ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐฯ ปิดตลาดในแดนลบเมื่อจันทร์ที่ผ่านมา (5 สิงหาคม) ส่งผลให้ 3 ดัชนีสำคัญปรับตัวร่วงลงอย่างต่อเนื่อง และร่วงลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2022
สาเหตุหลักใหญ่สืบเนื่องมาจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ หลังมีรายงานตัวเลขอ่อนแอเกินคาดในตลาดแรงงานและภาคการผลิต
โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐฯ ที่เปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (5 สิงหาคม) ปรับตัวลงสู่ระดับ 55.0 ในเดือนกรกฎาคม จากระดับ 55.3 ในเดือนมิถุนายน
ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 114,000 ตำแหน่งในเดือนกรกฎาคม ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 177,000 ตำแหน่ง และชะลอตัวจากระดับ 179,000 ตำแหน่งในเดือนมิถุนายน ขณะที่อัตราว่างงานพุ่งสูงสุดในรอบเกือบ 3 ซ้ำเติมตัวเลขเศรษฐกิจที่ซบเซาของสหรัฐฯ หลังการเปิดเผยภาคการผลิตที่อ่อนแอ และจำนวนผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่สูงกว่าคาด
รายงานระบุว่า นักลงทุนกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังสูญเสียโมเมนตัมการเติบโตอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่คาดไว้ และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ตัดสินใจผิดพลาดในการรักษาอัตราดอกเบี้ยให้คงที่ในการประชุมนโยบายครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมองว่าความอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ยช้าเกินไป
ทั้งนี้ ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความกลัวของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสู่ระดับ 65 เมื่อวันจันทร์ (5 สิงหาคม) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2022 หลังจากอยู่ที่ระดับ 23 เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (2 สิงหาคม) ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ดิ่งลง 1,033.99 จุดหรือ 2.6% ปิดที่ 38,703.27 จุด
ส่วนดัชนี S&P 500 ร่วง 160.23 จุดหรือ 3.00% มาอยู่ที่ 5,186.33 จุด และดัชนี NASDAQ Composite ลดลง 576.08 จุด หรือ 3.43% ปิดที่ 16,200.08 จุด
รายงานระบุว่า บรรดานักลงทุนเริ่มเพิ่มน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมที่เหลือในปีนี้ ตั้งแต่ที่มีการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานที่อ่อนแอเมื่อวันศุกร์ (2 สิงหาคม) โดยคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% จำนวน 2 ครั้ง และ 0.25% จำนวน 1 ครั้ง รวมเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1.25% ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed แตะระดับ 4.00-4.25% ในช่วงสิ้นปี 2024 จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5.25-5.50%
โดย FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.5% ที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือนกันยายน
Austan Goolsbee ประธาน Fed สาขาชิคาโก ยอมรับว่า Fed ควรมีมาตรการตอบรับต่อสัญญาณที่บ่งชี้ถึงความอ่อนแอในเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ยไม่ควรที่จะเข้มงวดเกินไปในขณะนี้ พร้อมทั้งย้ำว่า หน้าที่หลักของ Fed ในขณะนี้ก็คือ การทำให้การจ้างงานอยู่ในระดับสูงสุด รวมทั้งรักษาเสถียรภาพของราคาและระบบการเงิน ดังนั้น ถ้าสถานการณ์โดยรวมเริ่มส่งสัญญาณแย่ Fed ก็ไม่ลังเลที่จะทำการแก้ไข พร้อมยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลที่ Fed จะยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด หากว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังอยู่ในภาวะถดถอย
ขณะเดียวกัน รายงานระบุว่า การปรับตัวลดลงอย่างหนักของตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวันจันทร์ (5 สิงหาคม) นอกจากเป็นผลจากการความกังวลเรื่องเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอยแล้ว ยังเป็นผลจากการที่นักลงทุนแห่เทขายหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี นำโดย Apple ที่ร่วงหนักถึง 4.8% หลัง Berkshire Hathaway ของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ประกาศขายหุ้นของ Apple ครึ่งหนึ่งที่บริษัทถือครองอยู่ บวกกับรายงานผลประกอบการของบริษัทที่น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
โดยหุ้นของ Tesla, Alphabet และ Amazon ต่างร่วงลงมากกว่า 4% ส่วนหุ้นของ NVIDIA ร่วงลง 7% ด้าน Microsoft และ Meta Platforms ลดลง 3%
หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลดลงจากการเทขายของบรรดานักลงทุนที่กังวลว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้นในสหรัฐฯ จะกระทบการใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีพุ่งขึ้นอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ข้อมูลจาก LSEG ประเมินว่า หุ้น 7 นางฟ้า (Magnificent 7) กำลังจะสูญเสียมูลค่าตลาดหุ้นประมาณ 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงเซสชันนี้
ทั้งนี้ การเทขายอย่างหนักต่อเนื่องติดต่อกันเป็นวันที่สาม เป็นผลจากรายงานตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สะท้อนความอ่อนแอของสหรัฐฯ ซึ่งผลักดันให้นักลงทุนทั่วโลกแห่เทขายหุ้นและหันเข้าหาสินทรัพย์ที่ปลอดภัย รวมถึงเพิ่มน้ำหนักที่ Fed จะดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเทขายอย่างหนักในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา แต่เมื่อพิจารณาจากต้นปีพบว่า หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยียังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยหุ้นของ NVIDIA มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าในปีนี้ ขณะที่ Microsoft และ Amazon ยังคงเพิ่มขึ้น 5% และ Apple เพิ่มขึ้น 7%
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งชี้ว่า การลดลงของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีเมื่อวันจันทร์ (5 สิงหาคม) อาจถือเป็นโอกาสเข้าซื้อหุ้น Big Tech ในราคาที่น่าสนใจ โดยชี้ให้เห็นถึงผลตอบแทนระยะยาวที่สามารถคาดหวังได้จากการลงทุนด้าน AI รวมถึงตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทเหล่านี้
อ้างอิง: