×

The Whirlwind ซีรีส์ดราม่าการเมืองรสเข้ม…แต่ไม่คม

04.07.2024
  • LOADING...
The Whirlwind

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • The Whirlwind คือซีรีส์ดราม่าเรื่องใหม่ของ Netflix ที่ครบสูตรความสำเร็จทั้งการหยิบยกประเด็นการเมืองเรื่องแซ่บขึ้นมาพูดถึง ผ่านฝีมือการแสดงชั้นครูของซอลคยองกูที่ประเดิมผลงานทางหน้าจอทีวีเป็นเรื่องแรก และคิมฮีแอ ดาราสาวเจ้าบทบาทที่เพิ่งผ่านซีรีส์ดราม่าการเมืองเรื่อง Queenmaker มาหมาดๆ อีกทั้งยังเป็นผลงานชิ้นแรกในรอบ 7 ปีของนักเขียนชื่อดัง พัคคยองซู (Whisper ปี 2017, Empire of Gold ปี 2013) หากดูจากรายชื่อทีมงานก็น่าจะสร้างผลงานชิ้นโบแดงได้ไม่ยาก แต่ The Whirlwind ก็ไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะติดอยู่ในกับดักความเคร่งเครียด เอาจริงเอาจัง และบางครั้งก็ไม่สมเหตุสมผล 
  • ความน่าสนใจของ The Whirlwind คือการสะท้อนภาพความฉ้อฉลในแวดวงการเมืองเอาไว้ด้วยการตั้งคำถามสุดคลาสสิกว่า ‘อะไรคือสิ่งที่กำหนดเส้นแบ่งระหว่างความดีและความชั่ว’ เพราะตัวละครต่างมีมลทินด่างพร้อยไม่ต่างกัน ทั้งอดีตประธานาธิบดีจางอิลจุน บิดาแห่งประชาธิปไตยเกาหลีใต้ยุคใหม่ ก็ต้องมาตกม้าตายเพราะลูกชายตัวเองไปพัวพันเรื่องรับสินบน ในขณะที่จองซูจินที่เคยถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่พอเข้าสู่อำนาจกลับหักหลังอุดมการณ์ตัวเองแล้วมาหาประโยชน์ใส่ตัว หรือแม้แต่พัคดงโฮผู้ขึ้นสู่อำนาจด้วยการพยายามฆ่าประธานาธิบดี และแม้จะทำทุกอย่างในนามของความดี แต่สุดท้ายเขาก็ใช้วิธีแทบไม่ต่างจากสองคนที่เขาอยากกำจัดเลย
  • สำหรับตัวละครพัคดงโฮ ถึงจะถูกดีไซน์ให้มีส่วนผสมดาร์กๆ อยู่บ้าง แต่ก็ให้ค่าจนเหมือนเป็นเปาบุ้นจิ้นภาคซูเปอร์ฮีโร่ คือมองการเมืองเหมือนคณิตศาสตร์ ยินดีทำลายล้างทุกอย่างในนามของความดี จนภาพลักษณ์ดูเหลื่อมล้ำศีลธรรมแบบไม่สะทกสะท้าน ในมุมหนึ่งก็ดูเข้มแข็งดี ขณะเดียวกันผู้ชมเลยไม่รู้สึกกดดันไปกับตัวละครจนขาดอารมณ์ร่วม ซึ่งน่าจะดีกว่าถ้าใส่ความเป็นมนุษย์เข้ามาอีกสักหน่อย ในทางกลับกัน ตัวละครจองซูจินของคิมฮีแอกลับนำเสนอความเป็นมนุษย์ออกมาได้ดีกว่า ทั้งในแง่ความโหดร้าย ความทะเยอทะยาน และดูน่าสงสารในบางครั้ง

The Whirlwind คือซีรีส์ดราม่าเรื่องใหม่ของ Netflix ที่ครบสูตรความสำเร็จทั้งการหยิบยกประเด็นการเมืองเรื่องแซ่บขึ้นมาพูดถึงผ่านฝีมือการแสดงชั้นครูของ ซอลคยองกู ที่ประเดิมผลงานทางหน้าจอทีวีเป็นเรื่องแรก และ คิมฮีแอ ดาราสาวเจ้าบทบาทที่เพิ่งผ่านซีรีส์ดราม่าการเมืองเรื่อง Queenmaker มาหมาดๆ อีกทั้งยังเป็นผลงานชิ้นแรกในรอบ 7 ปีของนักเขียนชื่อดัง พัคคยองซู (Whisper ปี 2017, Empire of Gold ปี 2013) หากดูจากรายชื่อทีมงานก็น่าจะสร้างผลงานชิ้นโบแดงได้ไม่ยาก แต่ The Whirlwind ก็ไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะติดอยู่ในกับดักความเคร่งเครียด เอาจริงเอาจัง และบางครั้งก็ไม่สมเหตุสมผล 

