เศรษฐกิจโลก ท่ามกลางความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ทำให้เริ่มมีมุมมองในเชิงเปรียบเทียบว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้จะเหมือนหรือแตกต่างอย่างไรกับวิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 และถึงแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วเศรษฐกิจทั่วโลกจะแย่ลงไปอีก แต่ดูเหมือนว่าปัจจัยแวดล้อมในขณะนี้จะแตกต่างไปจากปี 2008 พอสมควร
ทั้งนี้ Bloomberg ได้สรุปปัจจัยที่แตกต่างไปจากเมื่อ 14 ปีก่อน ซึ่งมีส่วนที่สำคัญ ได้แก่
- อัตราเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อเป็นปัจจัยที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันเงินเฟ้อหลายประเทศพุ่งสูงในระดับหลายทศวรรษ ไม่เว้นแม้แต่ญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่เงินเฟ้อต่ำเกินไปในช่วงก่อนหน้านี้
- ตลาดทุนกับการจ้างงาน
อัตราการว่างงานในปัจจุบันถือว่าต่ำกว่าเมื่อปี 2008 ค่อนข้างมาก อย่างในสหรัฐฯ อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.6% ในขณะนี้ เทียบกับวิกฤตครั้งก่อนซึ่งสูงถึง 8% แม้ว่าจะผ่านวิกฤตมาแล้วจนถึงปี 2013 นอกจากนี้หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2007 อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ เริ่มสูงขึ้น และอีกไม่กี่เดือนถัดมาดัชนี S&P 500 ก็พุ่งขึ้นแตะจุดพีคของช่วงก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงิน แต่ปัจจุบันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดิ่งลงมาแล้ว 8 เดือน แต่อัตราการว่างงานยังไม่ได้พุ่งขึ้น
- ความตึงเครียดในยุโรป
ย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจของเยอรมนีเติบโตอย่างมาก ขณะที่ประเทศอื่นๆ รอบข้างกลับย่ำแย่หนัก แต่มาครั้งนี้ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจเยอรมนีกำลังถูกกดดันหนัก จากราคาพลังงานที่พุ่งสูงมาก และความยากในการหาแหล่งพลังงานอื่นมาทดแทนพลังงานจากรัสเซีย ล่าสุด ส่งผลให้เยอรมนีขาดดุลการค้า เทียบกับวิกฤตครั้งก่อนที่ยังเกินดุลการค้า
- ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนที่แคบลง
สำหรับประเทศอื่นๆ ในยุโรป อาทิ อิตาลี ยังคงให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าเยอรมนีเพื่อกู้เงินจากตลาดบอนด์ แต่ในขณะนี้จะเห็นว่าช่องว่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีของอิตาลีและเยอรมนีแคบลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2012
- ความแข็งแกร่งของผู้บริโภค
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ในระดับย่ำแย่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบสุขภาพทางการเงินของผู้บริโภคกับช่วงที่เศรษฐกิจย่ำแย่ในอดีต ดูเหมือนว่าปัจจุบันจะยังอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายๆ ครั้ง อย่างช่วงปี 2006-2007 ความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ของผู้บริโภคพุ่งขึ้นสูงมาก จนกระทั่งนำไปสู่วิกฤตการเงิน และความเสี่ยงเหล่านี้ก็ยังพุ่งสูงแม้ว่าจะผ่านช่วงที่ย่ำแย่ที่สุดไปแล้วในปี 2008 แต่ปัจจุบันเรายังไม่เห็นความเสี่ยงด้านนี้เท่าใดนัก
- ราคาบ้าน
ราคาบ้านในสหรัฐฯ เริ่มดิ่งลงตั้งแต่ปี 2006 ก่อนที่วิกฤตจะเกิดขึ้นจริงในอดีต ขณะที่ปัจจุบันราคาบ้านเริ่มอ่อนตัวลงบ้างแล้ว แต่เมื่อดูภาพรวมแล้วจะเห็นว่าราคาบ้านยังไม่ได้เริ่มเข้าสู่ขาลงแต่อย่างใด
- การผลิตภาคอุตสาหกรรมและค่าแรง
การผลิตภาคอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ เริ่มดิ่งลงอย่างหนักตั้งแต่ต้นปี 2008 แต่ในปีนี้ตัวเลขการผลิตยังคงพุ่งทำจุดสูงสุดใหม่ ขณะที่ค่าแรงของแรงงานรายได้น้อยในสหรัฐฯ ยังคงได้ค่าจ้างสูงขึ้นมากกว่าแรงงานรายได้สูงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับช่วงวิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 ซึ่งแรงงานรายได้น้อยถูกกระทบไม่ต่างจากแรงงานรายได้สูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย อาจอยู่ใกล้กว่าที่คิด เปิดกลยุทธ์รับมือเน้น Predict-Prepare-Perform
- ควรเตรียมรับมือ ‘เศรษฐกิจโลกถดถอย’ แต่ ‘จีน’ อาจเป็นม้ามืด
- ธนาคารกลางในประเทศเศรษฐกิจสำคัญส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องสยบเงินเฟ้อตามรอย Fed
อ้างอิง: