หลังจากเห็นตัวอย่างของ The Beguiled ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของผู้กำกับ โซเฟีย คอปโปลา (Sofia Coppola) ก็ทำให้หวนย้อนนึกไปถึงภาพยนตร์เรื่องแรกของเธออย่าง The Virgin Suicides (1999) ที่ใช้เสน่ห์การอยู่รวมกันของกลุ่มหญิงสาวเป็นตัวแทนของความโดดเดี่ยว ซึ่งถือว่าเป็นลายเซ็นของเธอ แต่ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือมุมมองที่โตขึ้น และความแข็งแกร่งที่เพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกันใน The Beguiled
คอปโปลาหยิบเรื่องราวจากหนังสือที่เล่าถึงโรงเรียนประจำหญิงล้วนช่วงสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มเด็กสาวได้ช่วยชีวิตทหารรายหนึ่งที่บาดเจ็บ และต้อนรับเขาเข้ามาอยู่ในโรงเรียน ซึ่งก่อให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น
นักแสดงที่เราเห็นหลักๆ คือ นิโคล คิดแมน ที่รับบทเป็น ‘คุณครูใหญ่’ ภายในโรงเรียนประจำแห่งนี้ โคลิน ฟาร์เรลล์ รับบททหารบาดเจ็บ รวมถึงนักแสดงรุ่นใหม่ขวัญใจมหาชนอย่าง เคิร์สเตน ดันสต์ และ แอล แฟนนิง นอกจากนี้ยังมีนักเรียนหญิงช่วงวัยอื่นๆ ในโรงเรียนเข้ามาเสริมให้เรื่องราวในครั้งนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยแต่ละตัวแสดงมีคาแรกเตอร์ต่างกันชัดเจนและดูสมบทบาท อาจเพราะการคัดอายุของนักแสดงให้ตรงกับบท และการให้ทั้งหมดมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจริงๆ จนเกิดความสนิทสนมแบบกลุ่มเพื่อนสาวที่มีเสน่ห์ด้วยตัวของมันเอง
An Apple Pie
แม้หนังสือต้นฉบับของ The Beguiled จะเคยถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์แล้วในปี 1971 (นำแสดงโดย คลินต์ อีสต์วูด, เจอรัลดีน เพจ, อลิซาเบธ ฮาร์ตแมน และ โจ แอนน์ แฮร์ริส) แต่ในฐานะผู้กำกับอย่างคอปโปลา เธอเน้นหนักไปที่เรื่องราวของ ‘ผู้หญิงต่างวัย’ ที่ต้องมาอยู่ร่วมกัน ซึ่งเธอก็นำเสนอมันออกมาได้อย่างไร้ที่ติ (นี่อาจจะเป็นหนึ่งในจุดแตกต่างกับ The Virgin Suicides อย่างชัดเจน) ทัศนคติของกลุ่มหญิงสาวที่มีต่อชายแปลกหน้าถูกนำเสนอผ่านบทและการแสดงที่สมจริง แม้ด้วยวัยจะทำให้แต่ละตัวละครคิดและมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกัน แต่พวกเธอทั้งหมดกลับมีจุดร่วมเดียวกันแฝงอยู่
A Pin
คอปโปลา และ แอนน์ รอสส์ ผู้ออกแบบงานสร้าง เริ่มทำภาพยนตร์เรื่องนี้จากการหาภาพและสิ่งของต่างๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจมารวมกันไว้ในบอร์ด เพื่อควบคุมทิศทางของการถ่ายทำ ซึ่งนั่นสามารถตอบคำถามได้อย่างดีว่าทำไมทุกฉากใน The Beguiled ถึงสวยงามและคุมโทน อีกทั้งเสื้อผ้าที่บ่งบอกยุคชัดเจน แต่ก็ถูกตัดทอนลงให้ไม่ฟู่ฟ่าจนเกินไป
สเตซี แบตแทต (ผู้ออกแบบเสื้อผ้า) และคอปโปลาตัดสินใจจะไม่ให้ตัวละครใส่กระโปรงแบบสุ่มไก่ เพราะอยากคงความเข้าถึงง่าย สมจริง แต่ยังดึงดูดความสนใจของคนยุคใหม่ได้ด้วย เครื่องประดับเล็กๆ น้อยๆ ที่แฝงเข้ามาในเรื่องอย่าง เข็มกลัด ริบบิ้นที่ใช้ผูกผม จึงช่วยย้ำธีมหลักของภาพยนตร์ และในขณะเดียวกันก็ยังใช้เป็นซิมโบลิกในบทได้อีกด้วย ดูการแต่งตัวของพวกเธอไปตลอดทั้งเรื่องแล้วก็คิดว่าธีมวินเทจแบบปี 1860 อาจจะย้อนกลับมาเป็นเทรนด์แฟชั่นวันนี้ได้สบายๆ
A Cicada