 

 

จางอิลจุน (คิมฮงฟา) ได้ชื่อว่าเป็นรัฐบุรุษในสายตาชาวเกาหลีจากการต่อสู้กับเผด็จการ จนกระทั่งเมื่อเขาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี เขาและลูกชายกลับได้รับผลประโยชน์จากบริษัทกลุ่มแชโบล ‘แดจินกรุ๊ป’ เมื่อเรื่องเริ่มแดงขึ้น นายกรัฐมนตรี พัคดงโฮ (ซอลคยองกู) นักการเมืองตงฉิน กลับตกเป็นจำเลยรับเคราะห์แทน ทำให้เขาตัดสินใจวางยาพิษประธานาธิบดีเพื่อเปิดโปงการทุจริต และกำจัดความเสื่อมเสียในทำเนียบประธานาธิบดีให้หมดไป รวมทั้งสานฝันให้กับสมาชิกสภานิติบัญญัติ ซอกีแท เพื่อนของเขาผู้ต้องสังเวยชีวิตให้กับความฉ้อฉลของรัฐบาล 

 

พัคดงโฮได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรักษาการประธานาธิบดี จึงได้รับการยกเว้นให้ไม่ถูกดำเนินคดีฉ้อโกง พร้อมเสียงก่นด่าจากทั่วทุกสารทิศ ขณะเดียวกันก็ถูกต่อต้านโดยรองนายกรัฐมนตรี จองซูจิน (คิมฮีแอ) อดีตนักเคลื่อนไหวผู้เปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์และเป็นนักการเมืองภาพลักษณ์ดี แต่เบื้องลึกเธอมีความทะเยอทะยานทางการเมือง และเป็นส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชันร่วมกับประธานาธิบดีคนก่อน เธอจึงทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการขึ้นสู่อำนาจของพัคดงโฮ เพราะนั่นหมายถึงจุดจบในชีวิตทางการเมืองของเธอ จนกลายเป็นมหากาพย์การจองล้างจองผลาญ เผยให้เห็นความเสื่อมทรามของคนที่ประชาชนคิดว่าเป็นผู้นำ

 

The Whirlwind

 

ความน่าสนใจของ The Whirlwindคือการสะท้อนภาพความฉ้อฉลในแวดวงการเมืองเอาไว้ด้วยการตั้งคำถามสุดคลาสสิกว่า ‘อะไรคือสิ่งที่กำหนดเส้นแบ่งระหว่างความดีและความชั่ว’ เพราะตัวละครต่างมีมลทินด่างพร้อยไม่ต่างกัน ทั้งอดีตประธานาธิบดีจางอิลจุน บิดาแห่งประชาธิปไตยเกาหลีใต้ยุคใหม่ ก็ต้องมาตกม้าตายเพราะลูกชายตัวเองไปพัวพันเรื่องรับสินบน ในขณะที่จองซูจินที่เคยถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่พอเข้าสู่อำนาจกลับหักหลังอุดมการณ์ตัวเองแล้วมาหาประโยชน์ใส่ตัว หรือแม้แต่พัคดงโฮผู้ขึ้นสู่อำนาจด้วยการพยายามฆ่าประธานาธิบดี และแม้จะทำทุกอย่างในนามของความดี แต่สุดท้ายเขาก็ใช้วิธีแทบไม่ต่างจากสองคนที่เขาอยากกำจัดเลย

 

แต่ละฉากแต่ละตอนที่ดำเนินไปเน้นการใช้เล่ห์เหลี่ยม ไหวพริบ วางหมากกลสารพัดรูปแบบที่เราก็เคยได้เห็นบนหน้าฉากการเมืองทั่วโลก และหลายฉากก็ดันคล้ายกับสถานการณ์ในบ้านเรา ทั้งลัทธิบูชาบุคคลจนแตะต้องไม่ได้ การเอื้อประโยชน์นายทุนใหญ่ นักโทษที่ได้รับอภิสิทธิ์ออกจากเรือนจำมาอยู่ในโรงพยาบาล ผู้ทรงอิทธิพลนอกวงการการเมืองที่สามารถเลือกรัฐมนตรีได้ หรือแม้กระทั่งความจริงที่ว่าการเมืองทำให้น้ำกับน้ำมันผสมเป็นเนื้อเดียวกันได้ อย่างกรณีของจองซูจินที่เคยถูก โจซังชอน นักการเมืองฝั่งอนุรักษนิยมซ้อมทรมานเพราะอุดมการณ์แตกต่าง ก็ยังยอมจับมือกันได้เมื่อมีศัตรูคนเดียวกัน เอ…คุ้นๆ นะ?

