เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (17 มิ.ย.) ฝ่ายเศรษฐกิจและกิจการสังคมของสหประชาชาติ (UN) เผยรายงาน The World Population Prospects 2019 ซึ่งคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 9.7 พันล้านคนภายในปี 2050 หรือราว 30 ปีข้างหน้า และอาจเพิ่มสูงเกือบ 1.1 หมื่นล้านคนราวปี 2100
รายงานระบุว่าประชากรโลกมีแนวโน้มกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากช่วงชีวิตที่ยืนยาวขึ้น วิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์ รวมถึงอัตราการเกิดที่ต่ำลงในหลายประเทศ จากอัตราการเกิดเฉลี่ย 3.2 ครั้งต่อผู้หญิง 1 คนในทศวรรษ 1990 ลดลงเหลือ 2.5 ครั้งต่อผู้หญิง 1 คน และอาจลดลงเหลือเพียง 2.2 ครั้งต่อผู้หญิง 1 คนภายในปี 2050
ปัจจุบันมีจำนวนประชากรโลกราว 7.7 พันล้านคน คาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรในอินเดีย ไนจีเรีย ปากีสถาน คองโก เอธิโอเปีย แทนซาเนีย อินโดนีเซีย อียิปต์ และสหรัฐอเมริกา จะเพิ่มสูงขึ้น คาดราวปี 2027 อินเดียเตรียมแซงหน้าจีนขึ้นครองบัลลังก์แชมป์ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก
โดยญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มีอัตราส่วนของประชากรวัยทำงานต่ำที่สุดในโลกเพียง 1.8 เมื่อเทียบกับประชากรวัยสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2019-2050 จำนวนประชากรของจีนอาจลดลงถึง 31.4 ล้านคน หรือราว 2.2% ของประชากรทั้งหมด
รายงานฉบับนี้ยังระบุอีกว่าระหว่างปี 2010-2020 พบการอพยพของประชากรโลกใน 14 ประเทศ บางประเทศอพยพเนื่องจากความต้องการในการหางานทำ เช่น บังกลาเทศ เนปาล ฟิลิปปินส์ บางประเทศอพยพเพราะความรุนแรง ความไม่มั่นคง และความขัดแย้ง เช่น เมียนมา ซีเรีย และเวเนซุเอลา ในขณะที่เบลารุส เอสโตเนีย เยอรมนี ฮังการี อิตาลี ญี่ปุ่น รัสเซีย เซอร์เบีย และยูเครน จะพบคลื่นมนุษย์ครั้งใหญ่หลั่งไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก
ภาพ: Sladkozaponi / Shutterstock
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- www.un.org/development/desa/en/news/population/world-population-prospects-2019.html
- www.japantimes.co.jp/news/2019/06/18/national/social-issues/japan-worlds-lowest-proportion-working-age-people-u-n-report-says/?fbclid=IwAR12IAAf15RdVnSoVyTBwDcjOSkfDI6JFlzZ09_FJl30vPmy7kSl1iKGYtQ#.XQmr79MzaCS
- time.com/5608713/world-population-9-billion-2050/