แม้จะได้วงดนตรีสัญชาติฝรั่งเศส Phoenix มาทำสกอร์ให้ แต่ก็ไม่รู้สึกนักขณะชมภาพยนตร์ เสียงที่ถูกใช้บ่อยและถูกใช้อย่างฉลาดคือเสียงแอมเบียนซ์ของธรรมชาติอย่างเสียงจักจั่น ที่สร้างความรู้สึกปลอดภัย เงียบสงบ และเป็น ‘บ้าน’ ขณะเดียวกันมันก็ตัดด้วยเสียงระเบิดจากสงครามที่ดังควบคู่กันอยู่ตลอดเวลา แต่นอกจากเสียงร้องใสๆ ของนักแสดงในเรื่องที่แสดงถึงความไร้เดียงสาแล้ว เราก็แทบไม่ได้ยินเพลงประกอบหลักๆ จาก The Beguiled เท่าไร คอปโปลาได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ชีวิตของคนกลุ่มนี้เรียบง่ายมาก จนมันคงไม่สมเหตุผลสมผลที่จะมีดนตรีประกอบแบบยิ่งใหญ่ ฉันอยากคงให้มันน้อยที่สุด”
A Fog
ผู้กำกับภาพ ฟิลิปป์ เลอ ซูร์ด ควรได้รับรางวัลจากผลงานในครั้งนี้เช่นเดียวกัน การควบคุมมู้ดของหนังตลอดเรื่องด้วยการใช้ฟิล์มภาพยนตร์ ใช้อัตราส่วนของภาพแบบหนังสมัยเก่าคือ 1:66/1 และเลนส์แบบเก่า ซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน ทำให้เราได้เห็นภาพบางซีนที่ถูกปรับให้เบลอเหมือนหนังยุคเก่า มีความซอฟต์และโปร่ง ซึ่งยิ่งเพิ่มความน่าสนใจของทุกๆ ฉาก จุดเด่นอีกอย่างคือการใช้ควันบางๆ เพิ่มบรรยากาศให้บ้านที่ใช้ถ่ายทำตลอดเวลา บวกกับแสงแดดที่ช่วยใส่ฟิลเตอร์โทนร้อนเข้าไปในภาพยนตร์ได้อย่างละมุน ซึ่งหากสังเกตตลอดเรื่องแล้ว แสงและสีของหนังในช่วงแรกจะสว่าง เน้นสีโทนอ่อน จนกระทั่งทหารผู้บาดเจ็บอย่าง แม็กเบอร์นีย์ เข้ามา สีของหนังจึงจะค่อยๆ เข้มขึ้นตามอารมณ์
A Blue Cloth
การเจาะประเด็นและหามุมมองด้านลึกของตัวละครถือเป็นจุดแข็งของคอปโปลา นอกจากกลิ่นอายของ The Virgin Suicides แล้ว The Beguiled ยังชวนให้นึกถึง Marie Antoinette (2006) แม้เรื่องราวจะเป็นที่จดจำของคนหมู่มาก แต่เธอกลับเลือกที่จะนำเสนอ ‘อีกด้าน’ ของเรื่องนั้นๆ
เรื่องราวทั้งหมดใน The Beguiled เกิดขึ้นในช่วงสงครามกลางเมืองยุค 1864 แต่กลับไม่มีภาพของสงคราม ทาส หรืออาวุธใดๆ มีเพียงแต่ชีวิตของกลุ่มผู้หญิงในช่วงสงครามแทน จนทำให้เราได้เห็นวิธีคิดของตัวละคร ความไร้เดียงสา และความเปราะบางที่ถูกทำลายลงเพราะสงคราม รวมถึงการแสดงออกถึงอารมณ์ในเรื่องเพศ และสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบมาถึงคนดูอย่างเราต่ออีกที ทำให้บางฉากก็ยิ้มและหัวเราะกับไปความน่ารักของตัวแสดง แต่บางฉากก็ทำให้อึดอัดจนหายใจไม่ถนัดได้เหมือนกัน
หลังจากดู The Beguiled จนจบ ทำให้ผู้เขียนย้อนนึกถึงวัยมัธยมของตัวเอง ด้วยความสมจริงของบทและการแสดง ทำให้เกิดคำถามกับตัวเองว่าผู้ชายที่ไปดูเรื่องนี้จะมีความคิดเห็นอย่างไร หากคุณตีความความเป็นผู้หญิงด้วยภาพหญิงสาวใส่กระโปรงบานผูกโบ -ใช่ หากคุณมองว่าผู้หญิงจะต้องร้ายลึก -นี่ก็ใช่ และหากคุณมองว่าผู้หญิงคือตัวแทนของความอ่อนโยน แต่เข้มแข็ง และพร้อมที่จะทำในสิ่งที่พวกเธอจำเป็นต้องทำ ‘The Beguiled’ ก็น่าจะเป็นตัวแทนของคำนิยามนี้ได้อย่างสมบูรณ์
- คอปโปลาชอบที่จะถ่ายในสถานที่ถ่ายทำจริงมากกว่า จึงเลือกใช้บ้านจริงๆ ในนิวออร์ลีนส์ที่ชื่อว่า บ้านไร่เมดวูด หนึ่งในคฤหาสน์สไตล์กรีกโบราณที่สมบูรณ์แบบที่สุดในอเมริกา จนทำให้นักแสดงทุกคนต้องระวังว่าจะไม่ไปทำอะไรในบ้านเสียหาย
- เสื้อผ้าทั้งหมดถูกสั่งตัดมาโดยเฉพาะ แอล แฟนนิง เผยว่า พวกเธอต้องวัดเอวกันทุกวันเพราะกระโปรงเย็บมาพอดีตัว และยังต้องใส่เสื้อชั้นในรัดทรงทุกวันด้วย ซึ่งส่งผลต่อบุคลิกและท่าทางของนักแสดง
- The Beguiled เป็นหนังทุนต่ำ และใช้เวลาถ่ายทำเพียง 26 วันเท่านั้น
- นักแสดงทุกคนต้องเรียนทักษะที่จำเป็นตั้งแต่การปฐมพยาบาล สำเนียง ไปจนถึงการพูดภาษาฝรั่งเศส รวมทั้งคลาสสอนมารยาท ที่นอกจากนักแสดงหญิงทั้งหมดต้องถูกฝึกมารยาทแล้ว โคลิน ฟาร์เรลล์ ก็ต้องเข้าคลาสนี้ด้วย