 

นอกจากนี้ยังมีสารพัดกลยุทธ์ที่นำมาพลิกสถานการณ์ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นจริงในแวดวงการเมืองทั่วโลก ทั้งการใช้พลังมวลชนกดดันและบิดเบือนความถูกต้อง การโหนกระแสคนตายเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง รวมทั้งรายละเอียดบางอย่างที่แฝงนัยผู้แพ้-ผู้ชนะ ที่ชอบมากๆ คือฉากที่จองซูจินเดินนำพัคดงโฮออกจากพิธีศพ และปิดฉากด้วยฝูงชนที่อยู่หลังจองซูจิน อาจดูเป็นฉากที่เรียบง่ายแต่แฝงนัยเชิงอำนาจได้ดีทีเดียว 

 

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อดีอยู่หลายอย่าง แต่ The Whirlwindคือสารหนักๆ จนเหมือนยาขมสำหรับคนดู โดยเฉพาะใน 3 ตอนแรก ซึ่งเน้นการปูพื้นฐานตัวละครหลากหลายจนแทบจะถอดใจไม่ดูต่อ รวมทั้งกลยุทธ์ที่เอามาใช้ชิงความได้เปรียบก็ดูเป็นซีรีส์ย้อนยุคไปหน่อย จนความเข้มข้นมาเริ่มต้นในตอนที่ 4 ซึ่งคู่ปรับในเรื่องต้องมาเผชิญหน้ากัน ถึงอย่างนั้น หลายๆ ครั้งก็มีองค์ประกอบบางอย่างที่เกิดขึ้นเหมือนเรื่องอภินิหารจนดูไม่น่าเชื่อเลยก็มี

 

ด้วยการที่ซีรีส์เรื่องนี้โฟกัสที่การห้ำหั่นกันของสองนักการเมือง องค์ประกอบรอบข้างรวมทั้งการปูเรื่องราวชีวิตในด้านอื่นของตัวละครจึงแทบไม่มีให้เห็น และย้ำอยู่ประเด็นเดียวคือเรื่องการเอาผิดบริษัทแชโบล จนอดสงสัยไม่ได้ว่าประชาชนอยู่ตรงไหนของสมการการเมือง

 

The Whirlwind

 

สำหรับตัวละครพัคดงโฮ ถึงจะถูกดีไซน์ให้มีส่วนผสมดาร์กๆ อยู่บ้าง แต่ก็ให้ค่าจนเหมือนเป็นเปาบุ้นจิ้นภาคซูเปอร์ฮีโร่ คือมองการเมืองเหมือนคณิตศาสตร์ ยินดีทำลายล้างทุกอย่างในนามของความดี จนภาพลักษณ์ดูเหลื่อมล้ำศีลธรรมแบบไม่สะทกสะท้าน ในมุมหนึ่งก็ดูเข้มแข็งดี ขณะเดียวกันผู้ชมเลยไม่รู้สึกกดดันไปกับตัวละครจนขาดอารมณ์ร่วม ซึ่งน่าจะดีกว่าถ้าใส่ความเป็นมนุษย์เข้ามาอีกสักหน่อย ในทางกลับกัน ตัวละครจองซูจินของคิมฮีแอกลับนำเสนอความเป็นมนุษย์ออกมาได้ดีกว่า ทั้งในแง่ความโหดร้าย ความทะเยอทะยาน และดูน่าสงสารในบางครั้ง

อีกส่วนคือการยัดบทสนทนาแฝงปรัชญาและประวัติศาสตร์การเมือง รวมถึงข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลเข้ามามากมาย ในทางหนึ่งก็คงเป็นความตั้งใจให้ The Whirlwindเข้มข้น เอาจริงเอาจัง แต่ขณะเดียวกันก็ขาดความเป็นธรรมชาติจนดูแห้งแล้งไปหน่อย 12 อีพีที่กินเวลา 12 ชั่วโมง จึงมีหลายห้วงที่ค่อนข้างน่าเบื่อ ซึ่งแม้จะลดความจริงจังหรือเพิ่มอารมณ์ขันเข้าไปบ้าง สารที่ได้ก็ยังเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความสนุกมากกว่านี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising