×

ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยหดตัว 5% ปีนี้ จากผลกระทบโควิด-19 ชี้รัฐบาลยังมีพื้นที่ในการออกมาตรการเยียวยา

30.06.2020
  • LOADING...

ธนาคารโลก (World Bank) เผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายน 2020 โดยระบุว่า การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยเฉพาะประเทศไทยที่เปิดกว้างทางการค้าและเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว พร้อมคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (​GDP) จะหดตัว 5% ในปีนี้ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่หดตัวมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก

 

รายงานระบุว่า อุปสงค์โลกที่อ่อนตัวลงนำไปสู่การหดตัวของการค้าโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าโลก เช่น รถยนต์ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตที่โดดเด่นของโลก

 

ส่วนภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 15% ของ GDP ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง สืบเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020

 

อุปสงค์ที่อ่อนแอและราคาพลังงานที่ลดลงยังส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การระบาดของโรคยังทำให้เกิดการว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากมาตรการควบคุมการติดเชื้อและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Disstancing)

 

ผลกระทบต่อสวัสดิการของครัวเรือนก็รุนแรงเช่นกัน โดยคาดว่าครัวเรือนที่มีความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยรายได้เฉลี่ยต่อวันต่ำกว่า 5.5 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 169 บาท) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จาก 4.7 ล้านคนในไตรมาสที่ 1 ของปี 2020 เป็นประมาณ 9.7 ล้านคนในไตรมาสที่ 2 ก่อนจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ และลดจำนวนลงเป็น 7.8 ล้านคนในไตรมาสที่ 3

 

ส่วนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจนั้น ธนาคารโลกมองว่ายังต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน และมีความไม่แน่นอนในการขับเคลื่อนอุปสงค์ภายในประเทศ โดยที่การบริโภคอาจเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลไทยเริ่มผ่อนปรนข้อบังคับด้านการเดินทาง หรือการเคลื่อนย้ายคน แต่ยังคงจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ขณะที่ผลกระทบด้านการค้าและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

 

ธนาคารโลกคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2021 โดยขยายตัวที่อัตรา 4.1% และ 3.6% ในปี 2022 อย่างไรก็ตาม การจะกลับมาฟื้นตัวในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้นั้นต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปี โดยต้องอาศัยมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนครัวเรือนและผู้ประกอบการที่เปราะบางอย่างมีประสิทธิภาพ

 

สำหรับมาตรการเยียวยาของภาครัฐที่ผ่านมานั้น เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ประจำประเทศไทย กลุ่มธนาคารโลก ระบุว่า เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน เพราะต้องรอติดตามข้อมูลอีกระยะ โดยระหว่างนี้สำนักสถิติกำลังตามเก็บรวบรวมข้อมูลอยู่ 

 

แต่ธนาคารโลกมองว่ามาตรการเยียวยาครัวเรือนและเอกชนที่มีขนาด 13% ของ GDP ถือว่าทำได้เร็ว แต่อาจยังไม่ครอบคลุมบางภาคส่วน เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ เด็ก และแรงงานต่างด้าว

 

องค์ประกอบที่สำคัญของโครงการเหล่านี้ ได้แก่ การให้เงินช่วยเหลือครัวเรือนและโครงการโครงสร้างพื้นฐานสาหรับเศรษฐกิจชุมชน (5.9% ของ GDP) ซึ่งส่วนหนึ่งใช้เงินทุนจากการกู้ยืม นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตั้งมาตรการกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้เพื่อรักษาสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (2.4% ของ GDP) และสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (2.9% ของ GDP) อีกทั้งยังมีมาตรการลดภาษีและการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการและครัวเรือนอีกด้วย

 

ความท้าทายของมาตรการช่วยเหลือคือการเชื่อมโยงระหว่างการลงทะเบียนของผู้มีสิทธิ์ได้รับประโยชน์และการสร้างระบบลงทะเบียนทางสังคมอย่างบูรณาการที่จะช่วยให้มีข้อมูลที่ทันสมัยและสามารถมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนเปราะบางได้ อีกทั้งยังช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างทันท่วงที

 

เกียรติพงศ์กล่าวว่า ไทยยังเหลือพื้นที่ทางการคลังเพียงพอในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยที่นโยบายเยียวยา 5 พันบาทแก่ครัวเรือนยังสามารถใช้ได้ต่อ เนื่องจากยังมีงบประมาณเหลือ แต่ในระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจำเป็นต้องขยายฐานภาษีเพื่อเพิ่มรายได้และแก้ปัญหาหนี้สาธารณะ

 

ส่วนภาคการเงิน ธนาคารโลกแนะนำว่า ไทยควรดำเนินมาตรการอย่างรวดเร็วภายในเวลาจำกัด เพื่อช่วยเหลือบริษัทที่มีปัญหาสภาพคล่อง ส่วนการเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการในอนาคตข้างหน้าต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับแต่ละภาคส่วน โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 ในขณะเดียวกัน ต้องแน่ใจว่าครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่มีความเปราะบาง

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • ธนาคารโลก
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X