×

ปลาป่วยหรือโลกเปลี่ยน? หลังนักวิจัยถ่ายภาพปลาตกเบ็ด (Anglerfish) ตัวเป็นๆ กลางแสงแดดใกล้ผิวน้ำ จนภาพกลายเป็นไวรัล

โดย Mr.Vop
21.02.2025
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา ลาอิอา วาลอร์ นักวิจัยจากองค์กร NGO Condrik – Tenerife สังเกตเห็นสิ่งผิดปกติขณะที่กำลังนำเรือเดินทางกลับเข้าฝั่งเกาะเตเนริเฟในหมู่เกาะคานารีของสเปนหลังภารกิจสำรวจฉลาม เมื่อเขาพิจารณาให้ชัดเจนจึงพบว่าสิ่งที่เห็นนั้นคือปลาตกเบ็ด (Anglerfish) หรือที่เรียกว่าปลาปีศาจทะเลดำ (Melanocetus johnsonii) ตัวเป็นๆ กำลังว่ายน้ำอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อ เพราะปลาชนิดนี้จะพบได้ที่ความลึกนับพันเมตรเท่านั้น

 

ทีมงานทั้งหมดให้ความสนใจกับสิ่งนี้ทันที เพราะนี่ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ได้พบปลาน้ำลึกที่ยังมีชีวิตแหวกว่ายในน้ำตื้นริมชายฝั่งกลางแสงแดด 

 

เดวิด จารา โบกูนญา ช่างภาพรีบนำกล้องลงไปถ่ายภาพใต้น้ำทันที ทีมงานใช้เวลากับปลาตัวเมียที่มีขนาดยาวเพียง 6 เซนติเมตรตัวนี้อยู่ไม่ถึง 2 ชั่วโมงมันก็เสียชีวิต ทีมงานจึงได้นำซากปลาตกเบ็ดที่พบนี้ไปเข้าห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุต่อไปว่าทำไมถึงได้เกิดเรื่องแปลกนี้ขึ้นมาได้

 

 

ปลาป่วยหรือโลกเปลี่ยน

 

ปลาตกเบ็ด (Anglerfish) เป็นสัตว์ทะเลน้ำลึกที่พบเห็นได้ยาก แยกออกเป็นหลายสายพันธุ์ มีลักษณะเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไปจะมีเฉพาะปลาตัวเมียเท่านั้นที่มีสายล่อเหยื่อเรืองแสงบนหน้าผาก แสงนี้เกิดจากแบคทีเรียบางชนิดในน้ำลึกที่คอยดึงดูดให้เหยื่อของมันว่ายเข้ามาใกล้หรือว่ายเข้าไปในปากของมันซึ่งมีฟันยาวแหลมงอกย้อนกลับเข้าด้านใน ป้องกันไม่ให้เหยื่อที่เข้าไปในปากหนีรอดออกมาได้ ปลาตัวผู้นั้นแตกต่างออกไป พวกมันจะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียมาก โดยมีความยาวไม่ถึง 3 เซนติเมตร ขณะที่ตัวเมียจะใหญ่กว่ามัน 2 เท่าขึ้นไป และบางสายพันธุ์อาจยาวได้ถึง 18 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มวัยปลาตัวผู้จะไม่หาอาหาร แต่จะใช้ชีวิตเพื่อหาปลาตัวเมียเท่านั้น เมื่อพบแล้วบางสายพันธุ์จะรวมร่างเข้ากับปลาตัวเมีย เหลือเพียงอัณฑะห้อยอยู่ภายนอก เคยมีรายงานพบปลาตัวเมียที่มีอัณฑะของตัวผู้ห้อยอยู่ตามร่างกายหลายชุด

 

การขึ้นมาใกล้ผิวน้ำของปลาตกเบ็ดนี้ก่อให้เกิดคำถามมากมายถึงสาเหตุที่แท้จริง

 

ดร.เอเลนา มาร์ติเนซ นักชีววิทยาทางทะเลจาก Condrik – Tenerife แสดงความเห็นว่า การพบเห็นปลาปีศาจทะเลดำใกล้ผิวน้ำอาจมาจากความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางทะเล

 

 

“หนึ่งในทฤษฎีที่เป็นไปได้คือการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิน้ำทะเลอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตในน้ำลึกถูกรบกวน พวกมันจึงต้องหนีไปยังที่ที่ไม่คุ้นเคย อีกหนึ่งสาเหตุที่เป็นไปได้ก็คือมลพิษและความเครียดทางสิ่งแวดล้อม ในสภาพแวดล้อมน้ำลึกกำลังบังคับให้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ขึ้นมาบนผิวน้ำ”

 

ดร.มาร์ติเนซ เตือนว่า “การปรากฏตัวของปลาน้ำลึกอย่างปลาปีศาจทะเลดำใกล้ผิวน้ำอาจเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของเราทุกคนในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและปกป้องมหาสมุทรของเราจากมลพิษ”

 

แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับทฤษฎีนี้ เพราะหากเป็นเหตุจากสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เราน่าจะพบปลาน้ำลึกมากกว่า 1 ตัว และมากกว่า 1 สายพันธุ์ปรากฏตัวในน้ำตื้น การที่เราพบปลาน้ำลึกเพียงตัวเดียวตามเหตุการณ์ที่เกิดนี้ อาจบ่งบอกถึงว่ามันอาจเป็นปลาที่มีความผิดปกติของถุงลม (Swim Bladder Malfunction) หรือเจ็บป่วยด้วยสาเหตุอื่น เป็นอาการเฉพาะตัวจนอยู่ในที่อยู่เดิมไม่ได้ แต่ก็มีข้อสังเกตว่าจำนวนประชากรของปลาชนิดนี้ไม่มีการยืนยันที่แน่ชัด หากจำนวนประชากรเบาบางมาก ความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ เช่น อุณหภูมิ ความดันน้ำ หรือปริมาณออกซิเจนในน้ำลึก ก็อาจส่งผลต่อพวกมันจริง แต่เนื่องจากมีประชากรน้อย จึงลอยขึ้นมาให้พบเห็นเพียงตัวเดียวก็เป็นได้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising