดความเครียดลงได้ #ล่า2017 ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากความพยาบาทของมธุสรก็คงถือเป็นของหวานที่ทำให้คนจำนวนมากอร่อยไปกับมัน

 

และถ้ามองว่าหน้าที่ของละครก็คือสร้างความบันเทิงให้คนดู การส่องทวิตเตอร์ตามแฮชแท็กนี้คู่ไปกับการติดตามละครก็ถือเป็นความบันเทิงแบบชุดใหญ่ไฟกะพริบที่มาเป็นแพ็กคู่ทุกคืนวันจันทร์และอังคาร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X